The Prachakorn

ปัจจัยทางประชากรและสังคมที่มีอิทธิพลต่อการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอของคนไทย


สิรินทร์ยา พูลเกิด

27 เมษายน 2564
1,892



การกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประชากรโลก1  แม้ว่าประเทศไทยจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก สำหรับประเทศที่มีการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ดี2  แต่จากการสำรวจระดับประเทศในปี 25573  กลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ คือ กินผักและผลไม้น้อยกว่า 5 ส่วนต่อวัน หรือไม่ถึง 400 กรัมต่อวัน ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ4 

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำโครงการศึกษาพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย และวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 6,991 คน ซึ่งมาจากการสุ่มตัวอย่างของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สามารถนำมาเป็นตัวแทนในระดับประเทศได้ โดยศึกษาปัจจัยทางประชากรและสังคมที่มีอิทธิพลต่อการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอของประชากรไทยกลุ่มนี้
ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า เกือบ 2 ใน 3 ของคนไทย (ร้อยละ 65.5) กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ โดยกินเฉลี่ยเพียง 336.9 กรัมต่อวัน (จากคำแนะนำให้กินอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน) โดยปัจจัยด้านเพศ อายุ สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพ และรายได้ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอของคนไทย

ผู้ชายมีแนวโน้มกินผักและผลไม้น้อยกว่าผู้หญิง5  ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางเพศ ในด้านความตระหนักด้านสุขภาพ และความจำเป็นในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์6 ดังนั้นควรดึงดูดความสนใจของผู้ชาย โดยอาจเชื่อมโยงการกินผักและผลไม้เข้ากับการส่งเสริมความเป็นชาย เช่น การกินพืชผักช่วยในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ เป็นต้น   

กลุ่มวัยที่มีอายุน้อย (15-29 ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่าวัยอื่น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่พบว่า บุคคลที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาวจะเริ่มใช้ชีวิตอย่างอิสระและเสี่ยงต่อพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ7 ในขณะที่วัยผู้สูงอายุอาจเป็นผลเนื่องมาจากความพิการหรือความบกพร่องของการเคลื่อนไหว ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการแสวงหาผักและผลไม้มากิน 

คนโสดมีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่ากลุ่มคนที่แต่งงานแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพซึ่งกันและกันของทั้งคู่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการรับประทานอาหารที่ดีสุขภาพด้วย8 

คนกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่าคนในพื้นที่อื่น อาจเนื่องจากชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพถูกจำกัดด้วยเวลาและตารางการเดินทาง จำเป็นต้องกินอาหารนอกบ้าน และเลือกกินผักและผลไม้ได้น้อยลง9 ในขณะที่คนเมือง (ในเขตเทศบาล) และชนบท (นอกเขตเทศบาล) กลับไม่มีความแตกต่างในการกินผักและผลไม้มากนัก อาจเนื่องมาจากคนเมืองมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงผักและผลไม้ได้ไม่แตกต่างกับคนชนบท 

กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนพบปัญหาการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอมากที่สุด อาจเป็นเพราะที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะมีสภาพแวดล้อมทางอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงผักผลไม้ได้ง่าย10

คนมีระดับการศึกษาสูงขึ้น และคนมีรายได้สูงขึ้นมีแนวโน้มกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอลดลง11  อาจเนื่องมาจากคนกลุ่มนี้ อาจมีความความรู้ความตระหนัก และมีโอกาสในการเข้าถึงและสามารถซื้ออาหารเพื่อสุขภาพรวมไปถึงผักและผลไม้ได้มากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น12

ข้อค้นพบจากการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ยังกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ซึ่งหากไม่มีนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม ที่ใช้ดูแลและจัดการกับกลุ่มดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยกลุ่มนี้ในระยะยาว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายทางสุขภาพและสังคมทั้งในระดับครัวเรือนและประเทศ ตามมาเช่นกัน  
 


ที่มา:

Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Thongcharoenchupong, N., Soottipong Gray, R. and Chamratrithirong, A. (2020), "Sociodemographic differences affecting insufficient fruit and vegetable intake: a population-based household survey of Thai people", Journal of Health Research, Vol. 34 No. 5, pp. 419-429.

จากงานวิจัย โครงการสำรวจติดตามพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง:

  1. World Health Organization [WHO]. Global strategy on diet, physical activity and health. Geneva: WHO; 2019.
  2. World Health Organization [WHO]. Noncommunicable diseases progress monitor. Geneva: WHO; 2017.
  3. National Health Examination Survey Office. National Health examination survey 2014. Nonthaburi, Thailand: National Health Examination Survey Office and Ministry of Public Health; 2016.
  4. National Health Examination Survey Office. National Health examination survey 2014. Nonthaburi, Thailand: National Health Examination Survey Office and Ministry of Public Health; 2016.
  5. Karim, MN, Zaman, MM, Rahman, MM, Chowdhury, MAJ, Ahsan, H, Hassan, MM, et al., Sociodemographic determinants of low fruit and vegetable consumption among Bangladeshi adults: results from WHO-STEPS Survey 2010. Asia Pac J Public Health. 2017 Apr; 29(3): 189-98.
  6. Girard, AW, Self, JL, McAuliffe, C, Olude, O. The effects of household food production strategies on the health and nutrition outcomes of women and young children: a systematic review. Paediatr Perinat Epidemiol. 2012 Jul; 26(Suppl 1): 205-22.
  7. Poobalan, AS, Aucott, LS, Clarke, A, Smith, WC. Diet behaviour among young people in transition to adulthood (18-25 year olds): a mixed method study. Health Psychol Behav Med. 2014 Jan; 2(1): 909-28.
  8. Mata, J, Frank, R, Hertwig, R. Higher body mass index, less exercise, but healthier eating in married adults: nine representative surveys across Europe. Soc Sci Med. 2015 Aug; 138: 119-27. 
  9. Menezes, MC, Costa, BV, Oliveira, CD and Lopes, AC. Local food environment and fruit and vegetable consumption: an ecological study. Prev Med Rep. 2017 Mar; 5: 13-20. 
  10. Leung, SL, Barber, JA, Burger, A, Barnes, RD. Factors associated with healthy and unhealthy workplace eating behaviours in individuals with overweight/obesity with and without binge eating disorder, Obes Sci Pract. 2018 Apr; 4(2): 109-18. 
  11. Laz, TH, Rahman, M, Pohlmeier, AM and Berenson, AB. Level of nutrition knowledge and its association with weight loss behaviors among low-income reproductive-age women. J Community Health. 2015 Jun; 40(3): 542-8. 
  12. Bartley, M, Sacker, A, Firth, D, Fitzpatrick, R. Understanding social variation in cardiovascular risk factors in women and men: the advantage of theoretically based measures. Soc Sci Med. 1999 Sep; 49(6): 831-45. 
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
แรด

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th