The Prachakorn

นอนน้อย...แต่นอนนะ: พฤติกรรมเสี่ยงสู่ภาวะสมองเสื่อมของเด็ก Gen Z


พิมลพรรณ นิตย์นรา

14 มีนาคม 2565
977



เด็กเจนซี (generation Z) เป็นกลุ่มประชากรต่อจากเจเนอเรชัน Y ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2538-2553 หรือ ปัจจุบันเป็นผู้มีอายุ 12-27 ปี1 เด็กเจนซีเป็นเด็กรุ่นแรกที่เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลจาก social media ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Twitter, Instagram, Tiktok ซึ่งเป็นสังคมเสมือนที่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ และรู้จักคนมากมายโดยไม่ต้องพบปะกันส่วนตัว2 นอกจากนี้การเปิดกว้างของข่าวสาร สื่อบันเทิงที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้เด็กเจนซีมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนรู้ ท่องความบันเทิง เสพข่าวสารที่ตนเองสนใจ ประกอบกับแรงกดดันจากการใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริง ทั้งการทำงานแข่งกับเวลา การค้นหาเป้าหมายและความมั่นคงให้กับชีวิต ทำให้เด็กรุ่นนี้อาจละเลยการพักผ่อนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย

“โครงการความคาดหวัง การวางแผน และ การเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” เป็นการศึกษาประชากรอายุ 18-59 ปี จำนวน 1,734 คน ซึ่งครอบคลุมประชากร 3 เจเนอเรชันทั้ง X Y และ Z การศึกษาเป็นการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามออนไลน์จำนวนไม่ต่ำกว่า 400 คนในแต่ละเจนเนอเรชัน การเก็บข้อมูลประกอบด้วยข้อคำถาม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ การเงิน และการมีส่วนร่วมทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายกลุ่มอีกด้วย 

บทความนี้ขอนำเสนอเฉพาะพฤติกรรมด้านสุขภาพบางส่วนเท่านั้น การศึกษาพบว่า เด็กเจนซีอายุ 18-26 ปี จำนวน 568 คน ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 57.6) คิดว่าตนเองมีสุขภาพอยู่ในระดับดี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินสุขภาพตนเองของเจเนอเรชัน X (ร้อยละ 70.6) และ Y (ร้อยละ 68.4) ทำให้เห็นว่าการประเมินสุขภาพตนเองของกลุ่มคนที่อายุมากกว่าคิดว่าตนเองมีสุขภาพที่ดีกว่ากลุ่มคนที่อายุน้อย แม้ว่าสภาพร่างกายจะถดถอยลงก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจในการดูแลสุขภาพและศักยภาพของตนเองในคนกลุ่มดังกล่าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเด็กเจนซีคิดว่าตนเองมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก 

“นอนน้อย...แต่นอนนะ” เป็นวลีที่พบได้บ่อยครั้งในสังคมโลกออนไลน์ สะท้อนถึงการมีไลฟ์สไตล์ (life style) ที่ค่อนข้างสุดโต่ง ความทุ่มเทให้กับเป้าหมายของบุคคลนั้น ทั้งการใช้เวลาไปกับการเรียน การทำงาน เล่นเกม หรือการตามข่าวสาร ความบันเทิงต่าง ๆ จนลืมช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไป เมื่อรู้ตัวอีกครั้ง เวลาอาจจะล่วงเลยไปหลายชั่วโมงหรือข้ามวันไปเสียแล้ว ไลฟ์สไตล์เช่นนี้ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลง หากพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นจนติดเป็นนิสัย ส่งผลให้เกิดเป็นแบบแผนของการดำเนินชีวิตประจำวันเมื่อมีอายุมากขึ้นได้ 

การพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นผลเสียต่อสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยกลางคน และอาจเป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคต3,4  ปัจจุบันภาวะสมองเสื่อมในผู้ที่อายุน้อยสามารถพบได้ในกลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 30-65 ปี และมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 6.9 ของจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด5  แม้ว่าสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมในผู้มีอายุน้อยยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่การมีภาวะสมองเสื่อมจะทำให้ความสามารถในการคิด ให้เหตุผล สื่อสารและจดจำของบุคคลลดลงเรื่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพและพฤติกรรม อาการเบื้องต้นของภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มคนอายุน้อยมักถูกวินิจฉัยได้ล่าช้าโดยเฉลี่ย 4 ปี เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับภาวะซึมเศร้า มีความเครียด หรือมีปัญหาด้านสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ ไม่ใช่การสูญเสียความทรงจำที่สังเกตได้อย่างชัดเจนเหมือนผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม6 

