The Prachakorn

ปัจจัยที่มีผลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อของเด็กและเยาวชน


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

12 พฤษภาคม 2565
719



จุดประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้ เพื่อค้นหาองค์ความรู้และทำความเข้าใจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อในเด็กและเยาวชน ข้อค้นพบจากการทบทวนวรรณกรรมช่วยให้มีข้อมูลเชิงลึกที่ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อในเด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสม

การรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ หรือ Media Health Literacy (MHL) หมายถึง ความสามารถของแต่ละคนในการรับรู้และเข้าใจเนื้อหาสุขภาพ รวมถึงการวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของเนื้อหาที่เกี่ยวกับสุขภาพอย่างมีวิจารณญาณ และการแสดงความตั้งใจที่จะกระทำเมื่อได้รับเนื้อหาสุขภาพผ่านทางสื่อ1

ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ใช้เวลาอยู่กับสื่อโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยเป็นเวลานานถึง 12 ชั่วโมง 5 นาที ต่อวัน2 การใช้สื่ออาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพ เช่น ภาวะทางโภชนาการ จิตใจ และสังคมในเด็กและเยาวชน3 อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถปิดกั้นหรือไม่ให้เด็กและเยาวชนใช้สื่อได้ การรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อจึงถือเป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยเด็กและเยาวชนตัดสินใจเรื่องสุขภาพที่ดีและรักษาสุขภาพได้ เมื่อเด็กและเยาวชนใช้สื่อ4,5

การมีความรู้และความเข้าใจว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการรู้เนื้อหาสุขภาพสื่อของเด็กและเยาวชนถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยส่งเสริมปัจจัยเหล่านี้ให้เอื้อต่อการพัฒนาการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อของเด็กและเยาวชน จากการทบทวนวรรณกรรมด้วยการสืบค้นอย่างเป็นระบบ (a review, with systematic search) บนฐานข้อมูล Scopus, Web of Science, PubMed และ Thai Journal Online ตั้งแต่มีฐานข้อมูลจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 พบบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ระบุปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยแวดล้อมสัมพันธ์กับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อของเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ในประเทศไทย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และอิสราเอล ดังนี้

ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ผลการเรียน ความเครียด การใช้สื่อ ทักษะในการสื่อสาร การให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี และวิถีการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี (health lifestyle) สัมพันธ์กับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อของเด็กและเยาวชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ปัจจัยส่วนบุคคลมีผลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ โดยอายุและผลการเรียนสัมพันธ์กับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ   ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เยาวชนอายุ 18-25 ปี ทั้งไทยและสวิตเซอร์แลนด์ ยิ่งอายุมากและมีเกรดเฉลี่ยสะสมสูง เยาวชนกลุ่มดังกล่าวยิ่งรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสูงขึ้นตามไปด้วย   ในส่วนของอายุนั้นสอดคล้องกับทฤษฎีขั้นตอนของการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ กล่าวคือ เด็กอายุ 10-12 ปี สามารถคิดอย่างเป็นรูปธรรมได้ ในขณะที่วัยรุ่นอายุ 13 ปีขึ้นไปสามารถคิดซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้ ดังนั้น เด็กที่มีอายุมากขึ้นจึงรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อได้ดีขึ้น สำหรับผลการเรียนนั้น อาจเป็นเพราะเยาวชนที่มีเกรดเฉลี่ยสูงกว่ามีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณค่อนข้างสูง ทักษะการคิดนี้เป็นหนึ่งในทักษะการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ ที่ช่วยให้เยาวชนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพในสื่อ เพื่อตัดสินหรือประเมินว่า ถูกต้องและเชื่อถือได้หรือไม่ การคิดเชิงวิพากษ์หรือการคิดอย่างมีวิจารณญาณจึงมีส่วนช่วยให้การรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อสูงขึ้นของเยาวชนที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมสูง เมื่อเทียบกับเยาวชนที่มีเกรดสะสมเฉลี่ยต่ำกว่า

Source of photo: https://www.presscouncils.eu/Media-Literacy-Toolkit-for-teachers-and-students

ความเครียดและการใช้สื่อยังเกี่ยวกับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อด้วย ผลการศึกษาในไทยระบุว่า นักศึกษาพยาบาลที่มีความเครียดสูงมีการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อต่ำ ในขณะที่การใช้สื่อของเยาวชนในสวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการใช้สื่อทำให้เด็กเรียนรู้และคุ้นเคยเนื้อหาและวิธีการนำเสนอข้อมูลของสื่อ

ทักษะในการสื่อสารส่งผลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ เด็กไทยอายุ 9-14 ปี ที่มีทักษะการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีในการป้องกันโรคอ้วน เช่น การเล่าเรื่องเกี่ยวกับโรคอ้วนและการควบคุมน้ำหนักให้กับคนในครอบครัวหรือเพื่อนฟัง จนคนในครอบครัวหรือเพื่อนเข้าใจ การโน้มน้าวให้บุคคลอื่นยอมรับข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคอ้วนที่ถูกต้อง เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มรู้เนื้อหาสุขภาพดี ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การคิด และการสื่อสาร ซึ่งต้องผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ คือ ทักษะที่จะต้องอาศัยการเรียนรู้และวิธีการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ช่วยทำให้เกิดแนวความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องและกว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น การค้นหาข้อมูล ทำความเข้าใจข้อมูล คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียบเรียงข้อมูล แล้วจึงนำมาสื่อสาร และเมื่อเด็กกระทำบ่อยๆ ยิ่งทำให้เด็กรู้เนื้อหาทางสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนการให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดีและวิถีการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดีสัมพันธ์กับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ การศึกษาพบว่า เด็กไทยอายุ 9-14 ปี และเยาวชนอายุ 18-25 ปี ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี และวิถีการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี (เช่น การสังเกตปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่กินให้พอเหมาะกับตนเอง การวางเป้าหมายการออกำลังกกายและทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และการรู้ว่าตนเองเครียดและมีวิธีการจัดการเพื่อลดความเครียดนั้นลงได้) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ

ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อมที่สัมพันธ์กับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ ได้แก่ การศึกษาและการให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดีของผู้ปกครอง และครู  ซึ่งผู้ให้ข้อมูลหลักด้านสุขภาพ สัมพันธ์กับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อของเด็กและเยาวชนในประเทศเยอรมนีและอิสราเอล กล่าวคือ ยิ่งผู้ปกครองที่มีการศึกษาสูง ให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี และยิ่งผู้ปกครองและครูให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพแก่เด็กและเยาวชน ยิ่งทำให้เด็กและเยาวชนมีการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อดีตามไปด้วย

Source of photo: https://www.hfocus.org/content/2019/05/17212

ผลการทบทวนวรรณกรรมสะท้อนถึงความสำคัญของการสร้างและส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นการสอนที่พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และวิพากษ์ (เช่น การเรียนรู้จากโครงงาน, การเรียนรู้จากกิจกรรม, การเรียนรู้จากปัญหา, การเรียนรู้จากการคิด, การเรียนรู้จากประสบการณ์, การเรียนรู้โดยใช้ไอซีที) การจัดการความเครียด การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดีและวิถีการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี รวมทั้ง การสร้างสภาพแวดล้อมของครอบครัวและโรงเรียนที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพและด้านสื่อในการพัฒนานโยบายและการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป

A review of media health literacy in children and young people and its associated factors (การทบทวนวรรณกรรมของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อของเด็กและเยาวชน) บทความนี้ ตีพิมพ์ใน Kasetsart Journal of Social Sciences, 2022, 43 (2): 531–538. Published online on April 30, 2022; https://doi.org/10.34044/j.kjss.2022.43.2.35

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ The Role of Media Health Literacy on Lifestyle Behaviors among Young Adolescents in Thailand (บทบาทของการรู้เท่าทันเนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเด็กในประเทศไทย) ของสถาบันวิจัยประชาการและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


เอกสารอ้างอิง

  1. Jindarattanaporn N, Phulkerd S, Thapsuwan S, Thongchareonchupong N. Analysis Media Landscape, Media Consumption and Media Heath Literacy (MHL) for Thai Children aged 10-14 years Nakorn Pratom: Institue for Population and Social research; 2020.
  2. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2564. กรุงเทพ: สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์; 2564.
  3. Canadian Pediatric Society. Impact of media use on children and youth. Paediatr Child Health 2003; 8(5): 301-6.
  4. Velardo S, Drummond M. Emphasizing the child in child health literacy research. Journal of Child Health Care 2017; 2(1): 5-13.
  5. Geraee N, Kaveh MH, Shojaeizadeh D, Tabatabaee HR. Impact of media literacy education on knowledge and behavioral intention of adolescents in dealing with media messages according to stages of change. Journal of Advances in Medical Education & Professionalism 2015; 3(1): 9-14.


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
Work from home ไม่เหงา...เท่า Care from home

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Kidfluencer | EP. 2

รีนา ต๊ะดี

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เจเนอเรชันโควิด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

สังคมยุคดิจิทัล

เพ็ญพิมล คงมนต์

การเลียนแบบ

วรชัย ทองไทย

เกษียณอย่างเกษม

อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์

แมลงสาบ

วรชัย ทองไทย

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

เด็กไทย อ้วนแค่ไหน

กาญจนา เทียนลาย

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หาว

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th