The Prachakorn

ยูนิฟอร์มสร้างสุข


สุภาณี ปลื้มเจริญ

05 เมษายน 2565
489



ปัจจุบันองค์กรหลายแห่งให้ความสำคัญกับการใส่ชุดยูนิฟอร์มของพนักงาน เนื่องจากชุดยูนิฟอร์มแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ขององค์กร สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร รวมทั้งช่วยทำให้คนทำงานมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร นอกจากนี้การใส่ชุดยูนิฟอร์มยังช่วยประหยัดเงินให้คนทำงานได้มากเพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานที่หลากหลายตามแฟชั่น ดังนั้นหลายองค์กรจึงมีนโยบายสนับสนุนชุดยูนิฟอร์มให้กับคนทำงาน โดยจัดเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่ง

“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” เป็นสุภาษิตหนึ่งที่คุ้นหู “เสื้อผ้า” จึงมีความสำคัญเพราะสามารถช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพและความมั่นใจให้กับผู้ใส่ การสวมใส่เสื้อผ้าจึงมีผลต่อ“อารมณ์” และ ”จิตใจ” ของผู้ใส่ หากคนทำงานต้องใส่ชุดยูนิฟอร์มที่ไม่สวยงามหรือเหมาะสมกับตัวเอง ก็คงจะทำงานด้วยความหงุดหงิด ไม่สบายใจ ไม่มีความสุข ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

การใส่ชุดยูนิฟอร์มที่สวยงาม เหมาะสม มีความโดดเด่น บ่งบอกความเป็นตัวตน มีเอกลักษณ์ รวมทั้งการมีรูปแบบการสวมใส่ที่มีความหลากหลาย ไม่เป็น One fit for all จึงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางการสร้างสุขภายในองค์กร ภายใต้ “แผนปฏิบัติการสร้างสุขในองค์กร” ที่มีชื่อที่เก๋ไก๋ว่า “ออกแบบ แต่ไม่แอบบอก (Your Design Your Style)” ของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ดูภาพ 1) ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 เป็นประชากรในรุ่น Gen Z ที่ใกล้สำเร็จการศึกษา และกำลังจะก้าวเข้าสู่โหมดของการทำงาน

แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการฯ ที่เกิดจากโครงการ องค์กร 4G มีสุข: เข้าใจ เตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง มีภาพกิจกรรมคือการเปิดโอกาสให้คนทำงานทุกฝ่าย ทุก Generation มีส่วนร่วมในการออกแบบชุดยูนิฟอร์มขององค์กรผ่านเวทีการประกวด โดยมีแรงจูงใจเป็นเงินรางวัล และจุดมุ่งหมายคือนำแบบที่ได้รับการคัดเลือกไปใช้เป็นชุดยูนิฟอร์มจริงขององค์กร

แม้ว่ากิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักศึกษาที่อยู่ใน Gen Z แต่กิจกรรมนี้ก็ถือว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนทำงานได้ในทุก Generation เนื่องจากสอดคล้องกับผลการสำรวจข้อมูลคนทำงาน 4 รุ่นประชากร คือ Baby Boomer, Generation X, Y และ Z จำนวน 433 คน ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2564 ของโครงการ องค์กร 4G มีสุข: เข้าใจ เตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง ในประเด็นด้านมุมมองและความคาดหวังในการทำงาน ที่พบว่าคนทำงานทุกรุ่นให้ความสำคัญกับการคิดด้วยตนเองมากกว่าการปฏิบัติคำสั่ง (Pearson Chi-Square=15.186; P-value=0.23) โดยร้อยละ 89.9 ของ Gen Z ร้อยละ 90.7 ของ Gen Y ร้อยละ 88.7 ของ Gen X และร้อยละ 95.3 ของรุ่น Baby Boomer ให้ความสำคัญกับการคิดด้วยตนเองมากกว่าการปฏิบัติตามคำสั่งในระดับปานกลางถึงมากที่สุด (ดูภาพ 1) กล่าวได้ว่าคนส่วนใหญ่ในทุก Generation ต้องการที่จะคิด และเลือกสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการแต่งกายแล้วนั้น คนทำงานควรจะมีสิทธิเต็มที่ในการร่วมออกแบบชุดยูนิฟอร์มด้วยตนเอง เพื่อให้การสวมใส่เสื้อผ้าช่วยเสริมสร้างความสุขในทุกวันของการทำงานได้เป็นอย่างดี

ภาพ 1: แผนปฏิบัติการสร้างสุขในองค์กรของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพ 2:    ร้อยละของผู้ที่ให้ความสำคัญกับการคิดด้วยตนเองมากกว่าการปฏิบัติตามคำสั่งในระดับปานกลางถึงมากที่สุด จำแนกตามรุ่นประชากร


ที่มา: แผนปฏิบัติการ “องค์กร 4G แห่งความสุข” โดย นางสาวธัญกัลย์ เลิศสัฒนนนท์, นายรฌากร ปุรณะศิริ นางสาวชนิสรา แสงสุข และนางสาวภัทราพร กระจายศรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลประเภทดีเลิศ จากโครงการ “องค์กร 4G มีสุข: เข้าใจเตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประกวดและมอบรางวัลแผนปฏิบัติการ “องค์กร 4G แห่งความสุข” วันที่ 18-19 และ 26 ธันวาคม 2564 จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
พัฒนาชาติเพื่อการมีลูก

ภูเบศร์ สมุทรจักร

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

ยูนิฟอร์มสร้างสุข

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th