The Prachakorn

ภูฏานวิกฤต..... เยาวชนย้ายถิ่นเพื่อทำงานต่างแดน


อมรา สุนทรธาดา

09 สิงหาคม 2567
473



ปรากฏการณ์มุ่งหน้าสู่ออสเตรเลีย (Australia Rush) เมื่อออสเตรเลียเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2565 หลังจากปัญหาโควิด-19 เริ่มลดลง พร้อมสร้างแรงจูงใจเยาวชนด้วยข้อเสนอที่ท้าทายหลายอย่าง เช่น ให้ทุนการศึกษา แต่ไม่รวมเยาวชนที่ถือหนังสือเดินทางสถานภาพนักศึกษา และสามารถรับจ้างทำงานได้โดยไม่กำหนดชั่วโมงการทำงาน นโยบายเพื่อฟื้นเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณให้นักศึกษาจากจีนซึ่งมีจำนวนมากที่สุดกว่าชาติอื่นๆ กลับมาให้มากและเร็วที่สุด

กระแสย้ายถิ่นออกนอกประเทศของประชากรภูฏานโดยเฉพาะการย้ายถิ่นสู่ออสเตรเลียประเทศปลายทาง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2560 และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 5 เท่า ระหว่างปี 2564-2566 พุ่งสูงสุดถึง 15,552 คน แบ่งเป็นเยาวชน 8,187 คน สำหรับช่วงกรกฎาคม 2566 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวน 8,387 คน แบ่งเป็นเยาวชนถือหนังสือเดินทางนักเรียน/นักศึกษา จำนวน 4,054 คน

เยาวชนย้ายถิ่นพร้อมหนังสือเดินทางสถานภาพนักเรียน/นักศึกษาสามารถทำงานไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีค่าตอบแทน 23.33 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 575 บาท) หรือ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ (ประมาณ 15,000 บาท) การจ้างงานตำแหน่งพนักงานลูกมือในครัวของร้านอาหาร พนักงานบรรจุกล่องผักสดเนื้อสัตว์ เป็นอาชีพชั่วคราวที่เปิดโอกาสสำหรับเยาวชนย้ายถิ่นจากภูฏานมากที่สุด กฎหมายแรงงานที่เข้มงวดและไม่มีผู้จ้างละเมิดเงื่อนไขการจ้างงาน เพราะได้ไม่คุ้มเสีย หากถูกจับได้จะถูกระงับหนังสือเดินทางและส่งตัวกลับประเทศต้นทางโดยไม่มีเงื่อนไข สถานการณ์อยู่ยากดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันในกลุ่มเยาวชนย้ายถิ่นและพยายามหลีกเลี่ยงการจ้างงานลักษณะดังกล่าว

เนื่องจากอัตราการว่างงานของเยาวชนในภูฏานสูงร้อยละ 25 เป็นปัญหาที่ท้าทายประสิทธิภาพของรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชากรวัยแรงงานให้ย้ายถิ่นน้อยลงได้อย่างไร ประการแรกคือการสร้างงานเพื่อลดแรงจูงใจการย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ ความไม่คล่องตัวเชิงเศรษฐกิจจากรายได้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐไม่สามารถสร้างงานให้ประชากรวัยแรงงานได้เหมือนเดิม ปัจจัยเกิดจากปัญหาโลกร้อนส่งผลต่อกำลังการผลิตที่มีปริมาณลดลงและไม่เพียงพอต่อการส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศอินเดียที่สนับสนุนเงินทุนมหาศาลและเป็นลูกค้ารายใหญ่ เมื่อกำลังการผลิตต่ำกว่าเป้าหมาย ปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือศักยภาพการจ้างงาน อัตราการว่างงานสูง เพราะเศรษฐกิจของประเทศมีเพียงรายได้หลักจากการผลิตพลังงานสะอาดและการท่องเที่ยวเท่านั้น เมื่อเกิดภาวะฝืดเคือง ปัญหาที่ตามมาคือการจ้างงาน โดยเฉพาะเยาวชนในตลาดแรงงานมีทางเลือกน้อยลง ประกอบกับข้อมูลข่าวสารจากเพื่อนหรือญาติที่ทำงานต่างแดนสร้างแรงจูงใจเพื่อย้ายถิ่นมากขึ้น

ภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญและอินเดียในฐานะ พี่ใหญ่ ของเอเชียใต้ มีประเทศสมาชิกประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ เนปาล ภูฏาน ปากีสถาน มัลดีฟส์ และศรีลังกา ต้องการรักษาภาวะผู้นำนี้ไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยเพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลจีนที่พยายามแทรกแซงเพื่อสร้างอิทธิพลเชิงเศรษฐกิจ การเมือง ในภูมิภาคนี้ รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุนการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเปิดโอกาสให้ทำงานโดยไม่กำหนดระยะเวลาการเป็นพลเมืองย้ายถิ่นเมื่อสำเร็จการศึกษา

ที่มา: https://bhutan.unfpa.org/en/node/15301
สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567

ภูฏานเป็นประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่ใช้ Gross Domestic Product (GDP) แต่ใช้ Gross National Happiness Index (GNH Index) เป็นดัชนีวัดคุณภาพชีวิตประชากร เมื่อโลกแคบลงด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร แรงงานย้ายถิ่นเป็นสิ่งที่ท้าทายโดยเฉพาะเยาวชน รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนสาระและการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


เอกสารอ้างอิง

  • https://www.reuters.com/world/asia-pacific/bhutans-jobs-woes-drive-an-exodus-australia-2023-07-28/ สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567
  • https://scroll.in/article/1064266/why-the-exodus-from-bhutan-of-young-people-and-qualified-workers-is-a-worry-for-india สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567
  • https://thebhutanese.bt/32382-2/ สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567
  • https://thebhutanese.bt/the-australia-reality/#google_vignette Retrieved สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2567

ภาพประกอบ freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Related Posts
สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

พัฒนาชาติเพื่อการมีลูก

ภูเบศร์ สมุทรจักร

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th