The Prachakorn

ลูกหลานแรงงานข้ามชาติในไทย กับสถานการณ์โควิด-19


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

21 กันยายน 2564
881



ในบทความนี้ ผมขอเป็นตัวแทนทีมนักวิจัยโครงการ "การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติและผลกระทบจากโควิด-19" ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มาเล่ามุมมองและแลกเปลี่ยนข้อค้นพบบางประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กข้ามชาติ (อายุ 0-17 ปี) ที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์ที่โควิด-19 ในประเทศยังไม่ทุเลาเบาบางเท่าใดนัก

โครงการวิจัยระยะเวลา 1 ปีนี้ (ก.พ. 64-ม.ค. 65) ได้รับการสนับสนุนจากโครงการอียูรับมือโควิด (EU Covid-19 Response and Recovery Project) ผ่านองค์กร ActionAid ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามสถานการณ์ของเด็กข้ามชาติ และผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อเด็กใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก (จากความรุนแรง การแสวงหาประโยชน์หรือละเมิดสิทธิ์ เป็นต้น) 

ในช่วงที่ผ่านมา แม้คณะผู้วิจัยจะยังไม่สามารถลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามได้เต็มรูปแบบ (เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา) แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกออนไลน์กับผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informants) ในแต่ละพื้นที่ไปแล้วจำนวนหนึ่ง รวมถึงจัดการอภิปรายกลุ่ม (focus group discussion: FGD) กับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองเด็กในทุกพื้นที่ และกับผู้แทนหน่วยงานภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนไปแล้วในบางพื้นที่

ข้อมูล มุมมอง และความคิดเห็นที่ได้จากการสัมภาษณ์และการอภิปรายกลุ่มกับผู้แทนและภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่ของการศึกษา (6 จังหวัดทั่วประเทศไทย) ทำให้คณะผู้วิจัยเห็นถึงประเด็นความเสี่ยงและความเปราะบางของเด็กข้ามชาติที่มีอยู่เดิมแม้ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 และที่กำลังถูกซ้ำเติมให้มีมากยิ่งขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่และมีความรุนแรงในหลายพื้นที่ 

ความเสี่ยงและความเปราะบางของเด็กกลุ่มนี้ที่กำลังอาศัยและเติบโตอยู่บนผืนแผ่นดินไทย (ไม่ว่าจะมีเอกสาร ไม่มีเอกสาร หรือจะมีสถานะทางกฎหมายเป็นอย่างไร) เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยไม่สามารถละเลยได้ เมื่อพิจารณาจากมุมมองสิทธิเด็กและการปกป้องคุ้มครองเด็ก รวมถึง มุมมองการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย (รวมถึง ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค) ในระยะยาวภายใต้สถานการณ์ที่เรา รวมถึง หลายประเทศในภูมิภาคกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ในกลุ่มเด็กเล็ก (เด็กข้ามชาติอายุ 0-5 ปี) "สุขภาพและโภชนาการ" เป็นประเด็นที่น่าจะมีความสำคัญมากที่สุด และควรติดตามเฝ้าระวังผลกระทบ โดยเฉพาะ เรื่องการเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ถึงหลังคลอด การได้รับวัคซีนและการมีหลักประกันทางสุขภาพของเด็ก โภชนาการและการได้รับสารอาหารที่เหมาะสมเพียงพอต่อวัยของเด็ก อีกประเด็นที่สำคัญ  คือ ในเรื่องการที่ต้องมีผู้ดูแล ซึ่งค่อนข้างได้รับผลกระทบในกรณีที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองที่เป็นผู้ดูแลหลัก กลายเป็นผู้ติดเชื้อหรือต้องกักตัว

ในกลุ่มเด็กโตขึ้นมา หรือวัยเริ่มเข้าเรียน (อายุ 6-11 ปี) ประเด็นที่น่าจับตาจะเปลี่ยนเป็นในเรื่อง "การเข้าถึงการพัฒนาการเรียนรู้และการศึกษาที่มีคุณภาพ" ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ  ส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนไปเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ รูปแบบ on-อื่นๆ  ขณะที่ บางส่วน (จำนวนมาก) ที่ปิดแบบหยุดเรียนเลย เนื่องจากความไม่พร้อมในหลายด้านของทั้งผู้สอนและผู้เรียน โดยเฉพาะ ด้านอุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายต่อเนื่องที่ตามมา

ในกลุ่มเด็กโต (อายุ 12-17 ปี) โอกาสในการได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่อง การคุ้มครองเด็ก (จากการถูกละเมิดสิทธิ์ หรือการใช้ประโยชน์) และ การเฝ้าระวังป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคมบางเรื่องของกลุ่มเด็กโต (โดยเฉพาะ ในช่วงที่ไม่ได้ไปโรงเรียน) เป็นประเด็นสำคัญที่ควรต้องเฝ้าระวัง

ในภาพรวมของเด็กข้ามชาติทุกกลุ่มวัยข้างต้น (ไม่ว่าจะเป็น เด็กเล็ก วัยเข้าเรียน หรือ เด็กโต) ความเปราะบางของเด็กที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 อาจจะสรุปได้เป็น หนึ่ง "การเข้าไม่ถึง" ในที่นี้ รวมความล่าช้าของการเข้าถึง โดยเฉพาะในเรื่อง อนามัยแม่และเด็ก หลักประกันทางสุขภาพ การจดทะเบียนการเกิดเด็กเกิดใหม่ การพัฒนาการเรียนรู้และการศึกษาที่มีคุณภาพ นมอาหารและโภชนาการเด็กที่เหมาะสมกับวัยและเพียงพอ สอง "การหลุดหรือตกหล่น" จาก ระบบการศึกษา (ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนไทย หรือศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ) จากระบบประกันสุขภาพ (ที่เคยมีหรือมีอยู่) หรือ จากการมีสถานภาพทางกฎหมายหรือการมีเอกสารที่ถูกต้อง และ สาม "ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น" ของปัญหาทุพโภชนาการหรือการขาดสารอาหาร การขาดผู้ดูแลหรือถูกทอดทิ้ง ความรุนแรงในครอบครัว  การถูกละเมิดสิทธิ์หรือการหาประโยชน์จากผู้อื่น รวมถึง พฤติกรรมเสี่ยงของตนเอง  โดยเฉพาะกลุ่มเด็กโต (เช่น พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือ ปัญหายาเสพติด เป็นต้น) 

โครงการวิจัยยังคงดำเนินการเก็บข้อมูลจากการอภิปรายกลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลหลักในแต่ละพื้นที่ศึกษาต่อไป ซึ่งหากมีประเด็นเชิงลึกที่น่าสนใจเพิ่มเติม ผู้เขียนและทีมวิจัยจะได้นำมานำเสนอและแลกเปลี่ยนจากผู้อ่านของ the Prachakorn ในบทความต่อๆไป

(สำหรับผู้อ่านที่สนใจ โครงการวิจัยได้เผยแพร่บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็กข้ามชาติในสถานการณ์โควิด-19 บน facebook page : โครงการอียูรับมือโควิด (EU Covid-19 Response and Recovery Project) ตามลิงค์ด้านล่าง)



CONTRIBUTOR

Related Posts
ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

แก่นเรื่อง

วรชัย ทองไทย

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th