คำขวัญคุ้นหูคนทำงานที่ได้ยินกันมา ตั้งแต่ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2502 – 2506 หรือประมาณ 40 ปีมาแล้ว1 ชี้ให้เห็นการรับรู้ของตลาดแรงงานไทยว่า “งานเป็นแหล่งที่มาของความสุข” เมื่อทำงานแล้วเกิดรายได้ รายได้ก็สร้างความสุขให้กับคนทำงาน คำขวัญนี้อาจเป็นตรรกะที่สอดคล้องกับคนทำงานในยุคสมัย แต่เมื่อเวลาเดินมาถึงปัจจุบัน สภาพแตกต่างของความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคท้าทายได้แปรผันไปตามกาลเวลาแล้วอย่างสิ้นเชิง แน่นอน ความสุขของคนเป็นพลวัตรย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยแวดล้อม และพฤติกรรม เมื่อความสุขเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา คำถามที่น่าติดตาม คือ “งานคือเงิน” และ “เงินคืองาน” “ยังบันดาลสุข” ให้กับคนในยุคนี้อยู่หรือไม่
ได้รับอนุญาตจากเจ้าของรูปให้เผยแพร่
นักจิตวิทยาในปัจจุบันมองว่า “เงิน ซื้อความสุขไม่ได้”2,3 เพราะความสุขจากทรัพย์สินเงินทองเพียงอย่างเดียวเป็นความสุขที่ไม่จีรัง ความสุขความปลาบปลื้มของคนที่ถูกลอตเตอรี่เลขท้ายสองตัวอยู่ได้นานที่สุดแค่สองสัปดาห์ เมื่อถึงรอบการประกาศผลสลากกินแบ่งงวดต่อไป จะสุขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลการออกสลากงวดใหม่ สำหรับคนทำงาน เงินซื้อความสุขได้หรือไม่ โดยเฉพาะในวันที่เราอยู่ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ความมั่นคงทางการเงินช่วยเสริมสร้างความสุขในชีวิตให้กับเราได้ไหม ข้อมูลความสุขคนทำงานระดับประเทศ รอบปี 25634 ให้คำตอบเราได้ และจะพาเราฉายภาพไปยังปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญกับความสุขของเราได้อีกด้วย
ได้รับอนุญาตจากเจ้าของรูปให้เผยแพร่
ในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการเข้มงวดต่างๆ เพื่อควบคุมการกระจายของเชื้อโรค COVID-19 เชื่อแน่ว่า มีหลายคนรีบเบิกเงินสดจากธนาคารมาเก็บไว้เพื่อรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงดูเหมือนว่า เงินเป็นสิ่งจำเป็นที่สร้างความมั่นใจว่าจะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตต่างๆ ได้ ความมั่นใจนี้ สร้างคำถามว่า “เงินช่วยให้มีความสุขในช่วงเวลาวิกฤติได้จริงหรือ……..?”
มาดูคำตอบกัน ผลการวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองทางสถิติในการทดสอบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของคนทำงานองค์กรในประเทศไทย ปี 2563 แสดงแนวโน้มว่า “เงินบันดาลสุข” ให้กับคนทำงานได้ (ตารางแบบจำลองแสดงไว้ในส่วนท้าย) และอิทธิพลของเงินก็ยังไม่ด้อยไปกว่าปัจจัยสำคัญในชีวิตอื่นๆ เช่น สุขภาพ ครอบครัว งาน เป็นต้น โดยแบบจำลองวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ ชี้ว่า ความมั่นคงทางการเงินช่วยเพิ่มระดับความสุขของคนทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β=0.161, P-value<0.01) (รูปที่ 1) เมื่อควบคุมปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา พฤติกรรมการออกกำลังกายและการพักผ่อน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อความสุข เช่น สุขภาพ ครอบครัว งาน จิตวิญาณ ความเอื้ออาทรต่อชุมชนและสังคม และความรู้สึกปลอดภัยและสงบสุขในสังคมไทย
รูปที่ 1 ค่าอิทธิพลของความมั่นคงทางการเงินที่มีผลต่อความสุขของคนทำงาน
ผู้เขียนดัดแปลงจากแบบจำลองความสุขที่แสดงในส่วนท้ายบทความ
