คำคมคือ ข้อเขียนสั้นๆ ที่น่าสนใจ น่าจดจำ น่าประหลาดใจ หรือเสียดสี คำคมไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นของโบราณที่มีมานานกว่าสองพันปีแล้ว
สุภาษิตคือ ถ้อยคำหรือวลีสั้นๆ ที่ใช้กันตามประเพณี ประกอบด้วยภูมิปัญญา ความจริง ศีลธรรม และทัศนคติแบบดั้งเดิม อันแสดงถึงความจริงที่รับรู้กันได้ตามสามัญสำนึกหรือประสบการณ์ สุภาษิตมักใช้คำเปรียบเทียบ เพื่อให้จำได้ และเป็นคติสอนใจ
คำคมแตกต่างจากสุภาษิตตรงที่ คำคมจะแสดงปฏิภาณ ไหวพริบ หรือเสียดสี ซึ่งโดยทั่วไปสุภาษิตจะไม่มี คำคมอาจแสดงเป็นวลี เช่น หนังท้องตึง หนังตาหย่อน หรือเป็นประโยค เช่น เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง หรือเป็นคำกลอน เช่น
มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท
อย่าให้ขาด สิ่งของ ต้องประสงค์
มีน้อย ใช้น้อย ค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มาก จะยากนาน
ส่วนสุภาษิตมีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอนให้นำไปปฏิบัติ จึงแสดงเป็นวลีสั้นๆ ที่จำได้ง่าย เช่น
• โลภมาก ลาภหาย
• จงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
• คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก
สุภาษิตมักจะแสดงไว้ในที่สาธารณะ เช่น วัด โบสถ์ อาคาร กำแพง เพื่อเป็นคติสอนใจ โดยมักจะแสดงเป็นภาพและมีตัวอักษรบรรยาย ดังภาพวาดสุภาษิตไทยใต้ฐานเจดีย์ (ดูรูป) ที่สอนให้คิดก่อนที่จะพูดหรือทำ จะได้ไม่ “จุดไต้ตำตอ” (การพูดหรือการกระทำ ที่บังเอิญไปกระทบเจ้าตัวหรือผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่องนั้น โดยผู้พูดหรือผู้ทําไม่รู้ตัว)
รูป ภาพสุภาษิต "อย่าจุดไต้ตำตอ"
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Proverb#/media/File:Hornets.nest.JPG
สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2567
อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างคำคมกับสุภาษิตก็ไม่ได้เด่นชัดแน่นอน เพราะบางวลีอาจถือว่าเป็นได้ทั้งคำคมและสุภาษิต เช่น กฎของเมอร์ฟี (Murphy’s Law)
กฎของเมอร์ฟีเป็นคำคมหรือสุภาษิตที่กล่าวว่า “สิ่งใดที่อาจผิดพลาดได้ ย่อมจะผิดพลาด” (Anything that can go wrong will go wrong.) ที่เริ่มใช้ในปี 1949 โดยเมอร์ฟีเป็นชื่อของ Edward A. Murphy, Jr. นักวิศวกรการบินชาวอเมริกัน
เมื่อกฎของเมอร์ฟีได้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย จึงได้มีการดัดแปลงให้เข้ากันได้กับสถานะการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น
• Drucker's law กล่าวว่า "หากสิ่งหนึ่งผิดพลาด ทุกอย่างก็จะผิดพลาดพร้อมกันตามไปหมด”
• Segal’s law กล่าวว่า “คนมีนาฬิกาเรือนเดียวย่อมรู้เวลา แต่คนมีนาฬิกาสองเรือนไม่รู้เวลา”
• Finagle's law กล่าวว่า “สิ่งใดที่อาจผิดพลาดได้ ย่อมจะผิดพลาดในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด"
ผลสืบเนื่องจากกฎของเมอร์ฟี ทำให้มีกฎของนางเมอร์ฟี (Mrs. Murphy’s law) ที่กล่าวว่า “สิ่งใดที่อาจผิดพลาดได้ มักจะเกิดขึ้นในขณะที่นายเมอร์ฟีไม่อยู่ในเมือง”
ในขณะที่กฎของเมอร์ฟีเป็นที่แพร่หลายในอเมริกา ในอังกฤษก็มีกฎของซอด (Sod’s law) ที่กล่าวว่า “หากมีสิ่งใดที่ผิดพลาดได้ มันก็จะเกิดขึ้น” (If something can go wrong, it will.) โดยกฎของซอดจะรุนแรงกว่ากฎของเมอร์ฟีตรงที่ กฎของเมอร์ฟีจะหมายถึง สิ่งใดก็ตามที่อาจผิดพลาดได้ ก็จะผิดพลาดในที่สุด แต่กฎของซอดกลับหมายถึง สิ่งใดก็ตามที่อาจผิดพลาดได้ ก็จะผิดพลาดเสมอ โดยผลลัพธ์จะเลวร้ายที่สุดหรือเกิดในเวลาที่เลวร้ายที่สุดด้วย
กฎของซอดในอีกสำนวนหนึ่งจากอังกฤษคือ "ควรหวังสิ่งที่ดีที่สุด แต่ควรคาดหวังสิ่งที่เลวร้ายที่สุด" (Hope for the best, expect the worst.)
ในบรรดากฎของความหายนะทั้งหลาย อันเป็นมุมมองของคนมองโลกในแง่ร้ายนั้น ย่อมมีกฎของคนมองโลกในแง่ดีเช่นกัน นั่นคือ กฎของฮพรึม (Yhprum’s law) ที่กล่าวว่า “สิ่งใดที่อาจไปได้ดี ย่อมจะไปได้ดี” (Anything that can go right will go right.) ทั้งนี้ชื่อ Yhprum ก็คือชื่อ Murphy ที่สะกดผวนจากหลังไปหน้านั่นเอง
ในพิธีมอบรางวัลอีกโนเบลปีนี้ (2024) แก่นเรื่องของพิธีคือ “กฎของเมอร์ฟี” ส่วนรางวัลอีกโนเบลที่เกี่ยวกับกฎของเมอร์ฟีคือ ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์เมื่อปี 2003 ได้มอบให้กับวิศวกรชาวอเมริกัน 3 คน (John Paul Stapp, Edward A. Murphy, Jr. และ George Nichols) ที่ร่วมกันให้กำเนิดกฎของเมอร์ฟี ซึ่งเป็นหลักการทางวิศวกรรมพื้นฐานที่กล่าวว่า "หากการทำบางสิ่งมีมากกว่า 2 วิธี และวิธีการหนึ่งอาจก่อให้เกิดหายนะได้ ก็จะมีคนทำสิ่งนั้น" (หรืออีกนัยหนึ่งคือ "หากมีสิ่งใดผิดพลาดได้ มันก็จะเกิดขึ้น")
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลผลงานที่ทำให้ “ยิ้ม” ก่อน “คิด”
หมายเหตุ: ปรับแก้จาก “คำคมและสุภาษิต” ในประชากรและการพัฒนา 45(2) ธันวาคม 2567 - มกราคม 2568: 7
วรชัย ทองไทย
ศุทธิดา ชวนวัน
สุภาณี ปลื้มเจริญ
ปราโมทย์ ประสาทกุล
นนทวัชร์ แสงลออ
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย