แก่นเรื่อง (theme) จะบอกถึง ใจความหลักของกิจกรรมต่างๆ เช่น บทประพันธ์ ภาพยนต์ การแสดง นิทรรศการ การประชุม การสัมมนา พิธีการ
กิจกรรมที่จัดเป็นประจำมักจะมีแก่นเรื่อง เพื่อแสดงถึงความสำคัญของเรื่องนั้นๆ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้คนให้เข้ามาร่วมกิจกรรม เช่น การประชุมวิชาการประจำปี “ประชากรและสังคม” ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ที่ในแต่ละปีจะมีแก่นเรื่องแตกต่างกันออกไป ได้แก่
ปี 2567 เรื่อง ประชากรและความยั่งยืน: ประเด็นสำคัญทางนโยบาย
ปี 2566 เรื่อง หลากมิติในหนึ่งชั่วชีวิต
ปี 2565 เรื่อง โควิด-19 การฟื้นตัวและโอกาสของประชากรและสังคม
พิธีมอบรางวัลอีกโนเบลก็มีแก่นเรื่องที่แตกต่างกันไปในแต่ละปีเช่นกัน โดยแก่นเรื่องจะเป็นตัวกำหนดรูปร่างของ “ถ้วยรางวัลอีกโนเบล” เนื้อเรื่องของอุปรากรสั้น และบางหัวข้อของปาฐกถา 24/7
แก่นเรื่องของพิธีในปีนี้คือ กฎของเมอร์ฟี (Murphy’s Law) ที่กล่าวว่า “ถ้าจะมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น สิ่งผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นแน่ (If anything can go wrong, it will)” อันส่งผลให้ถ้วยรางวัลอีกโนเบลเป็นกล่องพลาสติกใสที่บรรจุหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกฎของเมอร์ฟี แต่หลักฐานดังกล่าวได้หายไปจากกล่อง และตัวกล่องก็ไม่สามารถเปิดออกดูได้ (ดังรูป)
รูป ถ้วยรางวัลอีกโนเบล ปี 2567
ที่มา:https://i.gzn.jp/img/2024/09/13/34th-ig-nobel-prizes/05.jpg
สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2567
ส่วนอุปรากรสั้นก็มีชื่อว่า “การประกวดร้องเพลงกฎของเมอร์ฟีนานาชาติ” อันเป็นการแข่งขันเพื่อดูว่า ใครสามารถร้องเพลงที่บรรยายกฎของเมอร์ฟีได้ดีที่สุด
พิธีมอบรางวัลอีกโนเบลประจำปี 2567 นี้ นับเป็นครั้งที่ 34 ได้จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2567 ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) แทนที่จะเป็นการจัดพิธีออนไลน์เหมือนกับ 4 ครั้ง ที่ผ่านมาในยุคโรคระบาด อย่างไรก็ตามพิธีมอบรางวัลก็ยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทางอินเทอร์เน็ตเช่นเดิม
ส่วนพิธีกรรมต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ได้แก่ สุนทรพจน์ต้อนรับและอำลา การปาเครื่องบินกระดาษ การประกาศรายชื่อผู้มอบรางวัลอีกโนเบลซี่งเป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล การมอบรางวัลอีกโนเบล ปาฐกถา 24/7 และการแสดงอุปรากรสั้น
รางวัลอีกโนเบลในปีนี้มี 10 รางวัล ในสาขาต่างๆ ดังนี้
สาขาสันติภาพ มอบให้กับนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา (B.F. Skinner) ที่ได้ทำการทดลอง เพื่อดูความเป็นไปได้ของการเลี้ยงนกพิราบไว้ภายในขีปนาวุธ เพื่อใช้เป็นตัวกำกับเส้นทางบินของขีปนาวุธ
สาขาพฤกษศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาและเยอรมัน (Jacob White และ Felipe Yamashita) ที่ได้พบหลักฐานที่แสดงว่า พืชจริงบางชนิดจะเลียนแบบรูปร่างของพืชเทียมพลาสติกที่อยู่ข้างๆ
สาขากายวิภาคศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัย 10 คน จากฝรั่งเศสและชิลี (Marjolaine Willems, Quentin Hennocq, Sara Tunon de Lara, Nicolas Kogane, Vincent Fleury, Romy Rayssiguier, Juan José Cortés Santander, Roberto Requena, Julien Stirnemann และ Roman Hossein Khonsari) ที่ได้ร่วมกันค้นหาว่า เส้นผมบนศีรษะของคนส่วนใหญ่ในซีกโลกเหนือจะหมุนไปในทิศทางเดียวกัน (ตามเข็มนาฬิกาหรือทวนเข็มนาฬิกา) กับเส้นผมบนศีรษะของคนส่วนใหญ่ในซีกโลกใต้หรือไม่
สาขาการแพทย์ มอบให้กับนักวิจัย 3 คน จากสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน และเบลเยียม (Lieven A. Schenk, Tahmine Fadai และ Christian Büchel) ที่สาธิตให้เห็นว่า ยาปลอมที่มีความเจ็บปวดเป็นผลข้างเคียง จะมีประสิทธิภาพมากกว่ายาปลอมที่ไม่มีความเจ็บปวดเป็นผลข้างเคียง
สาขาฟิสิกส์ มอบให้กับนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา (James C. Liao) ที่ได้สาธิตและอธิบายถึง ความสามารถในการว่ายน้ำของปลาเทราท์ที่ตายแล้ว
สาขาสรีรวิทยา มอบให้กับนักวิจัย 11 คน จากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา (Ryo Okabe, Toyofumi F. Chen-Yoshikawa, Yosuke Yoneyama, Yuhei Yokoyama, Satona Tanaka, Akihiko Yoshizawa, Wendy L. Thompson, Gokul Kannan, Eiji Kobayashi, Hiroshi Date และ Takanori Takebe) ที่ร่วมกันค้นพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดสามารถหายใจผ่านทางทวารหนักได้
สาขาความน่าจะเป็น มอบให้กับกลุ่มนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก (František Bartoš, Eric-Jan Wagenmakers, Alexandra Sarafoglou, Henrik Godmann และเพื่อนร่วมงานอีกหลายคน) ที่แสดงให้เห็นทั้งในเชิงทฤษฎีและการทดลอง (350,757 ครั้ง) ว่า เมื่อเราโยนเหรียญ ผลของเหรียญที่ตกลงมามักจะเป็นด้านเดียวกับด้านที่เริ่มต้นโยน
สาขาเคมี มอบให้กับนักวิจัย 4 คน จากเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส (Tess Heeremans, Antoine Deblais, Daniel Bonn และ Sander Woutersen) สำหรับการใช้โครมาโทกราฟี (chromatography) เพื่อแยกหนอนที่เมาออกจากหนอนที่ไม่เมา
สาขาประชากรศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยจากออสเตรเลีย (Saul Justin Newman) ที่พบว่า คนมีชื่อเสียงว่า “อายุยืน” ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่การบันทึกข้อมูลเกิดและข้อมูลตายไม่ดี
สาขาชีววิทยา มอบให้กับนักวิจัย 2 คน จากสหรัฐอเมริกา (Fordyce Ely และ William E. Petersen) ในงานวิจัยเพื่อค้นหาปัจจัยที่ทำให้วัวพ่นนมออกมา ด้วยการตบถุงกระดาษข้างๆ แมวที่ยืนอยู่บนหลังวัว
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลผลงานที่ทำให้ “ยิ้ม” ก่อน “คิด”
หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “แก่นเรื่อง” ในประชากรและการพัฒนา 45(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2567: 7
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย