The Prachakorn

แล้วโควิด-19 ก็เข้าเรือนจำ…


กุลภา วจนสาระ

31 พฤษภาคม 2564
654



ตื่นตระหนกกันไปทั้งสังคมเมื่อมีข่าวว่าโควิด-19 เข้าเรือนจำ ทั้ง ๆ ที่เรือนจำเป็นสถานที่ปิด ใช่ว่าคนทั่วไปหรือใคร ๆ จะเดินเข้าไปได้ง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่เรือนจำแต่ละแห่งทั่วประเทศออกมาตรการห้ามเยี่ยม ห้ามคนนอกเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เป็นระยะตามความรุนแรงของสถานการณ์ระบาดนับแต่ปีที่แล้วมา

กลางเดือนพฤษภาคม 2564 ผู้ต้องขังในเรือนจำกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความสนใจและเป็นห่วงจากสังคมอีกครั้งจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ กว่า 1.5 หมื่นคนที่ยังคงอยู่ระหว่างการรักษาอยู่ในเรือนจำ 12 แห่ง1 เรือนจำหลายแห่งที่มีการตรวจหาเชื้อในผู้ต้องขัง 100% นั้นหลายแห่งมีสัดส่วนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเมื่อเทียบกับผู้ต้องขังทั้งหมดมากกว่าครึ่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ร้อยละ 85.6 เรือนจำพิเศษธนบุรี ร้อยละ 71.8 เรือนจำกลางเชียงใหม่ ร้อยละ 55.2 เป็นต้น2

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ 12 แห่ง ปี 25643
ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564

การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชากรทั่วไปในสังคมยังเป็นไปด้วยความหนักหนาสาหัส แล้วเมื่อเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ กลุ่มคนใต้เงาของสังคมอย่างผู้ต้องขังนั้นจะยิ่งตึงมือและหนักหนาสาหัสขนาดไหน

เพราะเป็นผู้ต้องขังจึงแออัด

กว่าทศวรรษแล้วที่ภาพผู้ต้องขังล้นคุกต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างแออัดยัดเยียดกลายเป็นภาพที่สังคมไทยชินชา และเพิกเฉยราวกับเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ต้องขังสมควรจะได้รับการลงโทษให้อยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดเช่นนั้น โดยไม่ทันมองว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำในสภาพเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ต้องขังมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคบางโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป ตัวเลขผู้ต้องขังจากจำนวนสองแสนคนเศษ เมื่อ พ.ศ. 2553 เพียง 4 ปีตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นเป็นกว่าสามแสนคน และสร้างสถิติสู่ยอดสูงเกือบสี่แสนคนในปลาย พ.ศ. 2563 คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยเพิ่มถึงปีละประมาณ 1.6 หมื่นคน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถานไทยว่าการใช้ชีวิตอยู่ในความแออัดนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดา และกลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงโทษที่ต้องเผชิญ

ความแออัดจากตัวเลขผู้ต้องขังรวมข้างต้นจะยิ่งเห็นภาพได้ชัดขึ้นเมื่อถึงเวลานอน

แม้ว่าพื้นที่นอนของผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากลคือ 7.5 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน สำหรับประเทศไทยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของพื้นที่นอนสำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ คือ 2.25 ตารางเมตรต่อคน แต่ทว่าในความเป็นจริง ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เท่า! สถิติเมื่อปี 2542 เฉลี่ยแล้วผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร4 ซึ่งเรือนจำทั้งหมดในประเทศไทยสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 110,667 คนเท่านั้น ผู้ต้องขังกว่าสามแสนคนในเดือนพฤษภาคม 2564 จึงหมายถึงผู้ต้องขังล้นเกินความจุมาตรฐานที่ตั้งไว้ถึงสองแสนคน!! สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขยายพื้นที่เรือนนอน ต่อชั้นลอย และลดมาตรฐานความจุลงเพื่อให้รองรับผู้ต้องขังที่ล้นคุกเหล่านั้นให้ได้

“สภาพความแออัดของจำนวนผู้ต้องขังนั้นส่งผลกระทบทุกด้านต่อการใช้ชีวิตในเรือนจำ ทั้งการอาบน้ำที่ต้องหมุนเวียนเป็นรอบ แข่งกับเวลาและสถานที่อันจำกัด การซักผ้า-ตากผ้า เข้าห้องน้ำขับถ่าย การเข้าถึงยาหรือหาหมอเมื่อเจ็บป่วย...โดยเฉพาะการนอนอย่างแออัดอยู่ในพื้นที่คับแคบกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน บางแห่งต้องนอนแบบสลับฟันปลาหรือไขว้เสียบขาชนกัน ยิ่งจำนวนคนมากก็ยิ่งเสียบขาลึกขึ้น บางแห่งเสียบเข้ามาถึงเข่า บางแห่งมีพื้นที่เพียงนอนตะแคงเท่านั้น ไม่สามารถนอนหงายได้ และต้องเสียบขามาถึงท้องน้อย เป็นต้น”5

ภาพโดย ผู้เขียน และได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่แล้ว

เพราะแออัดจึงเจ็บป่วย

การต้องอยู่ร่วมกันอย่างแออัดในเรือนนอนต่อเนื่อง หายใจด้วยอากาศเดียวกันในห้องนอนคับแคบตลอด 14-15 ชั่วโมงวันแล้ววันเล่านี้เองที่ทำให้โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไข้หวัดใหญ่ หอบหืด แพ้อากาศ เจ็บคอ ไอ ฯลฯ รองลงมาเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ ตามร่างกาย ที่เป็นผลจากการถูกจำกัดให้ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในพื้นที่อันจำกัด ไม่ว่าจะเป็นนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในเรือนนอน ฝึกวิชาชีพหรือทำงานด้วยท่าซ้ำ ๆ อยู่ในโรงงาน อาการผื่นคันหรือผื่นแพ้ตามร่างกาย ด้วยเหตุที่ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดสูง รวมทั้งดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้จำกัด6