การศึกษาจากโครงการนี้พบว่า เกือบสามในสี่ (ร้อยละ 69.7) ของเด็กเจนซีสะท้อนว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในสาเหตุต้น ๆ ที่คิดว่าจะส่งผลต่อสุขภาพต่อตนเองเมื่ออายุมากขึ้น เป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเจน X (ร้อยละ 46.4) และ Y (ร้อยละ 59.9) และจากการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการอภิปรายกลุ่มพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่เด็กเจนซีไม่ค่อยได้พักผ่อน ได้แก่ การเล่นเกม ดูซีรีย์ พบปะสังสรรค์กับเพื่อน และ บางส่วนต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เพิ่มเติม แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นไลฟ์สไตล์หรือความจำเป็น แต่การพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่ควรตระหนัก เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาวะสมองเสื่อมซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน แต่เป็นเหมือนภัยเงียบที่หากไม่ทันสังเกตหรือป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะกลายเป็นการสะสมและยากต่อการรักษาในอนาคต

การคาดประมาณผู้ป่วยสมองเสื่อมพบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 2.1 ในปี 2583 ของประชากรทั้งหมด7 แต่ตัวเลขนี้อาจลดลงได้หากมีการดูแลสุขภาพและการป้องกันความเสี่ยงที่ดี หนึ่งในการป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามปัจจุบันโลกมีวิวัฒนาการผลิตอาหารเสริมหรือวิตามินต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง แต่สิ่งเหล่านี้มีประสิทธิภาพไม่เท่ากับการอนุญาตให้ร่างกายได้พักผ่อนตามธรรมชาติ แม้ภาวะสมองเสื่อมจะเริ่มพบในคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือวัยกลางคน แต่อีกไม่นานเด็กเจนซีก็ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ร่างกายจะต้องพบเจอความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นการที่จะมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ในอนาคตจึงเสมือนเส้นทางที่เลือกได้ เนื่องจากพวกเขายังมีเวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เตรียมตัว และดูแลสุขภาพ รวมถึงค้นหาข้อมูลและวิธีการป้องกันต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อชะลอหรือยับยั้งการเกิดโรคได้มากกว่าคนที่มีอายุมาก 


อ้างอิง

  1. Francis, T., & Hoefel, F. (2018). ‘True Gen’: Generation Z and its implications for companies. Retrieved from https://www.mckinsey.com/industries/consumer-packaged-goods/our-insights/true-gen-generation-z-and-its-implications-for-companies#
  2. Kahawandala, N., Peter, S., & Niwunhella, H. (2020). Profiling purchasing behavior of Generation Z.
  3. วงการแพทย์. (ม.ป.ป.). นอนไม่เต็มอิ่มอาจเป็นโรคสมองเสื่อม. เข้าถึงจาก http://www.wongkarnpat.com/viewya.php?id=1108%23.XsEoTGgzZPY
  4. Andrew E. Budson. (2021). Sleep well — and reduce your risk of dementia and death. Retrieved from https://www.health.harvard.edu/blog/sleep-well-and-reduce-your-risk-of-dementia-and-death-2021050322508
  5. สมิติเวช.(2562). โรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย. เข้าถึงจาก https://www.samitivejsriracha.com/รายละเอียดบทความ/?id=1067
  6. Dementia UK. (n.d.). What is young onset dementia?. Retrieved from https://www.dementiauk.org/about-dementia/young-onset-dementia/what-is-young-onset-dementia/ 
  7. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.). (2564). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา: โครงการความคาดหวัง การวางแผน และ การเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผ่านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

การอ้างอิงข้อมูลจากบทความนี้ 
จงจิตต์ ฤทธิรงค์, เฉลิมพล แจ่มจันทร์, พิมลพรรณ นิตย์นรา, และ ณัฐณิชา ลอยฟ้า, 2565. ความคาดหวัง การวางแผน และ การเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. นครปฐม. 
 



CONTRIBUTOR

Related Posts
สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

นอนกี่ชั่วโมงคือเพียงพอ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

ยูนิฟอร์มสร้างสุข

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th