The Prachakorn

วัคซีนเพื่อผู้ลี้ภัยเริ่มขึ้นแล้วที่จอร์แดน


ศิรดา เขมานิฏฐาไท

26 มกราคม 2564
412



ในขณะที่แต่ละประเทศกำลังหาหนทางที่จะทำให้วัคซีนป้องกันการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ถึงมือประชาชนในชาติให้เร็วที่สุด ประเทศจอร์แดนกลับทำในสิ่งที่ล้ำหน้าใคร ๆ นั่นคือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับผู้ลี้ภัย ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำเช่นนี้

หญิงผู้ลี้ภัยชื่อ Raia AlKabasi เป็นผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนกับสำนักข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) คนแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยได้รับวัคซีนไปเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เธอลี้ภัยมาจากประเทศอิรักและอาศัยที่เมืองอิร์บิด ทางตอนเหนือของประเทศจอร์แดน1 ทั้งนี้ในวันเดียวกันมีผู้ลี้ภัยชาวอิรักและซีเรียรวม 43 คนที่เดินทางจากค่ายผู้ลี้ภัย Zaatari ที่ได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน และนับจากวันนั้นมีผู้ลี้ภัยในจอร์แดนมากกว่าร้อยคนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว

Raia AlKabasi ผู้ลี้ภัยคนแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 (ภาพจาก UNHCR Jordan)

จอร์แดนมีแผนวัคซีนโควิด 19แห่งชาติที่ระบุว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนของจอร์แดนทุกคนจะได้รับวัคซีนฟรีแม้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิง (asylum seeker) ก็ตาม โดยรัฐบาลจอร์แดนวางแผนจะฉีดวัคซีนให้ประชากร 20% ของประชากรทั้งหมดภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจะได้รับวัคซีนก่อนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสถานะความเป็นพลเมือง และจะไม่มีการแบ่งประเภทวัคซีนให้แตกต่างกัน

นโยบายเรื่องวัคซีนโควิด 19สำหรับผู้ลี้ภัยในจอร์แดนนั้น ครอบคลุมทั้งผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเมือง (urban refugees) และผู้ลี้ภัยที่อาศัยในค่าย (refugee camps) ผู้ลี้ภัยที่อาศัยในเมืองซึ่งคิดเป็น 80% ของผู้ลี้ภัยในจอร์แดนทั้งหมดสามารถรับวัคซีนที่คลินิกท้องถิ่นได้ ส่วนผู้ที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยจะได้รับวัคซีนโดยอยู่ภายใต้การทำงานประสานระหว่าง UNHCR และกระทรวงสาธารณสุข2

ไม่ใช่แค่นโยบายวัคซีน แต่ผู้ลี้ภัยได้รับการเอาใจใส่โดยระบุในนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 ของจอร์แดน ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขเหมือนพลเมืองชาวจอร์แดน  ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยในจอร์แดนที่ลงทะเบียนกับ UNHCR มีจำนวนกว่า 752,193 คน และ 88 % ของผู้ลี้ภัยจำนวนนี้มาจากซีเรีย ส่วนที่เหลือมาจากอิรัก เยเมน ซูดาน โซมาเลีย และยังมีชาวปาเลสไตน์ที่องค์การเพื่อการบรรเทาทุกข์และการทำงานของสหประชาชาติ (UNRWA) ดูแล ส่วนค่ายผู้ลี้ภัยในจอร์แดนมีอยู่สองแห่งคือ Zaatari และ Azraq

ค่ายผู้ลี้ภัย Zaatari (ภาพโดย Raad Adayleh -AP)

ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยในค่ายในจอร์แดนที่ติดเชื้อโควิด 19มีเกือบ 2 พันคน ซึ่งปัจจุบันหายเป็นปกติได้เกือบ 90 % หากเทียบสัดส่วนแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อในหมู่ผู้ลี้ภัยอยู่ที่ 1.6 % ซึ่งนับว่าต่ำกว่า สัดส่วนของผู้ติดเชื้อในประชากรจอร์แดนทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 3 % แม้ว่าผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข แต่มาตรการล็อกดาวน์ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ จนถึงขั้นบ่นกันว่าอาจจะตายเพราะความอดอยากมากกว่าตายเพราะโควิด 193

ความจริงการกระจายวัคซีนให้ถึงประชากรชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศมิใช่เรื่องแปลกประหลาดนัก หากอยู่ในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ผนวกประชากรชาวต่างชาติอยู่ในแผนโดยไม่แบ่งแยกออกจากคนชาติ แต่หากอยู่ในบริบทประเทศกำลังพัฒนาก็ดูจะน่าแปลกใจ เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนมากยังคงเผชิญปัญหาการป้องกันแก้ไขปัญหาโควิด 19ในหมู่แรงงานข้ามชาติ มิต้องพูดถึงการให้วัคซีน มากไปกว่านั้น กลุ่มผู้ลี้ภัยมักเป็นกลุ่มที่ถูกให้ความสำคัญน้อยสุดในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นประเทศผู้รับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ลี้ภัยมิได้ถูกมองเป็นสมาชิกของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศผู้รับก็ดี หรือเหตุผลเชิงประสิทธิผลเพื่อจัดการทรัพยากรก็ดี รวมถึงทัศนคติชาตินิยมของประชาชนของประเทศผู้รับเองก็ดี ประเทศผู้รับจึงไม่เห็นความจำเป็นและอาจไม่มีความสามารถในการดำเนินนโยบายให้ครอบคลุม