ปัจจัย “เงิน” ที่นำมาใช้วิเคราะห์ในแบบจำลองเป็นตัวแปร ความมั่นคงทางการเงิน ที่ได้จากการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) ของ 4 ตัวชี้วัดสถานะความสุขทางการเงิน (Happy Money) ของคนทำงาน ที่สะท้อนด้วย เงินออม หนี้สิน และความพอเพียงระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน [KMO = 0.759; P-value of Bartlett's Test of Sphericity <0.01] จากนัยสำคัญทางสถิติเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า “ความสุขทางการเงินช่วยให้มีความสุขในช่วงเวลาวิกฤติได้จริง” หลักฐานเชิงประจักษ์นี้ จึงอาจเป็นช่องทางในการส่งเสียงไปยังมาตรการเยียวยาของรัฐ ให้ตระหนักว่า การชดเชยรายได้เพียงอย่างเดียว อาจไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสร้างความสุขได้ มาตรการบรรเทาภาระหนี้สินในช่วงเวลาวิกฤติเป็นมาตรการจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีร่วมกับแผนการรณรงค์เพิ่มดอกผลการออมที่ได้จากสถาบันการเงินต่างๆ
Work From Home เป็นชีวิตวิถีใหม่ของคนทำงานในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าไร อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำงานที่บ้านทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เกิดความยืดหยุ่นที่คนทำงานต้องจัดระบบและทำความคุ้นชินจากชีวิตการทำงานในวิถีเดิมที่เปลี่ยนไปแล้ว ดูเน็ตฟลิกซ์ ตามซีรีย์เกาหลี จนตื่นสายกว่าปกติ ก็ไม่ต้องกลัวรถติดจนเข้างานไม่ทัน รูปแบบการทำงานประจำอาจต้องปรับเวลาเริ่มและเลิก และเวลาพักผ่อนตามสถานการณ์ นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นของการทำงานที่บ้านทำให้เลือกที่จะทำงานและพักผ่อนตรงไหนก็ได้ในบริเวณบ้านของเรา หลายคนอาจใช้ที่นอนเป็นได้ทั้งที่นั่งทำงานและที่พักผ่อน เวลายามเย็นเป็นได้ทั้งเวลาออกกำลังกายและเวลาประชุม
Work From Home ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการพักผ่อนมลายหายไปหรือไม่ ความสุขที่เกิดจากการทำงานและการพักผ่อน มีรูปแบบอย่างไร เรามาดูกัน
แบบจำลองวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของคนทำงาน ชี้ว่า งานยังบันดาลสุขได้ (รูปที่ 2) แต่จะสุขมากสุขน้อย ขึ้นอยู่กับระดับความพึงพอใจในงาน ยิ่งระดับความพึงพอใจในงานสูงขึ้นเท่าใด ความสุขในชีวิตของคนทำงานก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น ผู้ที่พึงพอใจในงานในระดับมากที่สุด จะมีระดับความสุขสูงกว่าคนที่ไม่พอใจในงานเลยถึง 3 คะแนน (β=3.0) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่ดีขึ้น (β=0.05) และ การได้รับการปฏิบัติจากองค์กรที่ดี (β=0.25) ก็ช่วยเพิ่มระดับความสุขได้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าวันไหนเผลอตัวทำงานเป็นเวลายาวนานเกินไป ความสุขก็อาจจะหลุดลอยหายไปได้ การทำงานมากไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน ย่อมบั่นทอนความสุขของคนทำงานอย่างแน่นอน
รูปที่ 2 ค่าอิทธิพลของความพึงพอใจในงาน ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน และ การได้รับการปฏิบัติจากองค์กร ที่มีผลต่อความสุขของคนทำงาน
ผู้เขียนดัดแปลงเอง เพื่อนำเสนอข้อมูลจากแบบจำลองความสุขที่แสดงในส่วนท้ายบทความ
แบบจำลองนี้ชี้ว่า การได้ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจช่วยเพิ่มความสุขได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยิ่งทำกิจกรรมบ่อยครั้งมากขึ้นในแต่ละสัปดาห์ ระดับความสุขของคนทำงานก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แบบจำลองนี้ชี้อีกว่า คนทำงานไม่ได้สุดโต่งเรื่องการพักผ่อน ผลการวิเคราะห์ พบว่า การพักผ่อนวันละ 1-2 ชั่วโมง เพียงพอในการสร้างความสุขให้คนทำงาน ขณะที่ การพักผ่อนน้อยเกินไป หรือมากเกินไป (มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ไม่รวมเวลานอน) ส่งผลในทางลบต่อความสุขของคนทำงาน (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 ค่าอิทธิพลของการพักผ่อน ที่มีผลต่อความสุขของคนทำงาน
