The Prachakorn

ผู้สูงอายุคนหนึ่งในสถานการณ์โควิด-19


ปราโมทย์ ประสาทกุล

11 มิถุนายน 2564
777



ทุกวันนี้ผมติดตามข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนคนติดยาเสพติด

โควิด-19 ระลอกใหม่กำลังโจมตีประเทศไทยอย่างหนัก วันที่ผมเขียนบทความนี้ (14 พฤษภาคม 2564) มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตัวนี้สะสมถึงเกือบแสนคนแล้ว วันสองวันมานี้ มีผู้ที่ป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึงวันละประมาณ 2 พันคนในจำนวนผู้ป่วยหนักมีรายที่อาการหนักมากถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวนเกินหลัก 400 คนแล้ว

ผมสนใจตัวเลขจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยหนักมากถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผมวาดภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่าต้องมีความเป็นพิเศษ ทั้งสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องแต่งกายด้วยชุดที่มิดชิดรัดกุม เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ ชุดที่ใส่เหมือนชุดของมนุษย์อวกาศ ร่างกายของคนทำงานที่ต้องอยู่ในชุดที่ปิดมิดชิดอย่างนั้น คงจะร้อนอบอ้าวและทรมาน ชุดอย่างนั้นจะสวมใส่หรือเปลี่ยนแต่ละทีคงลำบากยากเย็นมากทีเดียว

ผมเคยได้ยินตัวเลขจำนวนเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่จำไม่ได้ว่ามีกี่เครื่อง แต่พอจะรู้ว่าเรามีอยู่อย่างจำกัด ถ้าตัวเลขผู้ป่วยหนักที่ต้องรับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นวันละ 2 พันรายเช่นนี้ อีกไม่กี่วันประเทศไทยคงต้องประสบกับภาวะวิกฤติอย่างแน่นอน ห้องและเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรพิเศษเหล่านี้ จะมีเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยอาการหนักเหล่านี้หรือไม่

เมื่อปีที่แล้วผมโทรศัพท์คุยกับเพื่อนที่ลงหลักปักฐานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่นั่นค่อนข้างน่ากลัว คนอเมริกันติดเชื้อและผู้ป่วยมีอาการหนักพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลมีคนป่วยเต็มไปหมด เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับผู้ป่วยที่ทะลักเข้าโรงพยาบาลเหมือนเขื่อนแตก เพื่อนเล่าว่าใครติดเชื้อแล้วป่วยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล พอนำส่งที่ทางเข้าโรงพยาบาลแล้วก็กล่าวอำลากันได้เลย เพราะจะไม่มีโอกาสได้เห็นกันอีก แม้แต่ร่างกายที่หมดลมหายใจไปแล้ว

ทุกวันนี้ผมดูข่าววิกฤติโควิด-19 ในประเทศอินเดียอย่างสลดหดหู่ใจ จนไม่อยากติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้อีกแล้ว...แต่ก็อดไม่ได้

ผมได้แต่ภาวนาขออย่าให้โควิด-19 ยกระดับความรุนแรงจนเป็นวิกฤติเกิดขึ้นกับคนไทยเลย...เพี้ยง

คุณฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง

ระยะนี้ (กลางเดือนพฤษภาคม 2564) เจอหน้าใครก็มักจะถามกันว่า “ฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง” สำหรับผมเมื่อถูกถาม ก็จะตอบว่า “นัดฉีดแล้ว ได้คิวนัดวันที่ 11 เดือนหน้า” มีคนหนึ่งมองหน้าผมด้วยแววตาสงสัย แล้วถามกลับว่าทำไมผมฉีดช้าจัง เพราะเขาฉีดไปครบแล้วทั้ง 2 เข็ม ผมได้ตอบไปด้วยน้ำเสียงเจียมตัวว่า ลูกชายของผมเป็นคนจองคิวให้ตามระบบ ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ได้คิวฉีดเวลา 15.00 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่โรงพยาบาลพุทธมณฑล

ผมจองคิวได้ตั้งแต่ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ลำพังตัวเองคงไม่มีปัญญาและความกระตือรือร้นที่จะจองคิวฉีดวัคซีน ลูกชายของผมทั้งครอบครัวมาจากกรุงเทพฯ มาจัดการทุกอย่างให้ เขาใช้เวลาไม่นาน คนรุ่นใหม่จะคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชัน โทรศัพท์มือถือ และการใช้อินเทอร์เน็ตกว่าคนรุ่นผมมาก

ผู้สูงอายุอย่างผมจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ กลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ตามคิวที่ได้จองไว้ตั้งแต่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป

ผู้สูงอายุค่อนข้างเปราะบางเพราะถ้าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เสี่ยงที่จะมีอาการป่วยหนักและเสียชีวิตสูง จริงๆ แล้วผมไม่อยากอยู่ในกลุ่มที่ได้ลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนก่อนคนวัยอื่นเลย ผู้สูงอายุควรอยู่ในลำดับความสำคัญหลังคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนใช้แรงงานที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านคนมีรายได้น้อย คนที่ต้องพบปะผู้คนมากมาย เช่น คนขับรถเมล์ คนขับรถแท็กซี่ แรงงานรับจ้าง พ่อค้า แม่ค้า พวกเขาเหล่านั้นมีโอกาสเสี่ยงสูง และถ้าติดเชื้อ ชีวิตของพวกเขาก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ผู้มีรายได้น้อยมักอยู่กันอย่างแออัดในที่อยู่อาศัยที่คับแคบ ยากต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม เมื่อติดเชื้อแล้วก็อาจนำเชื้อไปแพร่ให้กับคนในครอบครัวต่อไปอีก

