The Prachakorn

ครอบครัว-งาน-เงิน : สามมิติสร้างสุขให้คนทำงาน


สุภรต์ จรัสสิทธิ์

16 พฤศจิกายน 2564
455



HAPPINOMETER เครื่องมือวัดความสุขคนทำงานองค์กรในประเทศไทย สำรวจความสุขคนทำงานเป็นประจำทุกปี ในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้สำรวจคนทำงานใน 436 องค์กรทั่วประเทศ จำนวน 27,543 คน1 พบความสุขคนทำงานองค์กรลดลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จาก 60.2 คะแนน ในปี 2562 เป็น 59.5 คะแนน ในปี 2563 ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนทำงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น ผลกระทบเชิงบวกต่อครอบครัว  55.2% ซึ่งจากมาตรการ Work from home คนทำงานที่ปฏิบัติงานที่บ้านมีโอกาสกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และผลกระทบเชิงลบด้านการเงิน 46.0% ในด้านการงาน มีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก และ ผลกระทบเชิงลบ ซึ่งกลุ่มแรกจะมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มหลังอยู่เล็กน้อย (41.0 และ 35.4% ตามลำดับ) ภายใต้ 3 มิตินี้มีผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบที่น่าสนใจในการสร้างสุขให้คนทำงาน

มิติที่หนึ่ง-ครอบครัว

การอยู่อาศัยของคนทำงานหากแบ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุเป็นสมาชิกในครอบครัวพบว่ามีมากกว่า 1 ใน 3 ของคนทำงาน ส่วนที่เหลือคือครอบครัวที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ จากผลการสำรวจพบว่าความสุขของคนที่อยู่บ้านเดียวกันกับเด็กหรือผู้สูงอายุ อยู่ที่ 61.5 คะแนน สูงกว่าบ้านที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งมีความสุขอยู่ที่ 58.5 คะแนน พอจะอธิบายได้ว่าครอบครัวที่มีหลากหลายวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน หากมีความเข้าใจความแตกต่างของแต่ละวัยแล้ว ครอบครัวลักษณะนี้เป็นครอบครัวที่จะช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุขทั้งในมิติด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาระยะยาวในประเทศสหรัฐอเมริกายังพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มี 2 รุ่น จะมีอายุยืนยาวขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ 2014 General Social Survey-National Death Index2 นำข้อมูลการตายของประชากรในสหรัฐอเมริกาในปี 2014 ศึกษาติดตามย้อนหลังไป 36 ปี จนถึงปี 1978 เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพและความยืนยาวของชีวิตซึ่งพบว่าการอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มี 2 รุ่น มีส่วนทำให้คนในครอบครัวมีสุขภาวะที่ดี เพราะสมาชิกในครอบครัวมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ได้ระบุว่าในยามที่ประสบปัญหายากลำบาก ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่กันหลายวัยไม่ได้เป็นปัจจัยส่งเสริมในเรื่องของการมีชีวิตที่ยืนยาวของสมาชิกในครอบครัว

มิติที่สอง-การงาน

ในช่วงที่มีการสำรวจ HAPPINOMETER โควิด-19 ได้ระบาดแล้วทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก วิกฤตครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบในทุกระดับ ในภาคเศรษฐกิจหลายองค์กรได้รับผลกระทบโดยเฉพาะงานภาคบริการ มากกว่าครึ่งของคนที่ตอบแบบสำรวจ HAPPINOMETER รู้สึกว่างานที่ทำขณะนี้มีความมั่นคงในระดับปานกลางถึงน้อยที่สุดหรือรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงเลย และในคนกลุ่มนี้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ อาศัยอยู่ในบ้านหลังคาเดียวกันพบว่ามีความสุขต่ำกว่าคนที่มีงานมั่นคง แม้จะอยู่ในบ้านที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุก็ตาม ความมั่นคงแข็งแรงของครอบครัวนอกจากจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสุขของคนแต่ละคนได้แล้ว การได้ทำงานในองค์กรที่มีความมั่นคง หรือ ความรู้สึกปลอดภัย มั่นคงจากงานที่ทำ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและมีความสุขได้ ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าไม่ใช่สถานการณ์ปกติต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน คนทำงานต่างต้องปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์วิฤตโควิด-19 ความเสี่ยงที่จะตกงาน ไม่มีงานทำ ความกังวลที่จะไม่มีรายได้ในอนาคต ส่งผลต่อคะแนนความสุขที่ต่ำกว่าคนที่มีงานทำที่มั่นคง

หมายเหตุ: ความสุข 9 มิติ ประกอบด้วย 1) สุขภาพกาย 2) ผ่อนคลายดี 3) น้ำใจดี 4) จิตวิญญาณดี 5) ครอบครัวดี 6) สังคมดี 7) ใฝ่รู้ดี 8) สุขภาพเงินดี และ 9) การงานดี

มิติที่สาม- การเงิน

เมื่อพูดถึงงานจะลืมพูดถึงเรื่องเงินคงไม่ได้ คำกล่าวที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” คนทำงานในองค์กรเมื่อมีงานทำก็หมายถึงการมีรายได้ จากผลการสำรวจ HAPPINOMETER จะพบว่ายิ่งรายได้สูงความสุขก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการนำมาตรวัด The Financial Anxiety Scale มาวัดความอยู่ดีมีสุขของคนทำงานอายุ 25 - 60 ปี ในประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยตั้งสมมติฐานว่าในช่วงวิกฤตนี้คนทำงานที่มีงานที่ไม่มั่นคงจะเกิดความกังวลทางด้านการเงินมากกว่า ซึ่งผลการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้3 จะเห็นได้ว่าแม้มีงานทำแต่หากไม่มีความมั่นคงก็มีผลกระทบทางด้านจิตใจเช่นกัน เมื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากข้อมูลการสำรวจ HAPPINOMETER ในคนที่มีงานมั่นคงและไม่มีสมาชิกที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุในครอบครัว พบว่ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบด้านการเงินในช่วงวิกฤตโควิด-19 ต่ำที่สุด คือ 37.7% ขณะที่คนที่มีงานที่ไม่มั่นคงไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกวัยเดียวกันหรือจะต่างวัยก็ได้รับผลกระทบด้านการเงินมากที่สุด ซึ่งครอบครัวที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ ถูกมองว่ามีความเปราะบาง โดยในการศึกษาของ Thailand Development Research Institute (TDRI) พบว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กมีความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก4

หมายเหตุ: แสดงเฉพาะร้อยละของคนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบด้านการเงินจากสถานการณ์โควิด-19
โดยอัตราส่วนร้อยกระจายไปในผลกระทบเชิงลบ เชิงบวก และไม่ได้รับผลกระทบ

ครอบครัว-การงาน-การเงิน ในยุคโควิด-19 ต้องสร้างสมดุลการใช้จ่าย บริหารการเงินให้ได้

ครอบครัวคือสังคมเล็กๆ ที่ใกล้ชิดเราที่สุด ความรัก ความผูกพัน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในครอบครัวช่วยสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับสมาชิกแต่ละคนในบ้าน ครอบครัวที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกันมีระดับความสุขมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ แต่เมื่อคนทำงานรู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความมั่นคงหรือมีความมั่นคงปานกลางถึงน้อยที่สุด คนกลุ่มนี้กลับมีความสุขน้อยกว่าคนที่มีงานที่มั่นคงทำแม้ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่มีคนหลายวัยอยู่ร่วมกัน และยิ่งในวิกฤตโควิด-19 การดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุทั้งในด้านการดูแลสุขภาพหรือความช่วยเหลือด้านการเงิน ครอบครัวกลุ่มนี้อาจจะต้องการความช่วยเหลือหรือได้รับผลกระทบมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กหรือผู้สูงอายุ ในเมื่อโควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ในขณะนี้ และการเงินเป็นมิติที่คนทำงานได้รับผลกระทบเชิงลบมาก เพื่อจะไม่เผชิญกับเรื่องที่ไม่คาดฝันจากงานที่ไม่มั่นคงหรือการมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่มีเงินเก็บออมยามฉุกเฉิน การบริหารจัดการด้านการเงินจึงเป็นสิ่งที่คนทำงานควรลงมือทำทันที ปรับพฤติกรรมวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เก็บเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินออมฉุกเฉิน อาจต้องลดรายจ่ายบางอย่างลงเพื่อให้มีเงินออมบ้าง หากทำได้ก็จะเป็นคนที่มีวินัยทางการเงิน และครอบครัวมีเงินเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินสำหรับอนาคต เมื่อมีการสำรวจความสุขในปีถัดไป ผลกระทบเชิงลบด้านการเงินของคนทำงานอาจลดลง รวมถึงความสุขคนทำงานที่จะเพิ่มขึ้นก็เป็นได้


อ้างอิง

  1. โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาพและความยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำการสำรวจความสุขคนทำงานองค์กร ปี 2563 โดยได้ ทำการสำรวจความสุขคนทำงานเป็นประจำทุกปี ด้วยเครื่องมือ HAPPINOMETER วัดความสุขคนทำงานในองค์กร ข้อมูลมีการถ่วงน้ำหนักคนทำงานในองค์กร 17 ประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นตัวแทนกลุ่มคนทำงานองค์กรในประเทศไทย
  2. Muennig, P., Jiao, B., & Singer, E. (2017). Living with parents or grandparents increases social capital and survival: 2014 General Social Survey-National Death Index. SSM - population health, 4, 71–75. doi.org/10.1016/j.ssmph.2017.11.001
  3. Basyouni SS & El Keshky MES. (2021). Job Insecurity, Work-Related Flow, and Financial Anxiety in the Midst of COVID-19 Pandemic and Economic Downturn. Front. Psychol. 12:632265. doi: 10.3389/fpsyg.2021.632265
  4. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ). (2563). ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครอบครัวเปราะบาง: ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก .


CONTRIBUTOR

Related Posts
มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

HAPPY FAMILY TALK

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

กายิกสุข

วรชัย ทองไทย

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ประเด็นทางประชากรและสังคม

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ความสุขของแม่

สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th