The Prachakorn

โสดมาราธอน


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

22 มิถุนายน 2564
425



ความโสด สำหรับใครบางคนเป็นสิ่งที่น่าหวงแหนและควรจะรักษาไว้เพื่ออิสรภาพส่วนบุคคล การครองโสดหรือการเลื่อนการแต่งงานให้ยาวนานออกไปส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรเพราะทำให้มีลูกช้าลง ช่วงเวลาที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีลูกสั้นลง จนส่งผลต่อจำนวนการเกิดให้ลดลงตามไปด้วย

ระยะเวลาการครองโสดประเมินด้วย “อายุโสดเฉลี่ยเมื่อแรกสมรส” (singulate mean age at marriage) ซึ่งหมายถึง จำนวนปีเฉลี่ยที่ประชากรมีชีวิตอยู่ก่อนการแต่งงานครั้งแรก หรือ พูดง่ายๆ ว่า อายุเฉลี่ยเมื่อแต่งงานครั้งแรกนั่นเอง แนวโน้มการครองโสดที่ยาวนานขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่พบได้แทบทุกประเทศทั่วโลก ผู้เขียนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ประชากรชาติใดจะครองโสดยาวนานที่สุดในโลก

ข้อมูลจากสหประชาชาติ1 แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงชาวสโลวีเนียครองโสดนานที่สุด พวกเธอจะแต่งงานตอนอายุเฉลี่ย 34.1 ปี ผู้หญิงในประเทศแถบยุโรปจะครองโสดยาวนานกว่าผู้หญิงในภูมิภาคอื่นๆ ส่วนผู้หญิงในเอเชียที่ครองโสดนานที่สุดคือ สาวๆ ชาวเกาหลีใต้ พวกเธอจะตัดสินใจแต่งงานเมื่ออายุเฉลี่ย 31.5 ปี ผู้ชายส่วนมากจะครองโสดนานกว่าผู้หญิง ผู้ชายในสาธารณรัฐเอสโตเนียครองโสดนานที่สุดเฉลี่ย 36.3 ปี รองลงมาคือ ผู้ชายชาวสโลวีเนีย (35.9 ปี) ในขณะที่ผู้ชายชาวเกาหลีใต้ก็ครองโสดนานที่สุดในเอเชียเช่นกัน (33.9 ปี)

วัฒนธรรมการทำงานของคนไทยมักไม่เกื้อหนุนให้คนที่แต่งงานและมีลูกบริหารจัดการเวลาได้อย่างเป็นมิตรต่อครอบครัวนัก นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ชายและผู้หญิงมักจะครองโสดกันไปนานๆ เพราะเมื่อแต่งงานแล้วพวกเขาหรือเธอจำเป็นต้องสละวิถีชีวิตเดิม และให้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มที่ ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 พบว่า ประชากรไทยชายและหญิงแต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ 28.3 และ 23.7 ปี ตามลำดับ2

ภาพโดย: https://www.canva.com/join/pqc-xjm-wwb สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2564

คนโสดที่เป็นสุขมีให้เห็นอยู่รอบกาย พวกเขาและเธอสามารถจัดสรรเวลาทำกิจกรรมอินเทรนด์ใหม่ๆ อย่างการฝึกเล่นเซิร์ฟสเก็ตบอร์ด วิ่งมาราธอนรอบดึก ดูซีรีย์รวดเดียวจนจบซีซัน เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศโดยฉับพลัน ปีนเขาทุรกันดาร หรือจะปลูกต้นไม้จนล้นบ้าน แล้วถ่ายภาพลงอินสตาแกรม ...ไม่โสดทำไม่ได้นะ...


อ้างอิง

  1. United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division (2019). World Marriage Data 2019 (POP/DB/Marr/Rev2019).
  2. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย. (2016). อายุแรกสมรสเฉลี่ย. Retrieved fromhttps://rhdata.anamai.moph.go.th/index.php/familyplanning/familyplanning2

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

โสดมาราธอน

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th