ผู้เขียนดัดแปลงเอง เพื่อนำเสนอข้อมูลจากแบบจำลองความสุขที่แสดงในส่วนท้ายบทความ
“เงิน งาน บันดาลสุขได้จริงในวันที่ต้อง “Work From Home” การปลอดหนี้ มีรายได้ มีเงินออม ช่วยเพิ่มระดับความสุขในคนทำงานได้จริง และ ความพึงพอใจที่เราได้จากการทำงาน สัมพันธภาพที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน และ การปฏิบัติที่ดีขององค์กร ก็ยังช่วยหนุนเสริมเพิ่มระดับความสุขให้กับคนทำงานได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งนำไปสู่แนวทางการเสริมสร้างความสุขคนทำงานภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (รูปที่ 4) ที่ต้องอาศัยทั้งแรงสนับสนุนจากภาครัฐ และการปรับตัวของคนทำงานเอง
รูปที่ 4 ข้อเสนอแนะในการเสริมสร้างความสุขของคนทำงานภายใต้ชีวิตวิถีใหม่
ผู้เขียนผลิตเอง จากโปรแกรมออกแบบออนไลน์
ภาคผนวกท้ายบทความ
ตาราง 1 การวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณทดสอบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของคนทำงาน (N=25,955)
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุข | B | Std. Error | Beta | t | Sig. | |
---|---|---|---|---|---|---|
เงิน (ความมั่นคงทางการเงิน) | .161 | .001 | .060 | 154.509 | 0.000 | |
งาน | ||||||
ความพึงพอใจในงาน (ref= ไม่พอใจ) | ||||||
น้อย | .671 | .008 | .059 | 85.949 | 0.000 | |
ปานกลาง | 1.843 | .007 | .345 | 256.706 | 0.000 | |
มาก | 2.707 | .008 | .484 | 352.972 | 0.000 | |
มากที่สุด | 2.991 | .008 | .368 | 352.222 | 0.000 | |
ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน | .054 | .001 | .020 | 44.768 | 0.000 | |
career growth | -.006 | .001 | -.002 | -5.842 | 0.000 | |
การได้รับการปฏิบัติจากองค์กร | .245 | .001 | .092 | 253.085 | 0.000 | |
การพักผ่อน | ||||||
การทำกิจกรรมพักผ่อน (ref=ไม่ได้ทำ) | ||||||
กิจกรรมพักผ่อน 1 – 2 วัน/สัปดาห์ | .137 | .005 | .020 | 28.175 | 0.000 | |
ทำกิจกรรมพักผ่อน 3 – 4 วัน/สัปดาห์ | .201 | .005 | .038 | 43.546 | 0.000 | |
ทำกิจกรรมพักผ่อน 5 - 6 วัน/สัปดาห์ | .339 | .005 | .051 | 67.716 | 0.000 | |
ทำกิจกรรมพักผ่อนทุกวัน | .647 | .006 | .058 | 107.634 | 0.000 | |
เวลาในการพักผ่อน (ref = น้อยกว่า1 ชั่วโมงต่อวัน) | ||||||
พักผ่อน1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน | .059 | .003 | .010 | 18.212 | 0.000 | |
พักผ่อน 3 – 5 ชั่วโมงต่อวัน | -.077 | .003 | -.013 | -23.346 | 0.000 | |
พักผ่อน 6 – 7 ชั่วโมงต่อวัน | -.257 | .003 | -.043 | -78.565 | 0.000 | |
พักผ่อน 8 ชั่วโมงขึ้นไป | -.399 | .005 | -.038 | -87.039 | 0.000 |
หมายเหตุ: ควบคุมปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา พฤติกรรมการออกกำลังกาย สุขภาพ ครอบครัว งาน จิตวิญาณ ความเอื้ออาทรต่อชุมชนและสังคม และความรู้สึกปลอดภัยและสงบสุขในสังคมไทย ดำเนินการวิเคราะห์ภายใต้โครงการองค์กร 4G มีสุข: เข้าใจ เตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง
ที่มา: วิเคราะห์จากฐานข้อมูลความสุขคนทำงานประเทศไทย ปี 2563
อ้างอิง
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต,สุภรต์ จรัสสิทธิ์
สุชาดา ทวีสิทธิ์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
บุรเทพ โชคธนานุกูล
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ชณุมา สัตยดิษฐ์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
นงเยาว์ บุญเจริญ
จรัมพร โห้ลำยอง
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต