ปรับปรุงล่าสุด 8 สิงหาคม 2563
สมมุติฐาน (hypothesis) คือ ข้อความหรือคำกล่าวที่ตั้งไว้เพื่อพิสูจน์ ซึ่งจะแตกต่างจากข้อสมมุติ (assumption) ที่เป็นข้อความหรือคำกล่าวที่ยอมรับไว้ก่อน โดยไม่ต้องพิสูจน์
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ จึงเริ่มต้นด้วยการตั้งสมมุติฐานขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงทำการทดลองวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้ โดยทำการวิเคราะห์ทดลองในห้องทดลอง ที่สามารถควบคุมให้มีเฉพาะตัวแปรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องจะถูกกำจัดออกไปหมด
ถ้าพิสูจน์แล้วยอมรับสมมุติฐานก็สรุปได้ว่า ข้อความหรือคำกล่าวนั้นเป็นความจริง และได้องค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา แต่ถ้าไม่ยอมรับสมมุติฐานก็ไม่สามารถสรุปได้ว่า ข้อความหรือคำกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง เพียงแต่กล่าวได้ว่า ยังไม่รู้ว่าสมมุติฐานเป็นจริงหรือไม่เท่านั้น
สมมุติฐานนี้เมื่อถูกพิสูจน์ซ้ำหลายๆ ครั้งก็จะกลายเป็นทฤษฎี (theory) ไป ซึ่งทฤษฎีก็คือ ข้อความหรือคำกล่าวที่ได้พิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นความจริง แต่ทฤษฎีก็เป็นความจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงที่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะเมื่อฐานความคิดหรือโลกทัศน์เปลี่ยนไป ทฤษฎีก็เปลี่ยนตามไปด้วย
ส่วนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ เป็นการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ จึงไม่สามารถทำการวิจัยในห้องทดลองที่มีแต่ตัวแปรที่เกี่ยวข้องเท่านั้นได้ ยิ่งกว่านั้นตัวปัญหาที่ต้องการแก้ไขก็ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ปัญหาบางอย่างก็อาจคลี่คลายไปเองโดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะความคิดที่เปลี่ยนแปรไปทำให้การมองปัญหาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามการวิจัยทางสังคมศาสตร์มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ ปัญหา สาเหตุของปัญหา หนทางที่จะแก้ไขปัญหา และผลลัพธ์เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว โดยอย่างสุดท้ายจะเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของการวิจัย ที่ยังไปไม่ถึงจนกว่าจะได้ทำตามข้อเสนอแนะแล้ว
สำหรับสามอย่างแรก "ปัญหา" เป็นเพียงจุดประกายเริ่มต้น โดยมี "สาเหตุของปัญหา" หรือ "หนทางที่จะแก้ไขปัญหา" เป็นวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่อาจจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ แต่ถ้าการวิจัยทางสังคมศาสตร์ทำเพื่อค้นหาองค์ความรู้ ไม่ได้ทำเพื่อแก้ไขปัญหา วัตถุประสงค์ก็อาจเป็นตัวปัญหาก็ได้ คือทำวิจัยเพื่อให้รู้ว่าอะไรคือปัญหา
วัตถุประสงค์จะกำหนดขอบเขตของการวิจัยให้ชัดเจน เพราะปัญหาทางสังคมมีหลายมิติและมุมมอง วิธีการวิเคราะห์และวิธีแก้ไขปัญหาก็มีหลากหลายเช่นกัน เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ได้แล้ว จึงตามด้วยการทบทวนองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างกรอบแนวความคิดต่อไป
กรอบแนวความคิดในการวิจัยคือ รายละเอียดของการทำวิจัย เพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อันประกอบด้วยคำนิยามของตัวแปร ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร วิธีการเก็บข้อมูล และวิธีวิเคราะห์ข้อมูล กรอบแนวความคิดนี้จะใช้เป็นฐานในการตั้งสมมุติฐาน ดังนั้นการทบทวนองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์
ผลการวิจัยที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อใช้แก้ไขปัญหานั้น ต้องมาจากการพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งไว้เท่านั้น แต่ถ้าผลวิจัยไม่ยอมรับสมมุติฐาน ข้อความหรือคำกล่าวที่ต้องการพิสูจน์ ก็จะไม่สามารถนำมาสู่ข้อเสนอแนะได้ เพราะไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุน
จะเห็นได้ว่า สมมุติฐานมีความสำคัญในการวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ อย่างไรก็ตามการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถขาดสมมุติฐานได้ เพราะสมมุติฐานเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิจัย ซึ่งแตกต่างจากการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่จุดเริ่มต้นอยู่ที่วัตถุประสงค์
ดังนั้น การวิจัยทางสังคมศาสตร์อาจไม่มีสมมุติฐานก็ได้ ถ้าไม่ต้องการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการทำวิจัยเพียงเพื่อต้องการอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยที่ยังไม่ต้องการรู้ถึงสาเหตุหรือผลกระทบของปรากฏการณ์นั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม การวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็อาจใช้สมมุติฐานเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยได้เช่นกัน ถ้าเป็นการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ หรือพิสูจน์ความรู้ที่มีอยู่เดิม (คือ พิสูจน์สมมุติฐานหรือทฤษฎี) ในกรณีนี้ การทบทวนองค์ความรู้ก็ลดความสำคัญลงไป โดยความสำคัญจะไปอยู่ที่ข้อมูลและวิธีวิเคราะห์แทน เพราะต้องการที่จะให้ผลวิจัยได้สะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคม
ตัวอย่างที่ดีที่อาจนำมาใช้เป็นสมมุติฐานในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ คือ หลักธรรมในพระไตรปิฎก ได้แก่
เพราะคำสอนเหล่านี้มีกว่า 2,500 ปี ซึ่งมีมาก่อนวิทยาศาสตร์เสียอีก และได้ผ่านการทดสอบมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นความจริง จึงน่าจะนำมาพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ด้วยข้อมูลปัจจุบัน
นอกจากนี้ สมมุติฐานยังอาจได้มาจากความคิดกระฉูด ตำนาน นิทาน สุภาษิต หรือคำกล่าวแปลก ๆ ก็ได้ ซึ่งงานวิจัยเช่นนี้ก็ได้รับรางวัลอีกโนเบลไปตามระเบียบ ได้แก่
ที่มา: http://themashupmission.blogspot.com/2012/08/breaking-is-bad.html
สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่กระตุ้น “ตุ่มหัวเราะ” ก่อน “ตุ่มความคิด”
หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “สมมุติฐาน” ใน ประชากรและการพัฒนา 31(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2553:8
วรชัย ทองไทย
ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
วรชัย ทองไทย
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์
วรชัย ทองไทย