“การเว้นระยะห่างที่ปลอดภัย” จึงไม่มีทางเป็นไปได้ในเรือนจำ แม้จะเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจแบบโควิด-19 ที่พบว่าสามารถติดต่อกันได้ทางอากาศ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีความแออัด หรือถ่ายเทอากาศได้ไม่ดี

อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ สำหรับผู้ต้องขังแล้วเป็นของหายากและขาดแคลนที่แม้จะมีเงินก็ไม่อาจหามาครอบครองได้ หากไม่มีจำหน่ายหรือแจกจ่ายอย่างทั่วถึงและพอเพียงสำหรับทุกคน พื้นที่กักตัว โรงพยาบาลสนาม ฯลฯ ในเรือนจำ ก็ใช่ว่าจะตั้งได้ตามใจนึก ด้วยโครงสร้างทางกายภาพที่จำกัด ไม่ได้มีแพทย์พยาบาลในเรือนจำที่จะรองรับผู้ต้องขังติดเชื้อได้มากมายขนาดนั้น คงมีแต่เพียงเพื่อนผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือดูแล ปฐมภูมิในเรือนจำให้บริการได้เท่าที่ศักยภาพจะทำได้ การเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังจึงยังเป็นประเด็นท้าทายสูงสุดเมื่อเกิดวิกฤติด้านโรคระบาดเช่นครั้งนี้

มาตรการรับมือโควิด-19 ในเรือนจำ

3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ นอกเหนือจากการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ได้แก่ การลดจำนวนผู้ต้องขังที่เรือนจำต้องควบคุมดูแล ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้หลังการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว การให้ประกันตัว “ผู้ต้องขังระหว่าง” อันหมายถึงผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการตัดสินคดี ไม่ว่าจะระหว่างการไต่สวน สอบสวน หรือระหว่างอุทธรณ์และฎีกา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60,000 คน และการจัดให้ผู้ต้องขังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

“ความรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19 สัมพันธ์อย่างยิ่งกับประเด็นเรื่องเศรษฐานะ ยิ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใต้เงาของสังคม กลุ่มคนที่ไม่อยู่ในสายตาของสังคม กลุ่มคนที่สังคมทำเป็นมองไม่เห็นจนกระทั่งลืมไปแล้วจริง ๆ ว่ามีกลุ่มคนเหล่านั้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ แรงงานข้ามชาติ หรือคนที่อยู่ในชุมชนแออัดต่าง ๆ อย่างที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ของการติดเชื้ออยู่ตอนนี้ กลุ่มคนชายขอบที่อยู่ใต้เงาของสังคมเหล่านี้แหละที่รัฐต้องจัดให้มีบริการสาธารณสุขเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยให้พวกเขาได้เข้าถึงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางที่สุด ขณะนี้เรากำลังดีลกับโรคระบาดระดับโลก ที่หน้างานรับมืออยู่ คนติดเชื้อรายใหม่วันละ 2,000 กว่าคน สถานการณ์ก็ตึงมือมากแล้ว ไหนจะผู้ป่วยโรคอื่น ๆ อีก คุณไม่มีทางจะหยุดความรุนแรงของการระบาดได้เลยถ้าไม่จัดบริการวัคซีนและการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มคนใต้เงาสังคมเหล่านี้ก่อน และก็ไม่มีทางเลยที่มันจะไม่เข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิตเราในที่สุด”7 


  1. เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ‘เรือนจำ’ ยอดสะสม 15,153 ราย. (22 พฤษภาคม 2564). กรุงเทพธุรกิจ. ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939525
  2. รายงานสถานการณ์ Covid-19 กรมราชทัณฑ์. (21 พฤษภาคม 2564). PR-กรมราชทัณฑ์. ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://twitter.com/PRDOC/status/1395683923267493893/photo/2
  3. ประมวลจาก เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ‘เรือนจำ’ ยอดสะสม 15,153 ราย. (22 พฤษภาคม 2564). กรุงเทพธุรกิจ. ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939525; ราชทัณฑ์อัพเดต ยอดผู้ต้องขังติดเชื้อ ‘โควิด’ เพิ่ม 499 ราย ใน 12 เรือนจำ รักษาหาย 54 ราย รวมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการรักษา 14,787 ราย. (23 พฤษภาคม 2564). ค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6414172; ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ยังหนัก! เสียชีวิตอีก 30 ราย ติดเพิ่ม 2,713 ราย. (24 พฤษภาคม 2564). กรุงเทพธุรกิจ. ค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939697
  4. Administrator. (27 มีนาคม 2560). วิธีนอนให้สบายในคุก. ค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564, จาก ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ https://www.hosdoc.com/index.php?option=com_content&view=article&id=40:how-comfortable-to-sleep-in-prison&catid=2:guide-prison&Itemid=14
  5. กฤตยา อาชวนิจกุล และกุลภา วจนสาระ. (2558). ผู้ต้องขังหญิง: สถานการณ์และข้อเสนอเชิงนโยบาย. นครปฐม: สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. กุลภา วจนสาระ และกฤตยา อาชวนิจกุล. (2564). ก้าวแรกของปฐมภูมิในเรือนจำกับชีวิตต้องขังที่กำหนดสุขภาพ. นครปฐม: สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ความเห็นของแพทย์ท่านหนึ่งในการพูดคุยผ่าน Club House. (21 พฤษภาคม 2564).

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

คนไร้บ้าน

อมรา สุนทรธาดา

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th