คำว่า “แรด” จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 มี 3 ความหมายคือ ความหมายแรกเป็นคำนามหมายถึง “ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์ Rhinocerotidae เป็นสัตว์กีบคี่ขนาดใหญ่แต่ละขา มี 3 นิ้ว ขาสั้น ตาเล็กสายตาไม่ดี หูตั้ง ประสาทรับฟังเสียงและดมกลิ่นดีมาก หนังหนา มีทั้งชนิดนอเดียวและ 2 นอ กินพืช มักนอนในปลัก ในประเทศไทยมี 2 ชนิด ชนิดที่มีนอเดียว เรียกว่า แรดนอเดียวหรือแรดชวา (Rhinoceros sondaicus Desmarest) และชนิดที่มี 2 นอ เรียกว่า กระซู่ [Dicerorhinus sumatrensis (Fischer)]”
ความหมายที่ 2 เป็นคำนามหมายถึง “ชื่อปลานํ้าจืดชนิด Osphronemus gouramy Lacepède ในวงศ์ Osphronemidae ลำตัวแบนข้างหนา ปากเชิด ปลายครีบท้องยื่นยาวเป็นเส้น มีลายแถบสีเข้มพาดขวางลำตัวเห็นได้ชัดโดยเฉพาะปลาขนาดเล็ก ปลาตัวผู้ขนาดใหญ่มีโหนกที่สันหัวคล้ายนอและมีสีส้ม พื้นลำตัวและครีบสีนํ้าตาล ขนาดยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร”
ส่วนความหมายที่ 3 เป็นคำกริยาหมายถึง “ดัดจริต”
สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึง “แรด” ในความหมายแรกคือ สัตว์บกอันเป็นสัตว์สงวน ที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย และปกป้องภายใต้อนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Washington Convention) หรือไซเตส (CITES: Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)
แรดเป็นสัตว์โบราณที่อาศัยอยู่บนโลกหลายพันปีมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากภาพวาดฝูงแรดในผนังถ้ำ Chauvet cave ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 30,000-32,000 ปีก่อน (ดูรูป) แรดเคยมีอยู่เกือบ 100 ชนิด แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ชนิดคือ แรดขาว (white rhinoceros) แรดดำ (black rhinoceros) แรดอินเดีย (Indian rhinoceros) แรดชวา (Javan rhinoceros) และกระซู่หรือแรดสุมาตรา (Sumatran rhinoceros) โดยแรด 2 ชนิดแรกอาศัยอยู่ในแอฟริกา และอีก 3 ชนิดหลังอาศัยอยู่ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาพวาดฝูงแรดในผนังถ้ำ Chauvet cave ประเทศฝรั่งเศส
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Rhinoceros สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565
แรดเป็นสัตว์บกที่ใหญ่เป็นที่สองรองจากช้าง แรดที่ใหญ่ที่สุดคือแรดขาว ที่อาจมีน้ำหนักมากถึง 2,500 กิโลกรัม และสูงถึง 1.8 เมตร แรดมีสีเทา ดำ หรือน้ำตาล (แม้แต่แรดขาวก็มีสีเทา) แรดแอฟริกาจะมีตัวใหญ่กว่าแรดเอเชีย
แรดมีลักษณะเด่นคือ มีนอขนาดใหญ่บนจมูก บางชนิดอาจมี 2 นอ นอแรดไม่มีกระดูก แต่ประกอบด้วยเคราติน (keratin) อันเป็นโปรตีนโครงสร้างเส้นใย ที่เป็นองค์ประกอบหลักของเส้นผม เล็บ ขนนก เขาสัตว์ และกีบเท้า
เมื่อแรกเกิดแรดยังไม่มีนอจนกระทั่งอายุ 2 เดือน นอแรดจึงค่อยปรากฏขึ้น และจะเติบโตไปจนตลอดชีวิต
แรดเป็นสัตว์โดดเดี่ยว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีเขตแดนของตนเอง แรดใช้นอเพื่อป้องกันเขตแดนหรือคู่ครอง รวมทั้งป้องกันตัวจากศัตรู เช่น สิงโต เสือ หมาใน
แรดจะแยกกันอยู่หลังจากผสมพันธุ์ โดยตัวเมียตั้งท้องราว 14-18 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกแรดจะดูดนมแม่จนถึงอายุ 1 ขวบ และออกจากแม่ไปเมื่ออายุ 3 ปี ตัวเมียเว้นระยะตั้งท้อง 2-5 ปี แรดมีอายุเฉลี่ย 40-45 ปี
ที่อยู่อาศัยของแรดแตกต่างกันไปตามชนิด ได้แก่ สะวันนา ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ และป่าทึบในเขตร้อน แรดกินพืชเป็นอาหาร เช่น หญ้า หน่อไม้ ใบไม้ ผลไม้ ลูกไม้ ใบอ่อน
ปากของแรดมีวิวัฒนาการแตกต่างกันตามแหล่งอาหาร เช่น แรดขาวที่หากินตามทุ่งหญ้า จะมีปากที่กว้างและแบน เหมาะสำหรับแทะเล็มหญ้าจากพื้นดิน ในขณะที่แรดดำจะมีปากยาวและแหลม เหมาะสำหรับกินอาหารตามพุ่มไม้
แรดมีผิวหนังหนาแต่รู้สึกไว เพราะมีหลอดเลือดชิดใต้ผิวหนัง อันมีผลให้เกิดแผลง่าย แรดจึงชอบแช่ตัวในโคลนและคลุกฝุ่น เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกแดดเผาและแมลงกัดต่อย
นอกจากแรดจะถูกล่าเพื่อเอานอไปทำยาจีนแผนโบราณ ด้ามกฤช (“กฤช” เป็นคำโบราณของ “กริช” โดยเมื่อเขียนว่า "กฤช" แล้ว จะขลังและศักดิ์สิทธิ์กว่า "กริช" อันมีผลทำให้ด้ามของกฤชต้องทำด้วย "นอแรด" แต่ถ้าเขียนว่า "กริช" ด้ามจะทำด้วยไม้หรือพลาสติกก็ได้) หรือของตกแต่ง จนทำให้เกือบสูญพันธุ์แล้ว แรดยังถูกคุกคามจากการขยายถิ่นฐานของมนุษย์ ที่บุกรุกเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของแรดอีกด้วย ดังนั้นมาตราการสงวนพันธุ์แรดคือ การออกกฎหมายห้ามตัดไม้ในเขตที่อยู่อาศัยของแรด และลักลอบล่าสัตว์
รางวัลอีกโนเบล สาขาขนส่ง ในปี 2564 ได้มอบให้กับนักวิจัย 13 คน จากประเทศนามิเบีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย ซิมบับเว บราซิล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (Robin Radcliffe, Mark Jago, Peter Morkel, Estelle Morkel, Pierre du Preez, Piet Beytell, Birgit Kotting, Bakker Manuel, Jan Hendrik du Preez, Michele Miller, Julia Felippe, Stephen Parry และ Robin Gleed) ที่ได้ทำการทดลองเพื่อกำหนดว่า ในการขนส่งแรดทางอากาศนั้น ถ้าให้แรดนอนกลับหัวลงจะปลอดภัยกว่าไหม
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด
หมายเหตุ: ที่มา “แรด” ใน ประชากรและการพัฒนา 42(4) เมษายน-พฤษภาคม 2565: 8
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย