The Prachakorn

ประสบการณ์การติดเชื้อโควิด-19  ตอนที่ 1: สวัสดี...โควิด-19


กาญจนา เทียนลาย

21 ธันวาคม 2564
3,765



ในยุคนี้ หากจะกล่าวถึง “โควิด-19” คงจะมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก อย่างไรก็ตาม เรามาทำความรู้จักเจ้าโควิด-19 ในมุมมองของผู้เขียนกันสักเล็กน้อย 

เจ้าโควิด-19 ที่เอ่ยถึงในเรื่องนี้ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เริ่มมีการระบาดตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า SARS-CoV-2

เจ้าโควิด-19 ได้เริ่มแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่นของจีน และแพร่ระบาดไปเกือบทุกประเทศในโลก ซึ่งผลกระทบของระบาดนี้นับว่าสาหัสพอสมควรและยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับการทำลายล้างให้กับประชากรโลกในเร็ววัน ในฐานะที่เรามีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับตัวเลขที่เกี่ยวกับประชากร และบ่อยครั้งที่เขียนบทความเกี่ยวกับสถิติ จึงขอนำเสนอตัวเลขให้เห็นว่า ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2564 (กินเวลาราว 2 ปี ตั้งแต่มีการระบาด) 

ทั่วโลก

  • มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จำนวน 271,275,804 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 แล้ว จำนวน 5,332,241 ราย

การระบาดนี้ หากคิดเฉลี่ยจะเห็นว่า ในแต่ละวันจะมีคนติดเชื้อราวๆ 3.7 แสนคน หรือเกือบ 4 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าตกใจเลยทีเดียว 

ประเทศไทย 

  • มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จำนวน 2,174,906 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 แล้ว จำนวน 21,229 ราย

สำหรับในบ้านเราเอง ก็มีการระบาดมาแล้ว 3-4 ระลอก เมื่อเห็นว่าบางคนอาการรุนแรง และเสียชีวิต ก็ได้แต่ภาวนาในใจมาตลอดว่า ขอให้รอดพ้นจากเจ้าโควิด-19 นี้ด้วยนะ ลูกชั้นยังไม่โต ขอเลี้ยงลูกก่อน แนวทาง new normal ก็เอามาใช้ตลอด แต่สุดท้ายก็ยังไม่ดีพอที่จะทำให้เรารอดพ้นจากเจ้าโควิด-19 ได้ 

เรื่องมันมีอยู่ว่า ราวๆ กลางเดือนพฤศจิกายน (ปี 2564) เป็นช่วงที่อุณหภูมิของบ้านเราลดลง ทำให้ในบางพื้นที่เริ่มมีความหนาวเย็นเข้ามาปกคลุม สามีเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนคนจะเป็นหวัด และไอแห้ง เขาก็คิดว่าเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนจึงทำให้เป็นหวัด วันต่อมาจึงไปซื้อยาแก้ไอที่ร้านขายยาและลองซื้อชุดตรวจโควิด-19 มา 2 ชุด จะให้ลูกสาวได้ทดลองตรวจเพื่อลองซ้อมเตรียมตัวไปโรงเรียนหลังจากที่ปิดเทอมยาวนานมา 8 เดือน หลังจากกลับมาบ้านพวกเราก็ไม่ได้สนใจอะไรก็ทำกิจกรรมต่างๆ ที่บ้านเป็นปกติ จนตกค่ำ จึงได้ให้สามีทดลองตรวจโควิด-19 ให้ลูกสาวดู และจะได้ตรวจดูตัวเองด้วยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือเปล่าจะได้สบายใจกันไป (แต่พวกเราก็ค่อยข้างเชื่อมั่นว่าไม่ติดแน่ๆ ระวังตัวกันขนาดนี้ ล้างมือทั้งวัน เมื่อกลับเข้าบ้านก็รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า)  

สามีก็หาดูคลิปแนะนำการตรวจหาโควิด-19 แบบ ATK (Antigen Test Kit) ชนิดที่แหย่จมูก และเริ่มทำการตรวจแบบทุลักทุเล เพราะเป็นครั้งแรกที่ลองตรวจ เมื่อเก็บตัวอย่างได้และผสมกับน้ำยาที่ให้มาในกล่อง ก็หยอดน้ำยาลงไป น้ำยาค่อยๆ วิ่งผ่านชุดตรวจจนเต็ม และขึ้นขีดสีแดง 1 เส้นที่ตัว C ความรู้สึกตอนนั้น รอดแล้ว แต่เมื่อรอเวลาผ่านไปราวๆ 2-3 นาที ปรากฏว่า ขีดที่ 2 เริ่มปรากฎให้พวกเราเห็นแล้วแถวๆ ตัว T แบบจางๆ เอาละ ใจเริ่มไม่ดีแล้วสิ กำลังกินข้าวอยู่ ก็ต้องวางจานข้าวทันที... 

