บทความฉบับนี้เป็นหนึ่งในผลผลิตของโครงการวิจัย “Governing harmful commodities: the case of ultra-processed foods in the Asia Pacific region” ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก Australian Research Council Discovery Project โดยโครงการฯ เป็นความร่วมมือของสามประเทศ คือ ประเทศออสเตรเลีย ไทย และฟิจิ มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ได้แก่ Australian National University จากประเทศออสเตรเลีย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากประเทศไทย และ The Pacific Community จากประเทศฟิจิ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหลักฐานงานวิจัย เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการนโยบาย (governance) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและดำเนินนโยบายที่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วน (inter-sectoral policy) (เช่น นโยบายด้านการตลาดอาหาร) เพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีของประชากรในประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้าน governance ที่นำไปสู่การสร้างโอกาสและความท้าทายต่อการออกนโยบายควบคุมการทำการตลาดอาหารในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกที่อยากให้แต่ละประเทศมีการจำกัดการทำการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารแปรรูปพิเศษ (ultra-processed foods) ที่มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันถึงความสัมพันธ์ของการบริโภคอาหารประเภทนี้กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระดับประชากร
การศึกษานี้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการควบคุมการทำการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพของประเทศไทย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ วิชาการ ประชาสังคม และเอกชน รวม 20 คน และใช้ 3-i Framework ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่นำเสนอปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะ ได้แก่ ความสนใจของผู้เกี่ยวข้อง (interests) มุมมองของผู้เกี่ยวข้อง (ideas) และสถาบัน (institutions) มาเป็นกรอบการวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษานี้
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเชิงสถาบัน (institutional factor) เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนการควบคุมการทำการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในประเทศไทย ข้อค้นพบหลัก คือ อิทธิพลจากโครงสร้างรัฐ ความสนใจขององค์กรในประเด็นการตลาดอาหาร และมุมมองต่อการทำงานข้ามภาคส่วน (multisectoralism) ซึ่งกระบวนการนโยบายสาธารณะที่มีอยู่ยังคงเป็นแบบมุ่งทำงานแต่ของตนเอง (silo) ซึ่งมีผลให้เกิดความล้มเหลวต่อการสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเพิ่มความท้าทายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเพื่อส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการของประชากรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสนใจที่ต่างกัน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เห็นด้วยระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในประเด็นการตลาดอาหาร ซึ่งส่งผลต่อการให้ความสำคัญของนโยบายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพที่ส่งเสริมการประสานงานระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วน ยังอาจทำให้การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายยากมากยิ่งขึ้นไปอีก
การศึกษานี้จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะสำคัญ คือ การปรับปรุง governance ของภาครัฐ ทั้งการก้าวข้ามการทำงานแบบ silo การทำงานแบบประสานพลัง (synergy) การมองหาความเห็นพ้องในประเด็นการตลาดอาหาร และการใช้แนวคิดการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาคส่วนและแบบองค์รวม (holistic, multisectoral approach)
ที่มา: Phulkerd, S., Ngqangashe, Y., Collin, J., Thow, A-M., Schram, A., Schneider, C. H., & Friel S. (2022). Moving from silos to synergies: strengthening governance of food marketing policy in Thailand. Globalization and Health, 18(29). https://doi.org/10.1186/s12992-022-00825-5
วรชัย ทองไทย
รศรินทร์ เกรย์
อมรา สุนทรธาดา
ภูมิพงศ์ ศรีภา
กัญญา อภิพรชัยสกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว
สิรินทร์ยา พูลเกิด,ธีรนงค์ สกุลศรี,ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์
วรชัย ทองไทย
ชิษณุพงษ์ สรรพา
วริศรา ไข่ลือนาม
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด
สุริยาพร จันทร์เจริญ
รัศมี ชูทรงเดช
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
วรรณี หุตะแพทย์
จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ปาริฉัตร นาครักษา,สิรินทร์ยา พูลเกิด
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์