The Prachakorn

ความเชื่อมั่นต่อวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย


ณปภัช สัจนวกุล

02 เมษายน 2564
1,003



ในขณะที่ทั้งโลกกำลังอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ไม่สิ้นสุดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 บรรดาบริษัทผู้ผลิตวัคซีน รวมถึงเครือข่ายนักวิจัยทั่วโลก ต่างเร่งพัฒนาและปรับปรุงวัคซีนให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด วัคซีนโควิด-19 สามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนหลายล้านคน โดยหน้าที่หลักของวัคซีนคือการสร้างระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย (immune system) ซึ่ง วัคซีนจะทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 และหากร่างกายสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา ระบบภูมิคุ้มกันที่ว่าจะสามารถรับรู้และพร้อมที่จะทำลายเชื้อไวรัสนั้นๆ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายของผู้รับในระดับที่แตกต่างกัน

ในขณะที่บรรดาบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินของโลก บริษัทเหล่านี้กลับได้รับความคุ้มครองว่าไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดทางกฎหมาย หากมีสิ่งผิดปกติหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีนโควิด-191  หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ประชาชนหรือรัฐบาลจะฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องการชดเชยความเสียหายใดๆ จากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไม่ได้นั่นเอง

ประเภท (Platforms) ของวัคซีนโควิด-19

ปัจจุบัน (31 มีนาคม 2564) มีวัคซีนทั่วโลกที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทางคลินิก (clinical development) โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมากถึง 10 ประเภท (platforms) (ดูตารางที่ 1) โดยองค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่จำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการพัฒนาจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งจนถึงวันนี้ มีผู้พัฒนาวัคซีนทั่วโลกจำนวนมากถึง 268 ราย ในจำนวนนี้มี 84 ราย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทางคลินิก (clinical development) และอีกจำนวน 184 ราย อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อนคลินิก (pre-clinical development)2

ตารางที่ 1 จำนวนผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทางคลินิก จำแนกตามประเภทวัคซีน

ประเภทวัคซีน จำนวนผู้พัฒนาวัคซีน
PS Protein subunit 27
VVnr Viral Vector (non-replicating) 12
DNA DNA 10
IV Inactivated Virus 11
RNA RNA 11
VVr Viral Vector (replicating) 4
VLP Virus Like Particle 4
VVr + APC VVr + Antigen Presenting Cell 2
LAV Live Attenuated Virus 2
VVnr + APC VVnr + Antigen Presenting Cell 1

ที่มา : องค์การอนามัยโลก

ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 รายสำคัญของโลก

ไม่ว่าจะเป็นผู้พัฒนาวัคซีนจากสัญชาติใด แต่ทุกบริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีนต่างมีเป้าหมายร่วมกัน คือเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ดูเหมือนจะมีวัคซีนของ 4 บริษัทรายใหญ่ ได้แก่ ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) โมเดอร์นา (Moderna) ออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-Astrazeneca) และซีโนแวค (Sinovac) ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด อย่างน้อยก็ในประเทศไทย

ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทางคลินิกขั้นที่ 4

บริษัท ประเทศ ประเภท จำนวน (โดส) ประสิทธิผล กลุ่มอายุ
ที่ฉีดได้
การเก็บรักษา
ไฟเซอร์
(Pfizer/BioNTech + Fosun Pharma)


ส่วนหนึ่งของรหัสพันธุกรรมของไวรัส (RNA based vaccine) 2 95% อายุ 16 ปีขึ้นไป -70°C

โมเดอร์นา
(Moderna+NIAID)

ส่วนหนึ่งของรหัสพันธุกรรมของไวรัส (RNA based vaccine) 2 94.5% อายุ 18 ปีขึ้นไป -20°C

แอสตร้าเซนเนก้า
(AstraZeneca + University of Oxford)

ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) 1-2 79% (จากการศึกษาหนึ่งในสหรัฐอเมริกา) อายุ 18 ปีขึ้นไป อุณหภูมิในตู้เย็นปกติ

ซีโนแวค
(Sinovac Research and Development Co., Ltd)

ใช้ไวรัสแบบเชื้อตาย (Inactivated virus) 2 50.38% (จากการทดลงในบราซิล) และ 83.5% (จากการทดลองในตุรกี) อายุ 18-59 ปี อุณหภูมิในตู้เย็นปกติ

ที่มา: สังเคราะห์ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก และ The New York Times

ทั้งนี้ วัคซีนของ Oxford-Astrazeneca และ Sinovac คือวัคซีนชุดแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่เป็นเงื่อนไขหลักในการประเมินวัคซีนของ ผู้พัฒนาทั้งสองรายนี้ คือความสามารถในการกระตุ้นให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ โดยไม่จำกัดว่าผู้รับวัคซีนจะมีอายุมากเท่าใดก็ตาม (ดูตารางที่ 2)

ในขณะที่จำนวนวัคซีนโควิด-19 ยังมีอยู่อย่างจำกัด กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลเกือบทุกประเทศต่างให้ความสำคัญมากที่สุดสำหรับการจัดลำดับเพื่อฉีดวัคซีนคงหนีไม่พ้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนก่อนในประเทศไทย ประกอบด้วย (1) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (2) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน (3) ผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ (4) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเชื้อโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

ความเชื่อมั่นต่อวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

แม้ว่าวัคซีนโควิด-19 ของทั้งค่าย Oxford-Astrazeneca และ Sinovac ต่างถูกนำมาฉีดให้กับผู้คนจำนวนกว่าหลายสิบล้านคนทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ความท้าทายอีกประการหนึ่งของการจัดสรรและกระจายวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (emergency use) ในประเทศไทยคือ การสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อความปลอดภัยของวัคซีน

 
รูปที่ 1 นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกของแอสตร้าเซนเนก้า
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

เพราะจากผลการสำรวจของโครงการประเมินเทคโนลีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ต่อความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวนกว่า 55,000 คน ต่อการรับวัคซีนโควิด-19 พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงครึ่งหนึ่ง (55%) เท่านั้น ที่ยินดีรับวัคซีนโควิด-19 ในขณะที่อีกประมาณ 1 ใน 3 ยังไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนหรือไม่3

แน่นอนว่า เงื่อนไขสำคัญของการยอมรับวัคซีนของบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป คือต้องแน่ใจว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วจะไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง


รูปที่ 2 ความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการรับวัคซีนโควิด-19 จำแนกตามอาชีพด้านสาธารณสุข
ที่มา: HITAP

การสร้างความมั่นใจต่อวัคซีนโควิด-19 ด้วยกลไกตามมาตรา 41

แม้ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศจะไม่สามารถฟ้องร้องต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่ความโชคดีของประเทศไทยคือการมีอยู่ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในบ้านเรา โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้มีการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการโดยไม่พิสูจน์ความผิด (No-fault compensation) ตามมาตรา 41 โดยบทบัญญัติในมาตรา 41 ของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดไว้ว่า

“ให้คณะกรรมการ [หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ] กันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” 4

จากความพยายามของรัฐบาลไทยในการรณรงค์เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมานี้ รัฐบาลจึงได้นำกลไกการคุ้มครองตามมาตรา 41 ของกฎหมายข้างต้นมาใช้เพื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนโดยทั่วไป เพราะการดำเนินงานตามมาตรา 41 นี้กว่า 17 ปีที่ผ่านมา (2547-2563) ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นการมุ่งเน้นช่วยเหลือเบื้องต้นต่อผู้เสียหายและญาติ รวมถึงผู้ให้บริการ (บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข) อย่างรวดเร็ว และยังไม่เคยมีการพิสูจน์ถูกผิด ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ก็ถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดให้ตั้งไว้

การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้จะครอบคลุมไปยังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในฐานะที่เป็นการให้ ‘บริการสาธารณสุข’ ใน ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ หรือภาวะวิกฤตของประเทศ โดยหากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนได้รับผลข้างเคียงอย่างรุนแรง ผู้เสียหายมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามเงื่อนไขของมาตรา 41 โดยกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับเงินเยียวยาตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท5 

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามที่ชวนคิดต่อไปได้ว่า ประชาชนคนไทยสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 41 ได้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพหลักของรัฐเลยหรือไม่ โดยในขณะนี้มีเพียงผู้มีสิทธิ์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และกองทุนประกันสังคมเท่านั้น ที่จะได้รับการคุ้มครอง แต่สำหรับผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ยังไม่มีกฎหมายใดมารองรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมบัญชีกลาง ว่าควรต้องดำเนินการอย่างไร6  แต่โดยหลักการแล้วผู้เขียนเชื่อว่า กลไกการคุ้มครองตามมาตรา 41 นี้ ควรจะถือเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน  

แม้จนปัจจุบันยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตที่เกิดจากการได้รับวัคซีนดังกล่าวในประเทศไทย (และหวังว่าคงจะไม่มีเกิดขึ้น) แต่การมีอยู่ของระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นต่อความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยไม่พิสูจน์ความผิดตามมาตรา 41 นี้ น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต่อการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ คงจะดีเช่นกันถ้ารัฐบาลจะเร่งเพิ่มการประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนจากค่ายต่างๆ ที่มีการใช้อยู่ในประเทศไทยให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงและชัดเจน และมีการสร้างระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อไป

แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรคได้ (ดูบทความเรื่อง ประสบการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร) รวมถึงลดอัตราความเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้กับประชาชน ขณะนี้พวกเราคงได้แต่คาดหวังว่า การกระจายและจัดสรรวัคซีนจะดำเนินไปอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมประชากรทุกคนภายในสิ้นปี 2564 ดังที่รัฐบาลตั้งใจไว้

พวกเราส่วนใหญ่ในฐานะเป็นผู้ที่จะได้รับวัคซีนในอนาคตอันใกล้ คงต้องลองหันมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการรับวัคซีนมากขึ้นเพื่อลดความตระหนกต่อสิ่งที่อาจไม่เกิดขึ้น เพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้ นับเป็นการฉีดยาครั้งประวัติศาสตร์ และถือเป็น ‘การฉีดวัคซีนเพื่อชาติ’ ที่น่าจะช่วยทำให้ประเทศไทยของเราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน(สักที)


อ้างอิง

  1. Sigalos, MacKenzie. 2020. “You Can’t Sue Pfizer or Moderna If You Have Severe Covid Vaccine Side Effects. The Government Likely Won’t Compensate You for Damages Either”. CNBC. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2564 (https://www.cnbc.com/2020/12/16/covid-vaccine-side-effects-compensation-lawsuit.html).
  2. World Health Organization. 2021. “Draft landscape and tracker of COVID-19 candidate vaccines”. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2564 (https://www.who.int/publications/m/item/draft-landscape-of-covid-19-candidate-vaccines).
  3. โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้าน. 2564. Policy Brief: ความต้องการวัคซีนโควิดของบุคลากรทางการแพทย์. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2564 (https://www.hitap.net/documents/180315).
  4. ราชกิจจานุเบกษา. 2545. พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545.
  5. Thai PBS. 2564. ‘รัฐเยียวยาผลข้างเคียงวัคซีน COVID-19 สูงสุด 400,000 บาท’. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564 (https://news.thaipbs.or.th/content/301963).
  6. Hfocus. 2564. “สปสช.จัดระบบรองรับกรณีผู้รับผลกระทบฉีดวัคซีนโควิด19 ใช้ ม. 41 ช่วยเยียวยา”. Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2564 (https://www.hfocus.org/content/2021/03/21159).

ขอบคุณภาพจาก  Photo by Gustavo Fring from Pexels



CONTRIBUTOR

Related Posts
อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เด็กปฐมวัย...โอกาสทองสร้างคน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th