The Prachakorn

แด่..ความโสด..ที่ทำให้เราต้องอยู่คนเดียว


ศุทธิดา ชวนวัน

31 พฤษภาคม 2564
1,136



เมื่อโควิด-19 ได้ทำให้ประชากรทุกกลุ่มวัยในทุกพื้นที่ทั่วโลก ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โรค(โควิด) เปลี่ยนโลก ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร โควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการว่างงานของประชากรแล้ว ยังทำให้ประชากรวัยทำงานไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เมื่อคนวัยทำงานต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและสถานที่ทำงานจากที่เคยทำงานในที่ทำงานมาเป็นทำงานที่บ้าน (work from home – WFH) โควิดระลอกใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้พวกเราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในที่ทำงานมาเป็นทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลานานกว่าโควิดระลอกแรก 

การทำงานที่บ้าน (WFH) แน่นอนว่า ทำให้การพบปะกับเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้าง หรือการเปิดโอกาสในการพบคนใหม่ๆ น้อยลง ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของระดับภาวะเจริญพันธุ์ จำนวนคนโสดที่มีสัดส่วนสูงอยู่แล้วนั้น ยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น มีคู่หนุ่มสาวหลายคู่จำเป็นต้องอยู่ห่างกันเพราะอาชีพการงาน ในขณะเดียวกันพบว่ามีคู่หนุ่มสาวอีกจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องเลื่อนการแต่งงานออกไปเพื่อรักษามาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างไรก็ตามผลของการ WFH ก็ได้ทำให้หนุ่มสาวบางคู่ได้ใช้โอกาสของการอยู่ร่วมกันนี้เพิ่มภาวะเจริญพันธุ์ให้กับประเทศของตน  

นับวันสังคมไทยมีจำนวนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อยู่เป็นโสดมากขึ้นตามจำนวนสายสีต่างๆ ของรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่มีจำนวนสูงขึ้นเช่นเดียวกับความสูงของตึก แน่นอนว่า การที่มีคนอยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่งงานช้าลง มีลูกน้อย หรือไม่ต้องการมีลูก ย่อมทำให้จำนวนการเกิดของประเทศไทยลดลง ในปี 2563 นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนเกิดลดต่ำกว่า 6 แสนคนแล้ว1  กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามรณรงค์ให้คนไทยปั๊มลูกเพื่อแก้ไขวิกฤตเด็กเกิดน้อยนี้ ในขณะเดียวกันเรื่องคุณภาพการเกิด ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังคงต้องคำนึงถึงไปพร้อมกับการเพิ่มจำนวนเชิงปริมาณ 

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องในเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดแถลงข่าวงาน “Life Balance Smart Family” ชีวิตสมดุล ครอบครัวคุณภาพ2 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเกิด ด้วยความสมัครใจ เพื่อเพียงพอสำหรับทดแทนประชากร โดยมีการจัด 2 กิจกรรมให้กับประชาชนทั้งคนโสดและคนมีคู่ โดยมีการจัดกิจกรรมโสดมีตติ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้คนโสดได้มาพบปะพูดคุยกัน และการให้คู่รักที่ต้องการมีบุตร ได้ลุ้นรับคูปองตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร การตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก การเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากจากโรงพยาบาลที่ให้การสนับสนุนโครงการ รวมถึงการมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างใกล้ชิด นี่อาจจะเป็นภารกิจเพื่อชาติอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้สโลแกนที่ว่า “วิวาห์สร้างชาติ” และ “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” แต่ผลของกิจกรรมดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากเท่าไรนัก และถ้าใครพอจะจำได้ว่า เมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเรามีนโยบายส่งเสริมการเกิดภายใต้สโลแกนว่า “สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ” โดยให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปีทุกคน ที่มีความพร้อมและตั้งใจหรือวางแผนมีลูกจะได้รับวิตามินแสนวิเศษเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก พร้อมให้คำแนะนำการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม นโยบายการส่งเสริมการเกิดดังกล่าวอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะจำนวนเกิดของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง 

ที่มา: https://www.wiwahproject.com/RPH/Award.aspx?typ=1

แม้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกทั้งในแถบเอเชียตะวันออก เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และในประเทศแถบยุโรป เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ออสเตรเลีย ที่ประสบกับปัญหาการลดลงของการเกิด และมีมาตรการส่งเสริมการเกิด ดังเช่น การให้เงินพิเศษสำหรับบุตร การลดหย่อนภาษี สิทธิลาคลอด ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น และการบริการศูนย์ดูแลเด็กเล็ก3 แต่นโยบายดังกล่าวกลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร เช่นเดียวกับประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้การเกิดลดลง ดังเช่นในประเทศเกาหลีใต้และไต้หวันที่พบว่าเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก 

การเกิดที่มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งสัญญาณว่า ในอนาคตสัดส่วนของการอาศัยอยู่คนเดียวของประชากรในกลุ่มวัยทำงาน หรือแม้กระทั่งวัยสูงอายุนั้นจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วและได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ จากข้อมูลรูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุขององค์การสหประชาชาติ4 พบว่าในปี 2560 มีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวอยู่ประมาณร้อยละ 13.3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในทวีปยุโรป สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังคนเดียวอยู่ประมาณร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด 

ปรากฏการณ์การอยู่เป็นโสด และการอยู่ลำพังคนเดียว ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงกันจนกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว ปัจจุบันปรากฏการณ์นี้ได้ถูกนำมาพูดถึงและถูกนำเป็นจุดขายในเชิงธุรกิจในปัจจุบัน ดังเช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ใช้โอกาสนี้สร้างแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “ทัวร์คนโสด” “เส้นทางคนโสด Single Journey” #อย่าล้อเล่นกับความเหงา ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมี 3 เส้นทางหลัก คือ 1. โสดสายมู ล่องเรือ ไหว้พระ หารัก 2. โสดสายแซ่บ ซีเคร็ด ไอแลนด์ เกาะลับไม่ห่างรัก และ 3. โสดสายชิลล์ รถไฟขบวนสุดท้าย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศสไตล์คนโสด โดยชวนเฉพาะคนโสดมาร่วมทริปเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผลพลอยได้จากการท่องเที่ยวนี้นอกจากได้ความสุขจากการท่องเที่ยวแล้ว อาจทำให้คนโสดโชคดีได้แฟนกลับบ้านด้วย (ทริปคนโสดจะมีเพิ่มเส้นทางอีกหลังโควิด-19 ใครเป็นคนโสดโปรดจงรอ)

ที่มา: https://thai.tourismthailand.org/Articles/เปิดเส้นทางคนโสด-single-journey

ขณะเดียวกันในภาคธุรกิจร้านอาหาร ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันร้านค้าส่วนใหญ่ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 หรือแม้กระทั่งในช่วงโควิด-19 ที่เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ร้านค้าต่างๆ ได้เริ่มเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปยังคนที่ “ฉายเดี่ยว” มารับประทานอาหารที่ร้าน โดยจัดที่นั่งทานแบบทานคนเดียว ดังเช่น ร้านสุกี้ ปิ้งย่าง หรือหมูกระทะ ที่มีซิกเนเจอร์ในการนั่งทานกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สามารถนั่งทานคนเดียว หรือเปิดช่องทางให้สั่งไปรับประทานที่บ้านได้ ต่อไปนี้ใครที่เป็นสายปิ้งย่าง สายชาบู ก็คงสามารถไปร้านอาหารคนเดียวได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเขินอายอีกต่อไป

นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างมากเพื่อตอบโจทย์คนที่อยู่คนเดียวเพราะเป็นตัวช่วยที่ช่วยเยียวยาทางด้านจิตใจต่อประชากรทุกกลุ่มวัย มีงานวิจัยทางด้าน Pet Therapy ที่ช่วยยืนยันว่า สัตว์เลี้ยงช่วยสร้างความสุข คลายความเหงา บำบัดความเครียด ที่สำคัญคือช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้าอีกด้วย5  ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าสัตว์เลี้ยงได้กลายมาเป็นสมาชิกหนึ่งในครอบครัว เรียกได้ว่าเป็น “Pet Humanization (มนุษยาภิวัตน์ของสัตว์เลี้ยง)”6 ไม่ได้เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง หรือ Pet Lover เหมือนแต่ก่อน ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งคนที่แม้จะอยู่คนเดียว แต่ก็มีลูกหมา (ชื่อลูกหมี) ที่อยู่ด้วยกันทุกวันจนกลายเป็นสมาชิกในครอบครัวไปแล้ว รูปแบบการอยู่อาศัยกับสัตว์เลี้ยงน่าจะเป็นหนึ่งในรูปแบบการอยู่อาศัยที่มีความสำคัญมากขึ้นในครัวเรือนคนเดียวหรือครัวเรือนผู้สูงอายุในอนาคต 

