ภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา ทำให้บรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลกระงับการเดินทางระหว่างประเทศ หรือออกมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคดังกล่าวตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดไปทั่วโลก มีประเทศและดินแดนต่างๆ พากันปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ถึงกว่า 200 ประเทศ/ดินแดน ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้ย้ายถิ่นที่กำลังเดินทางข้ามแดน หรือเดินทางผ่านจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ติดค้างอยู่ในดินแดนต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ในหลายประเทศทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการลงจำนวนมากและยุติการจ้างงาน แต่แรงงานข้ามชาติที่ว่างงานจำนวนมากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางหรือภูมิลำเนาของตนได้ ทำให้ประสบความยากลำบาก และอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจากโรคระบาด ประเทศไทยเองก็เช่นกันที่มีผู้ย้ายถิ่นหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปิดประเทศอันเนื่องมาจากการระบาดของโรค COVID-19
ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว
เมื่อการปิดประเทศลากยาวออกไปนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ย้ายถิ่นจำนวนไม่น้อยในไทยมีปัญหาเรื่องเอกสารเดินทาง ตลอดจนใบอนุญาตทำงานและวีซ่าหมดอายุลง โดยนักท่องเที่ยวหลายรายกลายเป็นผู้อยู่เกินวีซ่า (visa overstayers) จนกลายเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ (irregular migrants) กลุ่มคนดังกล่าวต้องประสบปัญหาหลายประการจากมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการระงับการเดินทางข้ามแดน จนนำไปสู่ปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพ รายได้ สุขภาพและปัญหาครอบครัวเนื่องจากไม่สามารถกลับประเทศต้นทางของตนเองหรือเดินทางต่อไปยังจุดหมายอื่นได้ หรือหากทำได้ในบางกรณี ก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เนื่องจากราคาตั๋วเครื่องบินที่แพงผิดปกติจากการระงับเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกักตัวเมื่อเดินทางข้ามแดน นักท่องเที่ยวบางส่วนจึงตกระกำลำบากกลายเป็นคนเร่ร่อน ดังเช่นกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ภูเก็ตซึ่งเงินหมดจนต้องไปพักที่เมรุของวัดไม้ขาว ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำใช้ ต้องทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประทังชีวิต1 แต่บางส่วนก็เลือกที่จะลักลอบข้ามพรมแดนเพื่อกลับไปยังภูมิลำเนาของตน โดยหลีกเลี่ยงการกักตัว ดังเช่นชาวไทยในมาเลเซียที่พยายามกลับเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ เป็นต้น
ภาพผู้ย้ายถิ่นที่ถูกปิดกั้นมิให้แคลื่อนย้ายข้ามเมือง/พรมแดน
ที่มา: https://www.newindianexpress.com/nation/2020/may/01/systemic-exclusion-to-blame-for-migrants-plight-2137731.html
ผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ
เมื่อไทยประกาศจะล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปิดประเทศ ช่วงเดือนมีนาคม 2563 แรงงานข้ามชาติจำนวนหลายแสนคนได้เดินทางกลับประเทศของตน ประกอบด้วยแรงงานชาวลาวประมาณ 120,000 คนแรงงานพม่า 100,000 คน และแรงงานกัมพูชากว่า 90,000 คน2 แต่หากรวมแรงงานที่ข้ามพรมแดนธรรมชาติโดยไม่ผ่านด่านชายแดนด้วยแล้ว น่าจะมากกว่านี้ไม่น้อย แต่ก็มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ เนื่องจากมีการระงับการเดินทางข้ามจังหวัด
ทั้งนี้ ILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ประเมินว่าจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติในไทยตกงานจำนวนกว่า 700,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว ก่อสร้างและภาคบริการ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากประสบปัญหาในเรื่องต่างๆ อาทิ ไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกเลิกสัญญาจ้าง และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง3 ยิ่งถ้าเป็นแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น แรงงานตามบ้าน แรงงานภาคเกษตรและแรงงานประมง ก็มักอยู่นอกระบบประกันสังคมและอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาวะด้วย
ผลกระทบต่อผู้ลี้ภัย
สำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัยก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศของรัฐต่างๆ เนื่องจากไม่มีประเทศไหนอยากช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อาจเป็นพาหะของโรค COVID-19 โดยหลายประเทศได้เพิ่มการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เช่น มาเลเซียและไทยได้กวดขันจับกุมผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายและผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามิให้ขึ้นฝั่ง เนื่องจากความกังวลต่อโรคระบาด ทำให้ผู้ลี้ภัยทางเรือต้องเดินทางเข้าไปยังน่านน้ำ.อินโดนีเซียและเผชิญชะตากรรมที่ไม่แน่นอนต่อไป แม้ว่ามาตรา 16 ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะให้หลักประกันเรื่องสิทธิในการแสวงหาการพักพิง แต่กลุ่มประเทศอาเซียนเองกลับไม่มีการกำหนดนโยบายร่วมกันในเรื่องผู้แสวงหาการพักพิง โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในทางกลับกัน การปิดประเทศ ทำให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศก็ทำได้ยาก เนื่องจากการจำกัดการเดินทางทั้งในประเทศและการเดินทางข้ามพรมแดน ทำให้จำนวนผู้ลี้ภัยลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยทางเรือจากเมียนมาและบังกลาเทศ
ผลกระทบของ COVID-19 ต่อผู้ลี้ภัยยังมาในลักษณะทางอ้อมอีกด้วย โดยแรงงานข้ามชาติในไทยบางส่วนที่ถูกออกจากงานได้ไปปักหลักแถบจังหวัดชายแดน หรือแม้แต่เข้าสู่ค่ายพักพิงชั่วคราวแถบชายแดนตะวันตกของไทย เนื่องจากเคยอาศัยอยู่ที่นั่นมาก่อน ทำให้ทรัพยากรและความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชน (NGOs) ที่จัดสรรให้กับผู้แสวงหาการพักพิงจำนวนราวหนึ่งแสนคนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารกับเวชภัณฑ์ซึ่งมีงบประมาณที่จะจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 40 ของความต้องการเท่านั้น4
มาตรการของรัฐบาลไทย
ทางการไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นในหลายลักษณะ สำหรับชาวไทยที่ตกค้างในต่างประเทศก็ได้จัดเครื่องบินพาณิชย์พิเศษเพื่อนำชาวไทยจากที่ต่างๆ กลับประเทศ วันละหลายร้อยคน จนถึงกลางเดือนกันยายน 2563 มีสถิติคนไทยเดินทางกลับประเทศจำนวนรวมสะสม 49,696 คน5 โดยผู้ที่เดินทางกลับประเทศต้องผ่านการคัดกรองโรคก่อนกลับและต้องเข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วัน ด้วย
สำหรับชาวต่างชาติที่ตกค้างในไทย เช่น นักท่องเที่ยว ได้มีการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาพำนักในประเทศเป็นคราวๆ ไป โดยพิจารณาตามความจำเป็นของแต่ละราย โดยประเมินว่าภายหลังการประกาศปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติประเภทคนอยู่ชั่วคราวที่ติดค้างอยู่ในไทยจำนวนหลายแสนคน ล่าสุดทางการไทยกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องมายื่นขอต่อวีซ่าเป็นระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 60 วัน โดยต้องยื่นภายใน 31 ตุลาคม 2563 และจะมีผลตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป6
สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทางการไทยได้ต่ออายุให้กับแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านออกไปเช่นกัน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ แต่สำหรับผู้ที่ถือใบผ่านแดนที่หมดอายุ ให้เดินทางกลับประเทศต้นทาง สำหรับแรงงานประมง ได้มีการลงทะเบียนรอบใหม่ 2 ช่วงคือช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2563 และช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน 25637 ต่อมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ทางการไทยได้เห็นชอบให้มีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากลาว เมียนมา และกัมพูชา 2 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงาน แต่ยังไม่ได้กลับเข้ามา และแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ที่นายจ้างได้ยื่นหนังสือแสดงความต้องการ (demand letter) ไปที่ประเทศต้นทางแล้ว ให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด8
นอกจากนี้ ได้มีการผ่อนผันให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ โดยต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เช่น นักกีฬาต่างชาติ นักบินและลูกเรือบริษัทการบินไทย ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราวประเภทต่างๆ ผู้ขอวีซ่าท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (long stay) ผู้ถือบัตร APEC Card โดยจะเลือกประเทศที่เสี่ยงน้อย เป็นต้น9 และในเดือนตุลาคม 2563 ได้อนุมัติการออกวีซ่านักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist VISA (STV) เพื่อเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระหว่างที่รอการค้นพบวัคซีน ซึ่งจะทำให้นโยบายการเข้าเมืองของไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต ตามข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่จนต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก
อ้างอิง
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง
อมรา สุนทรธาดา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
จรัมพร โห้ลำยอง
โยธิน แสวงดี
กัญญา อภิพรชัยสกุล
กาญจนา ตั้งชลทิพย์
พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
พรสุรีย์ จิวานานนท์
จรัมพร โห้ลำยอง
สลาลี สมบัติมี
นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง
ธีระพจน์ คำรณฤทธิศร
โรยทราย วงศ์สุบรรณ
สาสินี เทพสุวรรณ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,พรสุรีย์ จิวนานนท์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ดนุสรณ์ โพธารินทร์
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา