The Prachakorn

การจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อดูแล Massive Immigration Policy: ต้นแบบจากประเทศแคนาดา


อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

07 สิงหาคม 2567
967



จากการคาดประมาณว่าประชากรของประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และจะเหลือเพียงครึ่งประเทศในเวลาไม่ถึงสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 นี้ หรือภายในช่วงอายุขัยของคนหนึ่งคนคือราว 70 ปี ประเทศไทยจำเป็นต้องมองหาแนวทางในการดึงดูดประชากรที่มีคุณภาพเข้ามาอยู่อาศัยระยะยาว และรับสัญชาติไทย เป็นคนไทยทดแทนคนที่หายไป แนวทางที่สำคัญและใช้อยู่ในหลายประเทศ และได้เริ่มใช้มาตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ นโยบาย Massive Immigration Policy

สำหรับประเทศไทย จากการคาดประมาณเป้าหมายประชากรที่เหมาะสมให้คงไว้ประมาณ 40 ถึง 60 ล้านคน ประเทศจำเป็นต้องนำเข้าประชากรต่างชาติปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 คน เป้าหมายคือการสร้างประเทศและชุมชนที่เข้มแข็ง มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีสังคมที่มั่นคง เหมือนอย่างที่แคนาดาประสบความสำเร็จ บทความนี้จะวิเคราะห์แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดึงดูดประชากรคุณภาพโดยศึกษาจากระบบของแคนาดา

แคนาดา: ตัวอย่างความสำเร็จ

แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการรับผู้พำนักอาศัยถาวร (permanent residency) ที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีหน่วยงานอย่าง “Immigration, Refugees and Citizenship Canada (IRCC)” มีเจ้าหน้าที่ 7,000 คน โดยมีรัฐมนตรีกำกับ ทำหน้าที่หลักในการตั้งเป้าและคัดเลือกผู้สมัคร มุ่งเน้นไปที่ทักษะความสามารถ และศักยภาพในการสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศ ปี 2024 นี้ตั้งเป้าไว้ 485,000 คน และจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป

รูป 1: IRCC จัดงาน Canadian Immigration Fair ในเมืองใหญ่ทุกเมือง เพื่อช่วยเหลือด้านข้อมูลและแรงบันดาลใจเรื่องอาชีพการงาน การศึกษาและการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยให้กับผู้ย้ายถิ่นใหม่เป็นประจำทุกปี
ที่มา: https://canadianimmigrant.ca/careerfair/ สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567

ประเทศไทยสามารถจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อสามารถประสานและสั่งการงานที่เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจมีชื่อว่า “กระทรวงคนเข้าเมือง พลเมืองและประชากร” ทำหน้าที่หลักอย่างน้อย 6 ประการ โดยปรับจากต้นแบบของแคนาดาให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยคือ

1. การตั้งเป้าจำนวนและคุณสมบัติของพลเมืองที่ต้องการ เน้นนโยบายและการวิจัย: วิเคราะห์จำนวนและกำหนดคุณสมบัติประชากรที่ต้องการ ออกแบบการให้สิทธิอยู่อาศัยแบบต่างๆ และวางระบบรับผู้พำนักอาศัยถาวรและการให้สัญชาติ (pathways to permanent residency and citizenship) พัฒนาระบบให้คะแนนตามคุณสมบัติ (points-based immigration system) ประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงแรงงาน และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาแนวโน้มประชากรและการย้ายถิ่นฐาน ระบุกลุ่มประชากรเป้าหมายในประเทศต่างๆ พัฒนายุทธศาสตร์และโปรแกรมดึงดูด และเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

     ตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดอย่างเจาะจง เช่น

  • กลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูง: เน้นดึงดูดผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ประเทศต้องการ เช่น วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี แพทย์ พยาบาล ฯลฯ
  • กลุ่มนักลงทุน: ดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพ มุ่งเน้นสร้างธุรกิจใหม่ ขยายงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ
  • กลุ่มนักวิจัยและนวัตกรรม: ดึงดูดนักวิจัย นักวิชาการ มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้
  • กลุ่มผู้ประกอบการ: ดึงดูดผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นสร้างธุรกิจใหม่ สร้างงานกลุ่ม start-up โดยไม่ทิ้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SME)
  • กลุ่มผู้นำทางจิตวิญญาณและสังคม: ดึงดูดนักสิ่งแวดล้อม นักพัฒนาสังคม นักการประชาสังคม องค์กรทางสังคมที่ไม่แสวงหากำไร องค์กรที่มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัฒนธรรม และมนุษยศาสตร์ ศิลปิน นักกีฬาและผู้ฝึกสอน

2. การพิจารณาและตัดสินคำขอ: จัดกระบวนการยื่นคำขอให้รวดเร็ว มีการสื่อสารที่ชัดเจน จัดให้บริการยื่นคำขอออนไลน์ มีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส ใช้ยุทธศาสตร์การรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดให้มีการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม และความเชื่อมโยงของส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นในการเสนอชื่อและพิจารณาตัดสิน มีกระบวนการเชิงรุกโดยประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศให้สถานทูตไทยทั่วโลกเชิญชวนให้มีการยื่นคำขอจากประเทศเป้าหมาย

หน่วยงานพิจารณาคำขอนี้ นอกจากเป็นงานเชิงงานประจำแล้ว ยังสามารถแบ่งส่วนราชการเพิ่มเติม ออกเป็นโครงการพิเศษ และโครงการเฉพาะกิจต่างๆ ได้อีก เพื่อความรวดเร็วในการเพิ่มประชากรและทรัพยากรมนุษย์: หน่วยงานย่อยพิเศษเหล่านี้ เช่น โครงการการให้ที่อาศัยระยะยาว (long-term residence) หรือให้สัญชาติแก่ผู้ลี้ภัย (refugees) ที่อาศัยอยู่เป็นเวลานาน บุตรแรงงานข้ามชาติ และผู้ไร้สัญชาติในประเทศ โครงการประชากร free-flow ASEAN โครงการ MOU กับประเทศเมียนมา โครงการนักศึกษาต่างชาติ โครงการผู้ลี้ภัยในเขตเมือง (urban refugees) โครงการ digital nomad หรือการทำงานทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง โครงการวีซ่าสำหรับหางาน (job seeker visa) โครงการให้เสนอชื่อโดยจังหวัด (Provincial Nominee Program หรือ PNP) และโครงการเอกชนอุปถัมภ์

3. การช่วยเหลือด้านการตั้งถิ่นฐานและการบูรณาการทางสังคม: ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เสนอหลักสูตรและบริการสนับสนุน เช่น การฝึกอบรมภาษาและวัฒนธรรม การจัดหางาน และโปรแกรมปรับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมสำหรับผู้พำนักถาวรคนใหม่ ประสานงานกับประชาสังคมและเอกชนเพื่อสนับสนุนการบูรณาการทางสังคม จัดการให้มีการประสานประโยชน์กับคนไทย โดยมีการติดตามและประเมินผลที่รวดเร็ว

4. การตลาดและการเผยแพร่เชิงรุก: สร้างแบรนด์ประเทศไทยที่แข็งแกร่งทั้งด้านเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพถูก และด้านสังคมที่มีเอกลักษณ์ของความมีน้ำใจ ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจด้านการภาษี การศึกษา และการรักษาพยาบาล สร้างสรรค์แคมเปญประชาสัมพันธ์แบบเจาะจงไปยังประเทศที่มีกลุ่มประชากรเป้าหมายที่ต่างกัน จัดตั้งศูนย์บริการเพื่อให้คำปรึกษา ตอบคำถามเกี่ยวกับโปรแกรมการย้ายถิ่นฐาน ประชาสัมพันธ์ให้กับคนไทยให้มีส่วนร่วมในการรับรู้ คัดเลือก และเสนอแนะ ตลอดจนการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการสร้างความเข้มแข็งของประเทศด้วยนโยบายนี้

5. การปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้: ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานความมั่นคงของประเทศ มีระบบศึกษาติดตามประวัติและพฤติกรรมประชากรเป้าหมาย สร้างระบบที่ยุติธรรมและปลอดภัย เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

6. การประเมินผลอย่างต่อเนื่อง: หน่วยงานควรมีการประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น

  • การเก็บข้อมูล: ติดตามข้อมูล ผลลัพธ์ของโปรแกรมการย้ายถิ่นฐาน เช่น จำนวนผู้สมัคร คุณภาพของผู้สมัคร ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม
  • การวิจัย: วิจัยความพึงพอใจและการปรับตัวของผู้สมัคร วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของระบบ วิจัยและวิเคราะห์สถาณการณ์การบูรณาการทางสังคมของผู้เข้ามาใหม่กับคนไทย
  • การปรับปรุงระบบ: ปรับปรุงระบบการทำงานและ กฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการประเมินผล

สรุปบทเรียนจากแคนาดา

นโยบาย Massive Immigration Policy ของแคนาดาได้รับการยกย่อง และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จและความท้าทายของแคนาดาได้โดยเฉพาะที่เน้นการผสมผสานทางสังคม แคนาดาให้ความสำคัญกับการผสมผสานผู้อพยพเข้าสู่สังคมอย่างสำเร็จผล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน การดึงดูดประชากรคุณภาพเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศไทย โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ของแคนาดา เราสามารถสร้างหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ ดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามา และผลักดันให้ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป นอกจากนี้ การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยน่าอยู่สามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกได้

แนวคิดนี้คงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การแก้ไข ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น แม้ในประเทศแคนาดาเอง ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมเนื้องานและเป้าหมายอยู่เสมอ โดยเฉพาะตามความผกผันทางการเมือง และทัศนคติสาธารณะ บทความนี้ขอเชิญชวนนักวิชาการทั้งทางประชากรศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ ตลอดจนผู้วางนโยบาย และคนไทยทุกคน มาช่วยกันคิดและวางแนวทางกันแต่เนิ่นๆ หาจุดที่ถูกต้อง และสมดุล ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงทางประชากรและคุณภาพชีวิตของคนไทยและผู้มาเยือนและมาอยู่ด้วยทุกคน

รูป 2: Mark Abbott พีธีกรมวยลุมพินี ได้สัญชาติไทยแล้ว
ที่มา: https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=htLbJDTNlcE สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567


ภาพปก freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Related Posts
เกษียณอย่างเกษม

อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Kidfluencer | EP. 1

รีนา ต๊ะดี

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th