The Prachakorn

การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพเด็กข้ามชาติในช่วงวิกฤติโควิด-19


กัญญา อภิพรชัยสกุล

25 กุมภาพันธ์ 2565
545



ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจนำไปสู่การขาดแคลนประชากรวัยแรงงานในอนาคต ทำให้มีแนวโน้มความต้องการแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสูง ซึ่งเมื่อแรงงานย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศส่งผลให้มีผู้ติดตามเข้ามาด้วย หรือหากเป็นแรงงานที่อยู่นานจะมีลูกหลานเกิดในประเทศไทย เด็กที่เป็นผู้ติดตามหรือเกิดจากแรงงานข้ามชาติหากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ในการทำงานเรียกว่าเด็กข้ามชาติ การแบ่งกลุ่มอายุของเด็กข้ามชาติใน “โครงการการประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบของโควิด-19” แบ่งกลุ่มอายุของเด็กข้ามชาติออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) อายุ 0-5 ปี 2) อายุ 6-11 ปี และ 3) อายุ 12-17 ปี  หากกล่าวถึงกลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี เป็นช่วงแรกเกิดจนถึงก่อนวัยเรียน ความจำเป็นเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการได้รับวัคซีนที่ครบถ้วนเหมาะสมตามอายุเด็ก การดูแลส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการสำหรับเด็กวัยนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด ดังนั้นการมีหลักประกันทางสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากสำหรับเด็กวัยนี้

ระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทยมี 3 ระบบ คือ หนึ่ง บัตรประกันสุขภาพโดยกระทรวงสาธารณสุข แบ่งตามอายุ คือ สำหรับเด็กข้ามชาติอายุต่ำกว่า 7 ปี ซึ่งจะขายในราคา 365 บาท บัตรมีอายุ 1 ปี ถ้าต้องการบัตร 2 ปี ราคาอยุ่ที่ 730 บาท  สำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป จะอยู่ที่ราคา 1,600 บาทต่อปี จะเป็นราคาเท่าบัตรผู้ใหญ่ สำหรับสิทธิประโยชน์จะได้สิทธิ์การรักษาพยาบาลรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การฉีดวัคซีน และการดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัย สอง บัตรประกันสุขภาพโดยองค์กรทางสังคม เช่น M-Fund จะมีดำเนินการเป็นบางพื้นที่เท่านั้น เช่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีการขายหลายแพคเกจด้วยกัน เช่น กลุ่มนักเรียน กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มแรงงานในโรงงาน และแพคเกจครอบครัว ลักษณะการจ่ายค่าบัตรประกันจะจ่ายเป็นรายเดือน และ สาม ประกันสุขภาพเอกชน หรือ ประกันสุขภาพจากนายจ้างของพ่อแม่ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและบางกรณีครอบคลุมลูกด้วย

เด็กข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีหลักประกันสุขภาพ หรือถ้ามีก็ยังมีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กราคาบัตรไม่สูงมาก โดยเฉพาะบัตรประกันสุขภาพ 1 ปี ราคา 365 บาท พ่อแม่ผู้ปกครองพอจะมีกำลังที่สามารถที่จะจ่ายได้ แต่บัตรประกันสุขภาพ 2 ปี ที่ราคา 730 บาท พ่อแม่อาจจะมองว่าราคาสูงไป ซื้อบัตรปีเดียวแล้วค่อยซื้อใหม่ดีกว่าในปีถัดไปเพราะราคาเท่ากัน ดังนั้นบัตรประกันสุขภาพ 730 บาท จึงไม่เป็นที่นิยมซื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

จากสถานการณ์โควิด-19 ครอบครัวแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องโดนสั่งหยุดการทำงานเกิดผลกระทบด้านการเงินของครอบครัว ไม่มีเงินที่จะต่ออายุบัตรประกันสุขภาพหรือซื้อประกันให้กับลูกหลาน สำหรับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติยุคโควิด-19 มีการบังคับตรวจโควิดอีกด้วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติเองต้องตรวจโควิด-19 ด้วย โดยรวมแล้วค่าบัตรในแต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและเป็นภาระของครอบครัวแรงงานข้ามชาติ

ที่มา: โครงการการประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบของโควิด-19
จาก http://report.dopa.go.th/covid19/ita_files/document/command145.pdf

ครอบครัวแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับหัวหน้าครัวเรือนหรือผู้ที่ทำงานหารายได้มาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังต้องอยู่กันไปอีกนาน เป็นไปได้ที่แรงงานข้ามชาติจะซื้อประกันสุขภาพให้กับหัวหน้าครอบครัวหรือผู้ที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวก่อน การซื้อบัตรประกันสุขภาพสำหรับเด็กอาจจะเป็นประเด็นรองลงมา ซึ่งอาจทำให้การซื้อบัตรสุขภาพสำหรับเด็กลดลงไปอีก จะทำให้เด็กข้ามชาติเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับเด็ก ถือเป็นความเปราะบางทางด้านสุขภาพอย่างมากสำหรับเด็กวัยนี้    

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ภาษา

วรชัย ทองไทย

เมื่อมัธยม ขย่มการเมือง

สักกรินทร์ นิยมศิลป์,พจนา หันจางสิทธิ์,ดุสิตา พึ่งสำราญ,สุภาณี ปลื้มเจริญ

แรงงานไทยในต่างแดน

กาญจนา เทียนลาย

Kidfluencer | EP. 1

รีนา ต๊ะดี

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

พลเมืองไอซ์แลนด์

อมรา สุนทรธาดา

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th