ภาพ: ผลการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK แบบแหย่จมูกของสามี จะเห็นว่ามีขีดสีแดงจางๆ ขึ้นแถวๆ ตัว T 

เอาละ มีชุดตรวจ ATK แบบน้ำลายเหลืออีกกล่อง เอามาตรวจเลยแล้วกัน จะได้ตรวจซ้ำอีกทีว่าจริงหรือไม่จริง ผลอาจจะคลาดเคลื่อนก็ได้ พอหยอดน้ำยาลงในชุดตรวจ น้ำยาก็วางผ่านชุดตรวจแบบช้าๆ ช้ากว่ารอบแรกพอสมควร ลุ้นก็ลุ้น พอน้ำยาเริ่มเคลื่อนที่ผ่านตัว T ที่เป็นจุดแรกก่อนที่จะถึงตัว C ปรากฎว่า ขีดแดงๆ ขึ้นแจ่มชัดมาก และผลการตรวจรอบที่ 2 ก็ออกมายืนยันว่า ผลการตรวจของสามีเราเป็นบวก ติดเชื้อโควิด-19 !!!

ณ ตอนนั้น คือแบบ เอายังไงดี อย่างแรกที่คิดได้ตอนนั้นคือ ตั้งสติก่อน แล้วค่อยๆ คิด จากนั้นพวกเราหาหน้ากากอนามัยมาใส่กันทั้ง 3 คน พ่อแม่ลูก จากที่เราไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยเวลาที่เราอยู่ในบ้าน และรีบออกไปหาซื้อชุดตรวจแบบ ATK มาสำหรับตรวจของเราและลูก แล้ววันนั้นก็ดูทุลักทุเลมากๆ กว่าจะได้ชุดตรวจโควิด-19 ก็ร้านที่ 3 และรีบกลับมาบ้านเพื่อมาตรวจของเราและของลูก 

พวกเรา 2 คนแม่ลูก รีบจัดแจงตรวจ ซึ่งชุดตรวจที่ได้มาเป็นแบบแหย่จมูก ซึ่งมันค่อนข้างยากสำหรับเด็กอายุ 6 ขวบที่จะอยู่นิ่งและให้ความร่วมมือในการตรวจ แต่ก็พยายามแหย่ให้ลึกเท่าที่จะทำได้ ระหว่างหยดน้ำยารอผลการตรวจนั้น ความรู้สึกลุ้นว่าผลจะเป็นอย่างไร ผลจะเป็นบวกหรือเป็นลบ ถ้าเราบวก แล้วลูกเป็นลบล่ะ จะทำอย่างไร แต่สุดท้ายผลของเราสองคนแม่ลูกออกมาเป็นลบ โล่งขึ้นมานิดนึง จากนั้น พวกเราก็รีบจัดการตัวเองแบบเร็วที่สุด และแยกกันกักตัว แยกห้องนอนห้องน้ำกับสามี โดยให้สามีไปนอนห้องพระ ส่วนเรากับลูกย้ายมานอนห้องเสื้อผ้าของลูก เพราะคิดว่าห้องนั้นเชื้อน่าจะน้อยที่สุดแล้ว 

ลูกก็ถามว่า วันนี้ทำไมเราขึ้นห้องนอนกันไวจัง เพิ่งจะทุ่มเดียวเองนะ หนูยังอยากดูการ์ตูนอยู่เลย เราเลือกใช้วิธีที่จะบอกตรงๆ กับลูกว่า พ่อตรวจโควิด-19 แล้วผลเป็นบวกนะ พ่ออาจจะติดโควิด-19 พรุ่งนี้พ่อจะไปหาหมอเพื่อตรวจอีกรอบ จะได้แน่ใจว่าติดหรือไม่ติด แต่ตอนนี้เราเข้าห้องนี้แล้ว เราจะพยายามไม่ออกจากห้องนี้สักวันสองวันนะ เพราะหากพ่อติดจริงๆ ในบ้านเราก็น่าจะมีเชื้อกระจายอยู่ในบ้านแล้ว รวมทั้งข้าวของในบ้านด้วยเหมือนกัน พวกเราต้องแยกกันสักพัก OK นะ และก็พยายามอย่าจับข้าวของในบ้าน จะเอาอะไรให้บอกเดี๋ยวจะหยิบให้ ลูกก็ตอบกลับว่า อยู่ได้ แต่เราคงเหงาหน่อยเพราะห้องเสื้อผ้าที่เราอยู่ไม่มีโทรทัศน์ หนูก็ต้องอดดูการ์ตูนเลย…เด็กน้อยยังไงก็ยังอยากดูการ์ตูน

เมื่อมาถึงตรงนี้ ขอจบไว้ที่ตรงนี้ก่อน ขอเชิญทุกท่านติดตามอ่านตอนที่ 2 ที่เราจะมาเล่าให้ฟังว่า ในช่วงต่อจากนี้ พวกเราจะทำยังไงต่อไป เมื่อรู้ว่า เจ้าโควิด-19 ได้ก้าวเข้ามาอยู่ในบ้านเราแล้ว...



CONTRIBUTOR

Related Posts
พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th