สัดส่วนของผู้สูงอายุไทยที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก และเริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการไม่มีผู้ดูแลในบั้นปลายชีวิต จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในอดีตเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีอยู่ไม่ถึง 5% แต่ในปี 2464 ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 12% แน่นอนว่า ในอนาคตแนวโน้มการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก หากประเทศไทยยังไม่มีระบบรองรับภาวะสูงวัยโดดเดี่ยว
ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว โดยเฉพาะอยู่คนเดียวแบบไร้ญาติขาดมิตร หรือเรียกว่า อยู่คนเดียวอย่างแท้จริง โดยไม่มีครอบครัว ญาติพี่น้อง ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนจาก “กลุ่มเสี่ยง” เพราะไม่มีคนดูแล กลายเป็น “กลุ่มเปราะบาง”โดยทันที ไม่ว่าจะเป็นเปราะบางทางด้านสุขภาพกาย ใจ ความมั่นคงในชีวิต ที่อยู่อาศัย และการมีผู้ดูแล จนกลายเป็นวิกฤตประชากร และเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกๆ รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ควรถูกนิยามไว้เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง
คำว่า “ไร้ญาติขาดมิตร” เป็นคำหนึ่งที่เคยได้ยินกันมานาน แต่เป็นคำที่ทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า การไม่มีใครจริงๆ แบบไม่มีญาติพี่น้อง หรือลูกหลาน ไม่มีคนพึ่งพายามแก่ชรา ไม่มีคนดูแลในบั้นปลายชีวิต จนท้ายที่สุดเมื่อเสียชีวิตลง ต้องกลายเป็นศพผู้สูงอายุไร้ญาติ เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจยิ่งนัก
ปัจจุบันเราจะได้ยินข่าวเรื่องผู้สูงอายุเสียชีวิตอยู่คนเดียวในบ้านจากสื่อต่างๆ กว่าจะพบศพผู้สูงอายุท่านนั้น ก็เป็นเวลาหลายวันเพราะเสียชีวิตโดยไม่มีใครทราบ เนื่องจากไม่มีลูกหลาน หรือญาติพี่น้องพบเห็นความผิดปกติของการหายไป เช่นเดียวกับวิกฤตสังคมสูงวัยในประเทศญี่ปุ่น ที่ถือได้เป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่มีวัฒนธรรมแบบ “ตัวคนเดียว” (Solo Culture) หรือเรียกว่า “Ohitorisama” (โอฮิโตริซามะ) ผู้สูงอายุญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวคนเดียว และจากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครรู้
รูป: ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวรู้สึกเหงา
ที่มา: https://www.freepik.com/
การอยู่คนเดียวย่อมส่งผลกระทบด้านสุขภาพทางจิตใจของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหงา กังวล ซึมเศร้า สิ้นหวัง ไร้คุณค่า ข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2564* สะท้อนว่า หนึ่งในสี่ของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีความรู้สึก “กังวลกับการอยู่คนเดียว และกลัวตายคนเดียว”
“ไว้มาหาป้าอีกนะ ป้าจะได้ไม่เหงา”
“หนูมาคุยกับป้าบ่อยๆ สิ ป้าไม่มีใครเลย”
ประโยคเหล่านี้ มักได้ยินบ่อยครั้ง เมื่อครั้งที่นักวิจัยได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว นัยยะที่แฝงมากับบทสนทนาดังกล่าว ได้ทำให้นักวิจัยอย่างพวกเรารู้สึกถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ ความรู้สึกเหงา เศร้าใจ อยากมีคนคุยด้วย เป็นภาวะที่เรียกว่า “empty nest syndrome” หรือภาวะรังที่ว่างเปล่า ซึ่งผู้สูงอายุจะเกิดความรู้สึกเหงา ซึมเศร้า อันเนื่องมาจากการอยู่คนเดียว โดยมีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นของลูกหลานการอยู่เป็นโสด หรือการเสียชีวิตของคู่สมรส ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว ในวันที่มีอายุสูงขึ้น และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จะมีความต้องการการดูแลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจ รวมถึงต้องการผู้ดูแล ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกทางจิตใจที่จะอยู่ต่อไปอย่างมีเป้าหมาย
ดังนั้นในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม แต่ควรต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุให้เข้าถึงประชากรทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ครบถ้วน และเท่าเทียม โดยควรเน้นเรื่องระบบบริการทางสุขภาพและสังคม เพื่อรองรับกับการอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ
นอกจากการมีระบบบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวแล้วภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจใช้วิธีการขึ้นทะเบียนคนที่อยู่คนเดียวที่มีอายุใกล้ 60 ปี ที่กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงอายุ และมีความตั้งใจว่าจะอยู่คนเดียวในบั้นปลายชีวิต เพื่อเป็นการรองรับการดูแลระยะยาว นอกจากนี้ ควรบรรจุกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างรอบด้าน
*ข้อมูลงานวิจัยจาก: ศุทธิดา ชวนวัน, กาญจนา เทียนลาย, ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น, สิทธิชาติ สมตา และวิชาญ ชูรัตน์. (2565). โครงการการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
กาญจนา เทียนลาย
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
พรสุรีย์ จิวานานนท์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
ศุทธิดา ชวนวัน
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
กาญจนา เทียนลาย
กาญจนา เทียนลาย
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
อมรา สุนทรธาดา
วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
ณปภัช สัจนวกุล
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
อมรา สุนทรธาดา
รศรินทร์ เกรย์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล