“Playdate” หรือ การนัดเล่น หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้กันมาบ้างแล้ว แต่ผู้เขียนสารภาพว่าเพิ่งเคยได้ยินครั้งแรกเมื่อตอนต้นปี 2563 ที่ไวรัสหน้าใหม่กำลังเริ่มระบาดไปทั่วโลก จากการสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันกับเพื่อนที่อยู่ในต่างประเทศ พวกเราเล่าสารทุกข์สุกดิบตามประสาเพื่อนเก่าที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยใส่คอซองไปเรียนหนังสือ ตอนนี้เพื่อนรักมีครอบครัวที่อบอุ่นอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นคุณแม่เต็มเวลา (fulltime mom) ที่ดูแลลูกชาย 2 คน พวกเรามักแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการเลี้ยงลูกกันอยู่เสมอ ด้วยแนวทางการเลี้ยงลูกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เข้าใจลูกและส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ตามธรรมชาติ ตามศักยภาพ และตามความสนใจ ไม่เร่งรัด ไม่กดดัน ไม่คาดหวัง ในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พวกเราติดตามสถานการณ์ของทั้งสองประเทศมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการของโรงเรียนลูกๆ ซึ่งกระทบกับการบริหารจัดการในบ้านอยู่มากทีเดียว
“ข้าวเม่า” และ “ข้าวใหม่” อายุ 10 และ 4 ปี กำลังเรียนในระบบโฮมสคูล (homeschool) ส่วนมากจะใช้เวลาเรียนอยู่ที่บ้าน โดยมีคุณแม่เป็นผู้จัดการตารางการเรียนและดูแลให้ทำงานส่งคุณครูที่โรงเรียนให้ครบถ้วน รวมทั้งสอนการบ้านให้ลูกๆ ด้วย ตามปรกติ ข้าวเม่าพี่คนโตจะต้องไปทำกิจกรรมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 1-2 วัน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กได้เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน และนัดพบกันหรือมีงานปาร์ตี้บ้างตามโอกาส ส่วนข้าวใหม่น้องเล็กยังไม่ได้ไปโรงเรียน เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนต้องปิดทำการซึ่งทอดระยะเวลายาวนานมาเป็นปีแล้ว เพราะต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้เด็กๆ ไม่ได้พบกัน ไม่ได้ไปเรียน และไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ ในช่วงเวลานี้ “การนัดเล่นเสมือน (virtual playdate)” จึงเป็นทางเลือกสำหรับเด็กเมื่อต้องล็อกดาวน์ (lockdown) อยู่แต่ในบ้าน
ภาพข้าวใหม่ใส่แว่นป้องกันแสงสีน้ำเงิน (blue light) กำลังเรียนคณิตศาสตร์กับโปรแกรม Funnix (ได้รับอนุญาตจากคุณแม่ให้เผยแพร่)
ภาพข้าวเม่านัดเล่นเกม Minecraft กับเพื่อนออนไลน์ตามช่วงเวลาที่คุณแม่กำหนดไว้
(ได้รับอนุญาตจากคุณแม่ให้เผยแพร่)
คุณแม่เอ๋ เล่าว่า ทั้งข้าวเม่าและข้าวใหม่มี playdate กับเพื่อนๆ อยู่เป็นประจำ ข้าวเม่าเริ่มโฮส (host) เกม Minecraft มาตั้งแต่ 6 ขวบ เล่นกับเพื่อน 1-2 คน แค่นาน ๆ ครั้งตั้งแต่โรงเรียนหยุดเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563 หลังจากนั้น ก็มีเพื่อนเข้ามาเล่นด้วยมากสุดถึง 12 คน ข้าวเม่าจะมีนัดทุกวันจันทร์และวันศุกร์ เวลา 5 โมงเย็น คุณแม่จะจำกัดเวลาเล่นเกมแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยจะโฮสโปรแกรมซูม (Zoom) พร้อมกันไปด้วยเพื่อให้เห็นหน้าเพื่อนๆ ของน้องระหว่างที่เล่นเกมกัน ส่วนข้าวใหม่น้องเล็กจะร่วมเล่นกับเพื่อนๆ ของพี่ข้าวเม่าจนกลายเป็นเพื่อนตัวเองไปแล้ว แม้จะอ่านข้อความ (chat) ที่พี่ๆ พิมพ์คุยกันไม่ออกแต่ก็ฟังคำบรรยาย (narrator) ได้ กิจกรรมที่เด็กๆ ทำร่วมกันเป็นไปตามวัยและความสนใจ เช่น การทำฟาร์มไข่อัตโนมัติ ซึ่งจะต้องใช้ความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมควบคู่ไปด้วย การทำพ็อดคาสต์ (podcast) ในประเด็นที่สนใจเพื่อส่งคุณครู นัดมาคุยเล่น อ่านหนังสือด้วยกัน เล่นบอร์ดเกม เล่นเกมสายลับ (คุณแม่บอกว่า เด็กๆ จะคิดกิจกรรมกันเอง ) ไม่เพียงแต่ playdate ออนไลน์เท่านั้น กิจกรรมอื่นๆ ของข้าวเม่าก็เปลี่ยนมาเป็นแบบออนไลน์แทบทั้งสิ้น เช่น การเรียนดนตรี และการเรียนเทควันโด โชคดีที่ข้าวเม่าได้มีโอกาสไปเรียนกับคุณครูแบบพบหน้ากันมาก่อน ทำให้มีพื้นฐานมาต่อยอดเรียนแบบออนไลน์ได้
ภาพข้าวเม่ากำลังสอบเทควันโดเพื่อเลื่อนสาย (ได้รับอนุญาตจากคุณแม่ให้เผยแพร่)
ภาพข้าวเม่ากำลังเรียนเปียโนแบบออนไลน์ (ได้รับอนุญาตจากคุณแม่ให้เผยแพร่)
Playdate สามารถช่วยสร้างโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกคนเดียว ไม่มีญาติพี่น้องที่เป็นเด็กวัยใกล้เคียงกันในบ้านได้มาเล่นด้วยกัน playdate ช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ พัฒนาทักษะทางสังคม ส่งเสริมความมั่นใจในตัวเองและการนับถือตนเอง ส่งเสริมสุขภาพทางกาย เสริมสร้างสมาธิการจดจ่อ และ พวกเขาอาจจะได้เป็นเพื่อนกันตลอดไป1 นอกจากประโยชน์ที่หลากหลายของการได้เล่นแล้ว การเล่นกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่มีจินตนาการล้ำๆ น่าจะสนุกกว่าเล่นกับผู้ใหญ่ที่สมองคอยคิดแต่เรื่องงานเป็นแน่
ผู้เขียนได้ลองค้นหากิจกรรมสนุกๆ และเหมาะกับสถานการณ์มาแนะนำ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังหลังชนฝา เช่น การสร้างงานศิลปะตามจินตนาการด้วยสิ่งที่หาได้ในบ้านไปพร้อมกับเพื่อนแล้วนำเสนองานศิลปะนั้นให้กันและกันฟัง หรือ จะสร้างอาณาจักรหรือป้อมปราการในบ้านที่เชื่อมโยงเรื่องราวกับของเพื่อน (คุณพ่อคุณแม่น่าจะพอนึกออกว่าหน้าตาจะคล้ายการตั้งแคมป์ในบ้านนั่นเอง) หากเพื่อนๆ มีบอร์ดเกมเหมือนกันอย่างบิงโกอาจจะร่วมเล่นด้วยกันผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ได้ หรือ โปรแกรมหมากรุกแบบออนไลน์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การทำอาหารหรือทำขนมอย่างเดียวกัน ระหว่างนี้เด็กๆ จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนหรือสอนวิธีการทำ หรือ จะเป็นการแสดงละครหรือเล่นบทบาทสมมติที่ได้รับมอบหมายผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) ก็ไม่ผิดกติกา
แม้ virtual playdate จะพอสร้างความสุขให้เด็กไม่เหงาที่ต้องเล่นคนเดียว แต่คงเทียบไม่ได้เลยกับการที่ได้ไปโรงเรียน หวังว่าในเร็ววันนี้ เด็กๆ จะได้ไปโรงเรียน ได้ไปวิ่งเล่น สูดหายใจได้เต็มปอด ยิ้ม หัวเราะได้กว้างที่สุด นั่งกินข้าวกลางวันด้วยกันที่โรงอาหาร และแบ่งปันขนมกันอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นประสบการณ์ตามวัยที่พวกเขาสมควรจะได้รับ ... ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนผ่าน วิกฤตนี้ไปให้ได้ค่ะ
อ้างอิง
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,พรสุรีย์ จิวนานนท์
กาญจนา เทียนลาย
สลาลี สมบัติมี
ปาริฉัตร นาครักษา