ผมเชื่อว่าพวกเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ผมยังมองโลกในแง่ดี วันหนึ่งอีกไม่นานคนไทยจะมีภูมิคุ้มกันซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือจากวัคซีน หรือไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์ให้ลดความดุร้ายลง ในอนาคต โควิด-19 อาจจะกลายเป็นเชื้อไข้หวัดธรรมดาๆ ที่เป็นกันทั่วไปก็ได้

ผู้สูงอายุจะมีความสุขในสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างไร

ผมรู้ตัวว่าเมื่อมีอายุถึงวัยนี้ ผมก็มีเวลาที่จะมีชีวิตเหลืออีกไม่นาน วันเวลาผ่านไปเร็วมาก ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ ผมสังเกตว่าเดี๋ยวนี้ แต่ละสัปดาห์ผ่านไปเร็วเหลือเกิน

ในประชากรและการพัฒนาฉบับก่อน ผมได้รวบรวมหลักปฏิบัติ 15 ข้อ เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีพลังมานำเสนอไว้ มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งถามผมว่า ผมปฏิบัติตามได้กี่ข้อ ผมตอบว่าทำได้เกือบทุกข้อ แต่ทำได้ในระดับที่มากน้อยต่างกัน บางข้อทำได้น้อย เช่น ไม่กินมากเกินไป ไม่นิ่งอยู่กับที่นานเกินไป บางข้อทำได้ดีมาก เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การมีหลักปฏิบัติให้ยึดถือไว้ก็ช่วยเตือนใจให้เราดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ

เพื่อนชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งส่ง “อาหารเพื่อความคิด” มาให้ผมทางอีเมลบ่อยๆ วันนี้เขาส่งความคิดของศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยา (Physiology) ชื่อดังชาวรัสเซียมาให้อ่าน ศ.พาฟลอฟ กล่าวว่า “ความสุขเป็นความลับอย่างเดียวของสุขภาพ” และ “ความสุขกับสุขภาพมีความเชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติ”

ศ.พาฟลอฟ ให้ข้อคิดมา 10 ข้อว่าเราจะทำตัวให้มีความสุขมากขึ้นเมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุได้อย่างไร ผมขอนำข้อคิดบางอย่างมาสรุปไว้โดยไม่เรียงเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

ถ้าคุณอายุ 65 - 85 ปี เราควรจะเข้าใจว่า...

คุณไม่ใช่ซุปเปอร์แมนอีกต่อไปแล้ว อย่าโหมทำงานหนักตลอดทั้งวัน คุณควรมีชีวิตอยู่อย่างสงบ คุณภาพชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับจิตใจของคุณ อย่าทำตัวให้เป็นคนแปลกแยกในครอบครัว ควรมองคนในแง่ดี การเรียนรู้ยังเป็นเรื่องจำเป็น ให้ความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าทำในสิ่งที่คุณสนใจอย่างเช่น การใช้อินเทอร์เน็ต ชอปปิงออนไลน์ พึ่งตัวคุณเองย่อมดีกว่าพึ่งคนอื่น มีความเชื่อมั่นในตนเอง เรียนรู้และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สถานะและเกียรติยศเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความดีงามของคุณ สำนึกในบุญคุณของทุกคนและสิ่งต่างๆ ขอบคุณครอบครัว การงานและเพื่อนฝูง ยิ้มไว้เสมอ อย่าจริงจังกับชีวิตมากเกินไป มีอารมณ์ขันและทำชีวิตให้มีแต่เรื่องหัวเราะ ความสุขสุดยอดคือการที่มีคนดูแลคุณ ถ้าไม่มีคนดูแล คุณก็ดูแลตัวเอง พักผ่อน ออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ฝึกสมองของคุณด้วยวิธีที่สนุกและตื่นเต้น อย่าไปกังวลกับเรื่องใหญ่ระดับชาติที่คุณไม่สามารถจัดการได้ อย่าเป็นคนแก่ช่างโกรธ อย่าเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น

ตอนนี้ผมกำลังสร้างสมดุลระหว่างเรื่อง 4 เรื่องของตัวผม 1) ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัส 2) ทำงานให้เสร็จสิ้นตามเวลาที่ตั้งใจ 3) ติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงตามสมควร และ 4) รักษาสภาพจิตใจตัวเองให้มีความสุข

ในเรื่องสุดท้ายที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขนี้ ผมจะทดลองนำประเด็นที่ ศ.พาฟลอฟแนะนำไปปฏิบัติตาม ผมคิดว่าข้อคิดเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ทำให้ผมมีความสุขซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของผมนะครับ

ภาพโดย: ปราโมทย์ ประสาทกุล

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th