The Prachakorn

ความเปราะบางของแรงงานสูงอายุไทย


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

09 มิถุนายน 2564
1,220



ข้อมูลจากโครงการสถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย: การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ1 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบแนวโน้มการทำงานของผู้สูงอายุไทยที่ลดลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลในไตรมาส 3 ของแต่ละปี ร้อยละของผู้มีงานทำอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศลดลงจากร้อยละ 38.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 34.5 ในปี 2562 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวตรงข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็นในสังคมไทยที่กำลังจะเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นโดยที่จำนวนมากยังคงมีสุขภาพดีและมีแนวโน้มอายุยืนยาวกว่าในอดีต

การยังมีงานทำและสามารถคงอยู่ในตลาดแรงงานที่ยาวนานขึ้นของผู้สูงอายุ เพื่อให้มีรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60-64 ปี ที่จำนวนมากไม่ใช่เพียงต้องพึ่งพาตนเอง แต่ยังคงต้องเป็นเสาหลักหารายได้ให้กับครอบครัว) จึงเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติและข้อค้นพบจากการศึกษาที่ผ่านมาจำนวนหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่า แรงงานสูงอายุไทยยังคงประสบกับข้อจำกัด “ความเปราะบาง” ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอยู่ในหลายเรื่อง ซึ่งผู้เขียนจะยกเป็นตัวอย่างบางประเด็นในบทความนี้

เรื่องแรก

ความเปราะบางจากความจำเป็นที่ทำให้ยังคงต้องทำงาน แม้ไม่พร้อม ในที่นี้ หมายถึง ความจำเป็นที่ยังต้องหาเลี้ยงตนเอง หาเลี้ยงสมาชิกคนอื่นในครอบครัว หรือ ใช้หนี้สินที่ยังติดค้าง ซึ่งในประเด็นนี้ การศึกษาการโอนทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากรในสังคมสูงอายุไทยที่จัดทำข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Account: NTA)2 ของไทยในปี 2560 ได้แสดงข้อมูลที่ชัดเจนว่าผู้สูงอายุไทย 60-69 ปี ไม่ใช่ผู้พึ่งพิง แต่เป็นผู้ให้การจุนเจือทางเศรษฐกิจแก่สมาชิกในครัวเรือนคนอื่นๆ มากกว่า หลายคนจึงยังคงต้องทำงานเพื่อหารายได้แม้อาจจะไม่ต้องการหรือไม่พร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะ ด้านสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุ พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า มีเพียงประมาณ 3 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานที่รายงานว่า “สุขภาพดีถึงดีมาก”

เรื่องที่สอง

ความเปราะบางจากการไม่มีหลักประกันคุ้มครองการทำงานอย่างเหมาะสม แรงงานสูงอายุเกือบร้อยละ 90 เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่มีสถานภาพการทำงานในลักษณะการทำงานหรือประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ไม่มีลูกจ้าง และการช่วยเหลือกิจการของครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร การค้าขายหรือบริการทั่วไป ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563 โดย สสช. พบ 3 ปัญหาหลักการทำงานที่แรงงานสูงอายุประสบมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาค่าตอบแทน (ที่อาจจะน้อยหรือไม่เป็นธรรม) ปัญหางานหนัก (ที่อาจจะไม่เหมาะกับอายุและสภาพร่างกาย) และปัญหางานขาดความต่อเนื่อง (ที่อาจจะไม่มีความมั่นคงและขาดความต่อเนื่องของรายได้) ตามลำดับ

ที่มา: ประมวลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563

เรื่องที่สาม

ความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานจากความต้องการทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต อย่างเช่นในยุคโควิด-19 ที่ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้นในการทำงาน การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2561 โดย สสช. พบว่า แรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็นมีมากถึงร้อยละ 71.9 ซึ่งแรงงานสูงอายุกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หรือสูญเสียงานจากการที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทการทำงานที่เปลี่ยนไป

นอกจาก 3 ประเด็นที่หยิบยกมาข้างต้น ความเปราะบางที่แรงงานสูงอายุต้องประสบน่าจะยังมีอีกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น น่าจะเป็น “วยาคติ” หรือ การเลือกปฏิบัติที่เป็นผลมาจากวัยที่อาจจะมีต่อแรงงานสูงอายุ จากนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน หรือแม้แต่จากสมาชิกในครอบครัว ที่ส่วนหนึ่งอาจมองว่าวัยสูงอายุ เป็นวัยที่ผู้สูงอายุควรหยุดทำงาน พักผ่อนอยู่บ้าน หรือออกจากงานมาช่วยดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ซึ่งในอนาคตตามที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องของบทความนี้ ในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุไทยได้ทำงานและมีงานทำที่ยาวนานขึ้น การขจัดหรือบรรเทาความเปราะบางและอคติทางสังคมที่มีต่อการทำงานของผู้สูงอายุเหล่านี้ การส่งเสริมความพร้อมในการทำงานและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของงานในอนาคตให้กับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องช่วยกันคิด ทำ และสนับสนุน


อ้างอิง

  1. เฉลิมพล แจ่มจันทร์ และสุภรต์ จรัสสิทธิ์. (2564). สถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย: การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ. (เอกสารทางวิชาการ/ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; หมายเลข 535)
  2. เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สุภรต์ จรัสสิทธิ์ และ ณัฐณิชา ลอยฟ้า. (2562). การโอนทางเศรษฐกิจระหว่างรุ่นประชากรในสังคมสูงอายุไทย. (เอกสารทางวิชาการ/สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; หมายเลข 491)

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th