ราคาผ้าอนามัยในปัจจุบันนี้ราคาชิ้นละ 3-6 บาท ถ้าผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ยคนหนึ่งเดือนละ 12 ชิ้น ผู้หญิงแต่ละคนจะต้องมีเงินซื้อผ้าอนามัยไม่ต่ำกว่า 36-72 บาทต่อเดือน ผู้หญิงมีประจำเดือนจนกระทั่งอายุผ่านวัยเจริญพันธุ์ คิดคร่าวๆ แล้ว ผู้หญิงก็จะมีประจำเดือนอยู่ราวๆ 30-40 ปี ดังนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยอยู่ที่ประมาณ 17,000-30,000 บาท และทุกครั้งที่ผู้หญิงซื้อผ้าอนามัยมาใช้ผู้หญิงต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT อีก 7% ด้วย เพราะว่าผ้าอนามัยถูกนิยามว่าเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอางค์ซึ่งถือว่าไม่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่
คำถามที่เริ่มได้ยินกันบ้างแล้วในสังคมไทยตอนนี้ คือ มันเป็นความถูกต้องและความยุติธรรมกับผู้หญิงหรือไม่ที่ผ้าอนามัยถูกตัดสินว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทเครื่องสำอางค์และต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือน คือ อายุระหว่าง 10-54 ปี ราว 21 ล้านคน หรือ 32% ของประชากรไทย แต่เราเคยรู้มั้ยว่ามีผู้หญิงกลุ่มนี้อยู่จำนวนเท่าไหร่ ที่ไม่สามารถเจียดเงินมาซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยใช้ในวันนั้นของแต่ละเดือน การที่ผ้าอนามัยในท้องตลาดราคาแพง การที่ผู้หญิงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อซื้อผ้าอนามัย และการไม่มีสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีให้ผู้หญิง กำลังสะท้อนว่า สังคมไทยเรายอมรับให้มีความไม่เท่าเทียมทางเพศ และยอมรับให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในอีกมิติหนึ่ง
เอาเข้าจริงแล้วผ้าอนามัยที่เราคิดว่าทำหน้าที่แค่เป็นผ้าซับเลือดประจำเดือน มันสำคัญและทำหน้าที่มากกว่าที่เราคิดกัน เพราะว่ามันกำลังทำหน้าที่ปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิงทุกคน ที่เกิดและเติบโตมาในสังคม “ชายเป็นใหญ่” ไม่ให้ถูกลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ใครที่คิดว่าผ้าอนามัยเป็นแค่เครื่องสำอางค์ หรือเป็นเพียงสิ่งอุปโภคที่ฟุ่มเฟือยขอให้คิดใหม่ ในเมื่อเรามีนโยบายอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศได้ และเรามีนโยบายให้สิทธิประโยชน์แก่หญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ฝากครรภ์ ตรวจรักษาป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ให้ยาวิตามินเสริมและบำรุงครรภ์ฟรีได้ แล้วทำไมเราจะมีนโยบายสนับสนุนผ้าอนามัยฟรีหรือชดเชยค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยให้แก่ผู้หญิงทุกคนไม่ได้ ถ้าเราทำได้เราก็จะขจัดความยากจนประจำเดือนของผู้หญิงได้อย่างถ้วนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถยุติการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิชนของผู้หญิงได้ไปอีกมิติหนึ่ง ซึ่งสอดรับกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ประเทศไทยลงนามรับรองไว้
ปัจจุบันนี้เรามิอาจปฏิเสธว่าผ้าอนามัยแบบสมัยใหม่ เป็นสินค้าอุปโภคจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับลูกผู้หญิงทุกคนที่เกิดมาและเติบโตอยู่ในวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ที่ยังมีความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรม โน้มเอียงไปในทางที่ทำให้ผู้หญิงด้อยคุณค่า โดยมีการดูถูกดูแคลนผู้หญิงผ่านสัญญะหลายเรื่อง การมีประจำเดือนของผู้หญิงเป็นหนึ่งในสัญญะนั้น เลือดประจำเดือนของผู้หญิงถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก น่ารังเกียจ อัปมงคล ฯลฯ ทำให้ผู้หญิงต้องรู้สึกทั้งถูกตีตราและตีตราตนเอง เมื่อมีประจำเดือนผู้หญิงรู้สึกอับอาย