The Prachakorn

การตายจากโควิด-19: ตัวเลขที่เห็นกับผลกระทบที่แท้จริง


มนสิการ กาญจนะจิตรา

22 ตุลาคม 2564
894



ผลกระทบอันเลวร้ายจากการระบาดของโควิด-19 คือ การเสียชีวิตของผู้คนมากมายรอบโลก ทุกเช้าเราจะเห็นรายงานผู้เสียชีวิตรายใหม่ ที่สะท้อนถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เราเห็นในแต่ละวัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบของโรคต่อการสูญเสียชีวิตเท่านั้น

ในความเป็นจริง โควิด-19 ส่งผลต่อการตายมากกว่าตัวเลขที่รายงานอย่างเป็นทางการ เพราะโควิด-19 ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเสียชีวิต The Economist ได้ให้เหตุผลไว้ 3 ประการ ว่าทำไมตัวเลขการตายจากการติดโควิด-19 ที่แต่ละประเทศรายงานจึงไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์การระบาดได้ทั้งหมด ประการแรก คือ ตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในหลายประเทศ ไม่ได้รวมผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ ซึ่งในความเป็นจริงยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการตรวจเชื้อ ประการที่สอง ข้อมูลการเสียชีวิตต้องใช้เวลาในการดำเนินการออกใบมรณบัตร ข้อมูลจึงมีความล่าช้า ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที และประการสุดท้าย คือ การมีโรคระบาดทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โรงพยาบาลหลายแห่งเตียงเต็ม แพทย์มีคนไข้ล้นมือ บวกกับความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการไปใช้บริการในสถานพยาบาล ทำให้ประชาชนโดยรวมใช้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพลดลง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นกว่าภายใต้สถานการณ์ปกติ

การตายส่วนเกิน (excess mortality) เป็นสถิติเกี่ยวกับการตายที่สามารถสะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์โรคระบาดได้ดีกว่าตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยตรง การตายส่วนเกินเป็นการเปรียบเทียบจำ.นวนการเสียชีวิตทั้งหมดจากทุกสาเหตุ กับการคาดประมาณการเสียชีวิตหากอยู่ภายใต้สถานการณ์ปกติ นั่นหมายความว่า การเสียชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเกิดจากโควิด-19 หรือไม่ หากสูงกว่าตัวเลขการคาดประมาณ จะถือว่าเป็นการตายส่วนเกิน ที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง

ข้อมูลจาก The Economist ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า การตายส่วนเกินจากทั่วโลกในช่วงโรคระบาดนี้อยู่ที่ราว 7-13 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าตัวเลขการตายจากโควิด-19 ถึง 2-4 เท่า ความแตกต่างระหว่างสถิติทั้งสองนี้ แสดงให้เห็นว่าตัวเลขการตายจากโควิด-19 สะท้อนผลกระทบของโควิด-19 ต่ำเกินไปจริงๆ

สำหรับประเทศไทย อัตราตายส่วนเกินถือว่าไม่ได้สูงมากเทียบกับนานาประเทศ อยู่ที่ราว 22 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน (ข้อมูลคำนวณจากช่วง 1 เมษายน 2564–31 กรกฎาคม 2564) นั่นคือ จากประชากรหนึ่งแสนคนจะมีคนไทยที่ตายเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับภาวะปกติ 22 คน ซึ่งเป็นการตายจากทุกสาเหตุ เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราตายส่วนเกินสูงกว่าประเทศไทยมากที่ 228 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน (ข้อมูลคำนวณจากช่วง 8 มีนาคม 2564–7 สิงหาคม 2564) ซึ่งสูงกว่าประเทศไทย 10 เท่า

ถึงแม้การตายส่วนเกินของประเทศไทยไม่ได้สูงมากแต่จำนวนการตายส่วนเกินของประเทศไทยสูงกว่าจำนวนการตายจากโควิด-19 ที่ทางการรายงานกว่า 3 เท่า (จำนวนการตายส่วนเกิน 14,660 ราย เปรียบเทียบจำนวนการตายจากโควิด 4,850 ราย) ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีความแตกต่างระหว่างจำนวนการตายส่วนเกินกับจำ.นวนการตายจากโควิดต่ำกว่ามาก (จำนวนการตายส่วนเกิน 745,780 ราย เปรียบเทียบกับจำนวนการตายจากโควิด 608,070 ราย) ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่าตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทย ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดได้จริงๆ

การตายส่วนเกิน จึงเป็นสถิติสำคัญที่ควรถูกประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักและรับรู้กับสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้นและควรเป็นตัวเลขที่รัฐบาลควรต้องใช้ควบคู่ไปกับตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิด-19 เพื่อวางมาตรการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.infoquest.co.th/2021/118554 สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2564


อ้างอิง

https://www.economist.com/graphic-detail/coronavirus-excess-deaths-tracker   สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2564



CONTRIBUTOR

Related Posts
COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

แก่นเรื่อง

วรชัย ทองไทย

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

กลับบ้าน...ไม่ถึงบ้าน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

รำพึงรำพันวันสงกรานต์ 2562

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th