ภาพถ่ายโดย: ศุทธิดา ชวนวัน

ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชีย ที่คนในประเทศส่วนใหญ่โดยเฉพาะในวัยอายุ 30-40 ปี จะมีวัฒนธรรมแบบ “ตัวคนเดียว” (Solo Culture) ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  วัฒนธรรมการอยู่คนเดียวของคนญี่ปุ่นเรียกว่า “Ohitorisama” (โอฮิโตริซามะ) มาจากคำว่า Hitori ที่แปลว่า คนเดียว และคำว่า Sama ที่แปลว่า คุณหรือท่าน เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงหมายถึง  คนที่ชอบทำอะไรคนเดียว7 ทำอะไรด้วยคนเดียวหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกินข้าว ดูหนัง ท่องเที่ยว ฯลฯ และผู้สูงอายุในญี่ปุ่นกลุ่มนี้เอง ที่มีแนวโน้มเสียชีวิตคนเดียวอย่างเดียวดาย ที่เรียกว่า โคโดคุชิ (Kodokushi) จนปัจจุบันเกิดอาชีพใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Trauma Cleaner” หรือ “นักเก็บกวาดทำความสะอาดห้องคนตาย” ใครที่เป็นสาวกซีรีย์เกาหลีใน Netflix สามารถติดตามดูได้ในซีรีย์เรื่อง Move to heaven ที่ถ่ายทอดความหมายของการมีชีวิต และสะท้อนสังคมการอยู่ลำพังคนเดียว ในอนาคตอาชีพนี้อาจจะมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อสังคมไทยกลายเป็นสังคมอยู่ตามลำพังคนเดียวอย่างเต็มตัว 

ที่มา: https://www.patsonic.com/series/review-move-to-heaven/ 

การอยู่เป็นโสด มีโอกาสทำให้ต้องอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวในวัยสูงอายุ  ในประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่ตามลำพังคนเดียวจนถึงบั้นปลายชีวิต และมีแนวโน้มที่จะต้องเสียชีวิต (ตาย) คนเดียว  การอยู่คนเดียวในช่วงวัยกลางคนอาจจะไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนักเพราะยังสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองและยังมีอาชีพมีงานทำ แต่การอยู่คนเดียวในวัยสูงอายุ เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะเจริญรอยตามวัฒนธรรมการอยู่คนเดียวของประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีกหลายๆ ประเทศ เราอาจต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับสังคมสูงวัยสำหรับคนที่เป็นโสดและต้องอยู่ลำพังคนเดียว  เพราะประชากรกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังและควรได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง 


อ้างอิง

  1. สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย. (2563). สถิติจำนวนเกิด. สืบค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statyear/#/TableTemplate/Area/statbirth 
  2. กรมสุขภาพจิต. (2564). เด็กเกิดน้อย ต้องเพิ่มคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ. สืบค้นจาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30610 
  3. มนสิการ กาญจนะจิตรา และนุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์. (2557). นโยบายเมื่อหมดยุคโซ่ทองคล้องใจ. ใน ยุพิน วรสิริอมร จงจิตต์ ฤทธิรงค์ ศุทธิดา ชวนวัน และพจนา หันจางสิทธิ์ (บรรณาธิการ), ประชากรและสังคม 2557: การเกิดกับความมั่นคงในประชากรและสังคม. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. 
  4. United Nations. (2019). Living arrangements of older persons around the world, Population Facts. USA: Population Divisions, United Nations.
  5. Mubanga, M., Byberg, L., Nowak, C., Egenvall, A., Magnusson, P. K., Ingelsson, E., & Fall, T. (2017). Dog ownership and the risk of cardiovascular disease and death – a nationwide cohort study. Scientific Reports, 7(1), 15821. doi:10.1038/s41598-017-16118-6
  6. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2564). โครงการวิจัยประเทศไทยในอนาคต Future Thailand: มิติที่ 1 ประชากรและโครงสร้างสังคมประเทศไทยในอนาคต.
  7. BBC. (2020). The rise of Japan's 'super solo' culture. Retrieved from: https://www.bbc.com/worklife/article/20200113-the-rise-of-japans-super-solo-culture


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
โสดมาราธอน

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th