และจะปกปิดแอบซ่อนไม่ให้คนอื่นรู้ว่าตนเองกำลังมีประจำเดือน ผู้หญิงต้องหาวิธีจัดการไม่ให้เลือดประจำเดือนออกมาเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า ม้านั่ง ที่หลับที่นอน เพราะถ้าจัดการไม่ได้ ผู้หญิงจะถูกมองว่าสกปรก ถูกรังเกียจ ถูกล้อเลียน ถูกเลือกปฏิบัติ และยังส่งผลให้ผู้หญิงเลือกปฏิบัติกับตัวเองในบริบทต่างๆ ด้วย เช่น ไม่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ไม่เป็นผู้ปรุงอาหาร ไม่เล่นกีฬาบางชนิด ไม่ไปทำงาน ไม่ไปโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สภาพจิตใจ และโอกาสในชีวิตของผู้หญิง
ผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยสมัยใหม่ คงหนีไม่พ้นผู้หญิงและเด็กหญิงที่เป็นกลุ่มเปราะบางทั้งหลาย เช่น อยู่ในครอบครัวยากจน รายได้ต่ำ ผู้หญิงตกงาน ผู้หญิงและเด็กหญิงไร้บ้าน ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงเหล่านี้ที่จะเข้าถึงผ้าอนามัยเมื่อต้องซื้อหามาด้วยเงิน แค่หาเงินให้เพียงพอซื้ออาหารมารับประทานได้ครบทุกมื้อ มีเงินค่ารถโดยสารไปโรงเรียนก็นับว่าบุญโขแล้ว บางคนถึงแม้พอจะเจียดเงินมาซื้อผ้าอนามัยได้ แต่อาจจะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับซื้อผ้าอนามัยมาใช้หลายๆ ชิ้นในแต่ละเดือน บางคนใช้ผ้าอนามัยแค่ชิ้นเดียวตลอดทั้งวันเพื่อประหยัดเงิน ทั้งๆ ที่ในวันนั้นของเดือนผู้หญิงควรได้ดูแลความสะอาดร่างกายตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ในวันนั้นของเดือนผู้หญิงควรได้เปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างน้อย 2-3 ชิ้นต่อวัน
ในแง่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาและการได้ทำงานมีค่าจ้าง พบในประเทศยากจนหลายประเทศว่า การขาดเรียน การออกจากโรงเรียนกลางคัน การขายบริการทางเพศของเด็กผู้หญิง รวมทั้งการขาดงาน การถูกตัดค่าจ้าง หรือการถูกไล่ออกจากงานของแรงงานหญิง บางส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย เด็กหญิงที่ไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยเลี่ยงที่จะไม่ไปโรงเรียนจนกว่าประจำเดือนจะหยุด บางคนอาจจะหยุดเรียน 2-3 วัน บางคน 4-6 วัน แล้วแต่ว่าประจำเดือนจะมากี่วัน การขาดเรียนเกิดขึ้นสม่ำเสมอในทุกเดือน การขาดเรียนบ่อยครั้งทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน ผลการเรียนไม่ดี ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะไม่อยากเรียนซ้ำชั้น ในประเทศเคนยาซึ่งปัจจุบันมีโครงการแจกผ้าอนามัยฟรีให้ผู้หญิงแล้ว เคยมีข่าวว่าเด็กวัยรุ่นหญิงไปเร่ขายบริการทางเพศที่ท่ารถโดยสารเพื่อนำเงินมาซื้อผ้าอนามัยใช้ จะได้ไม่ต้องหยุดเรียนในวันนั้นของเดือน ในประเทศเนปาลมีผู้หญิงยากจนต้องสูญเสียค่าจ้างรายวันไปเฉลี่ยอย่างน้อย 6 วันต่อเดือน เพราะต้องหยุดงานในวันที่มีประจำเดือน เพราะค่าจ้างที่พวกเธอได้มาไม่เพียงพอที่จะเจียดไปซื้อผ้าอนามัย ในขณะที่ต้องดูแลปากท้องของอีกหลายชีวิตในครอบครัว
อมรา สุนทรธาดา
สุชาดา ทวีสิทธิ์
อมรา สุนทรธาดา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
อมรา สุนทรธาดา
กาญจนา ตั้งชลทิพย์
รศรินทร์ เกรย์
อมรา สุนทรธาดา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์,กฤตยา อาชวนิจกุล
ภูเบศร์ สมุทรจักร
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
จีรวรรณ หงษ์ทอง
อมรา สุนทรธาดา
วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ชานิภา เอี่ยมเจริญ,จุฬาลักษณ์ อิ่นแก้ว
นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง
สิรินทร์ยา พูลเกิด
วรชัย ทองไทย
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
อารี จำปากลาย
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล