ในภาวะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่กำลังเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในประเทศไทยต้องจัดการและรับมืออยู่ในขณะนี้ ผลกระทบที่อาจจะมีต่อภาวะการจ้างงานของประชากร การมีงานทำ หรือการต้องหยุดทำงาน หรือรุนแรงขั้นสุดถึงการถูกเลิกจ้าง จากการที่สถานประกอบการไม่สามารถฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายกังวลและยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป
จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2563 (ไตรมาส 3)1 พบว่า อัตราการว่างงานภาพรวมของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด สูงกว่าในปี 2562 ไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ซึ่งก็พอจะเป็นตัวชี้วัดให้เห็นผลกระทบที่มีต่อตลาดแรงงานของไทยในช่วงที่มีการระบาดระลอกแรกได้บางส่วน แต่ผลกระทบบางส่วนก็น่าที่จะยังไม่สามารถแสดงออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนในการสำรวจ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบแฝงที่มีต่อลักษณะงานที่เปลี่ยนไป จำนวนชั่วโมงการทำงานของผู้ที่ยังมีงานทำ รวมถึง ค่าตอบแทนที่ได้รับที่น่าจะลดลงพอสมควร ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดและสถานประกอบการจำนวนมากแม้ยังไม่เลิกแต่ก็ต้องหยุดดำเนินการ หรือลดการผลิตลง
ดังนั้น สำหรับแรงงานหรือคนทำงานที่ยังคงมีงานทำ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง แม้จะยังไม่ถูกเลิกจ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยที่สุดก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกเรื่อง "ความมั่นคงของงาน" ที่ตนเองกำลังทำอยู่ ซึ่งความรู้สึกนี้มีความสำคัญมากต่อขวัญกำลังใจในการทำงาน ความวิตกกังวล และอาจนำไปสู่ความเครียดของคนทำงานได้ ซึ่งความเครียด ก็อาจเป็นปัจจัยนำไปสู่การมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพในบางเรื่องที่เพิ่มขึ้นของคนทำงาน โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น รวมถึงอาจส่งผลไปยังการขาดกะจิตกะใจในการไปออกกำลังกายหรือมีพฤติกรรมทางกายที่เพียงพอ ในต่างประเทศมีการศึกษาในเรื่องนี้อยู่พอสมควร เกี่ยวกับความสัมพันธ์หรืออิทธิพลของความรู้สึกไม่มั่นคงในงานที่มีต่อการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของคนทำงาน2, 3, 4
ในปี 2561 ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Center for Happy Worker Studies (TCHS) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร)5 ในประเทศไทยซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างคนทำงาน จำนวน 21,086 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยเครื่องมือวัดความสุข HAPPINOMETER ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับ "ความรู้สึกต่อมั่นคงของงานที่ทำอยู่" และ พฤติกรรมทางสุขภาพของคนทำงานในเรื่อง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการออกกำลังกาย อยู่ในชุดคำถามด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากลองนำข้อมูลจากผลการสำรวจนี้มาลองวิเคราะห์ดูว่า ความมั่นคงของงาน กับ พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพน่าที่จะะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ในบริบทคนทำงานของไทย
ภาพโดย วราวรรณ ฐาปนธรรมชัย
เมื่อเราจำแนกกลุ่มคนทำงานตามระดับความรู้สึกที่มีต่อความมั่นคงของงานที่ตนทำอยู่ เป็น 3 ระดับ จากมั่นคงมากหรือมากที่สุด มั่นคงปานกลาง จนถึง ไม่มั่นคงเลยหรือน้อยที่สุด และนำมาพิจารณาควบคู่กับข้อมูลพฤติกรรมทางสุขภาพ ก็พบว่า สัดส่วนของคนทำงานที่สูบบุหรี่ (ทั้งนาน ๆ ครั้ง หรือเป็นประจำ) ที่ดื่มแอลกอฮอล์ (ทั้งนาน ๆ ครั้ง หรือเป็นประจำ) และที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอ (ไม่ออกกำลังกายเลย หรือออกกำลังกายน้อยกว่า 3 วัน ต่อสัปดาห์) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามระดับความไม่มั่นคงของงานที่รู้สึกโดยคนทำงาน คนทำงานที่รู้สึกว่างานไม่มั่นคงเลยหรือมีความมั่นคงน้อย มีการสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 46.3 ดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 48.3 และ ไม่ออกกำลังกายเลยหรือออกกำลังกายน้อยกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ถึงร้อยละ 94.1 ขณะที่กลุ่มคนทำงานที่รู้สึกว่างานของตนเองมีความมั่นคงมากถึงมากที่สุด มีพฤติกรรมเหล่านี้ที่ต่ำกว่าชัดเจนที่ ร้อยละ 14.3 ร้อยละ 16.2 และร้อยละ 80.2 ตามลำดับ
ที่มา : ประมวลจากข้อมูลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2561 ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย (TCHS) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ ยังต้องมีการนำไปวิเคราะห์และทดสอบความมีนัยยะสำคัญทางสถิติต่อไปเพื่อยืนยันความสัมพันธ์นี้ แต่อย่างน้อยในเบื้องต้นก็พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงต่องานที่ตนเองทำอยู่ น่าจะมีความสัมพันธ์กับการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจจะเพิ่มขึ้นของคนทำงาน ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันกับโควิด 19 ที่คนทำงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างอยู่ในสถานประกอบการ น่าจะมีความรู้สึกไม่มั่นคง และความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อการถูกเลิกจ้าง หรือถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน การให้ความสำคัญในการมีกลไกสนับสนุน เฝ้าระวังและหาทางป้องกันการเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของคนทำงาน ในเรื่องการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์และออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ จึงเป็นเรื่องที่สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันดูแล
อ้างอิง
พรสุรีย์ จิวานานนท์
ชณุมา สัตยดิษฐ์
กุลภา วจนสาระ
เพ็ญพิมล คงมนต์
วรเทพ พูลสวัสดิ์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ณปภัช สัจนวกุล
สาสินี เทพสุวรรณ์
ดนุสรณ์ โพธารินทร์
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
สุรีย์พร พันพึ่ง
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
อมรา สุนทรธาดา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สาสินี เทพสุวรรณ์
อมรา สุนทรธาดา
สาสินี เทพสุวรรณ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด
ศุทธิดา ชวนวัน
ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด
ณัฐพร โตภะ
ปรียา พลอยระย้า
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อมรา สุนทรธาดา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
จรัมพร โห้ลำยอง
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
พิมลพรรณ นิตย์นรา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
มนสิการ กาญจนะจิตรา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
วรชัย ทองไทย