จอร์แดนนั้นมีแผนทางสาธารณสุขรองรับผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด และมีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัยมาเสมอ ในด้านหนึ่งจอร์แดนมองเห็นความจำเป็นในการผนวกผู้ลี้ภัยเข้ามาเพื่อบรรลุเป้าหมายของการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ผู้ลี้ภัยคือสมาชิกในสังคม หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พวกเขามีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปให้ประชาชนได้

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ลี้ภัยในจอร์แดนเป็นแหล่งรายได้ของเงินทุนจากต่างประเทศในนามของการพัฒนาระหว่างประเทศ จอร์แดนเป็นประเทศผู้รับที่อาศัยเงินช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกเพื่อดำเนินการทางมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยสูงมาก แคนาดาเป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศผู้บริจาคหลัก ซึ่งในช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 แคนาดาตั้งใจจะบริจาคเงินจำนวนเกือบ 5 หมื่นล้านบาทให้จอร์แดนและเลบานอนเพื่อดูแลผู้ลี้ภัยที่มาจากซีเรียและอิรัก4 นอกจากนี้วิกฤตผู้ลี้ภัยกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของจอร์แดน เพราะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจทางอ้อมจากการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในเขตแดนเป็นจำนวนมาก ข้อตกลง Jordan Compact ที่ทำร่วมกับนานาชาติในปี 2016 เพื่อสร้างงานให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน ได้ส่งเสริมการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และทำให้สหภาพยุโรปผ่อนคลายหลักเกณฑ์การค้ากับจอร์แดน5 ถึงแม้ผลลัพธ์ของข้อตกลงดังกล่าวยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมจอร์แดนจึงมิได้กีดกันผู้ลี้ภัย

ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ จอร์แดนเองพยายามทำให้นานาชาติมองเห็นความตั้งใจในการดูแลผู้ลี้ภัยเสมอมา ซึ่งตามประวัติศาสตร์จอร์แดนเคยพยายามตีฆ้องร้องป่าวเรื่องจำนวนผู้ลี้ภัยชาวอิรักที่มีมหาศาลหลังสงครามอิรักปี 2003 ส่วนการสร้างค่ายผู้ลี้ภัยหลังวิกฤตซีเรียเป็นการตอกย้ำภาพให้ชัดเจนว่าจอร์แดนกำลังประสบปัญหาอะไร และพร้อมช่วยบรรเทาปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างไร ซึ่งสมประโยชน์กับโลกตะวันตกที่มีแนวโน้มที่จะเสนอเงินบริจาคให้ประเทศโลกที่สาม แทนที่จะรับผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลเข้าประเทศของตัวเอง6 การฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ผู้ลี้ภัยเป็นประเทศแรกของโลก จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงให้นานาชาติเห็นถึงบทบาทที่สมบูรณ์ของจอร์แดนในฐานะประเทศผู้รับ

นอกจากนี้การฉีดวัคซีนโควิด 19ให้ผู้ลี้ภัยยังเป็นวาระหลักอันหนึ่งของ UNHCR ซึ่งเดิมมีความร่วมมือกับรัฐบาลจอร์แดนในการดูแลผู้ลี้ภัยมาตลอด โดย UNHCR เองต้องการผลักดันวาระเรื่องความรับผิดชอบของประเทศผู้รับต่อการฉีดวัคซีนโควิด 19สำหรับผู้ลี้ภัย จอร์แดนกลายเป็นประเทศตัวอย่างที่ทำให้อีก 24 ประเทศตกลงให้ข้อผูกมัดที่จะวางแผนทำในสิ่งเดียวกัน และเนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนมากอาศัยในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งประเทศเหล่านี้เข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ยากอยู่แล้ว UNHCR ก็สามารถใช้เรื่องราวของประเทศจอร์แดนเพื่อรณรงค์ผ่าน COVAX Facility ให้นานาชาติช่วยสนับสนุนประเทศผู้รับที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดูแลจัดหาวัคซีนให้ผู้ลี้ภัย


อ้างอิง

  1. MEE and agencies. (2021, January 18). Covid-19: Jordan becomes first country in the world to vaccinate refugees. Middle East Eye. https://www.middleeasteye.net/news/covid-19-jordan-first-country-world-vaccinate-refugees?fbclid=IwAR27cT9HBgb7ELbepCqKUS8s8qqccz8g5ixoY33xENvKk6STKAGUzBtoOR0
  2. United Nations Jordan. (2021, January 14). First refugee COVID-19 vaccinations commence in Jordan.  https://jordan.un.org/en/107846-first-refugee-covid-19-vaccinations-commence-jordan
  3. Al-Arshani, S., & Snodgrass, E. (2021, January 16). Jordan is one of the first countries to start COVID-19 vaccinations for refugees. Insider. https://www.insider.com/jordan-one-first-countries-to-vaccinate-refugees-for-covid-19-2021-1
  4. The Canadian Press. (2021, January 15). Canada says first COVID-19 vaccine for refugees in Jordan offers glimmer of hope. CTVNews. https://www.ctvnews.ca/canada/canada-says-first-covid-19-vaccine-for-refugees-in-jordan-offers-glimmer-of-hope-1.5268737
  5. Huang, C., & Gough, K. (2019, March 11). The Jordan Compact: Three Years on, Where Do We Stand? Center For Global Development. https://www.cgdev.org/blog/jordan-compact-three-years-on
  6. Tsourapas, G. (2019). The Syrian Refugee Crisis and Foreign Policy Decision-Making in Jordan, Lebanon, and Turkey. Journal of Global Security Studies, 4(4), 464–481. https://doi.org/10.1093/jogss/ogz016


CONTRIBUTOR

Related Posts
พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th