The Prachakorn

ช้าง


วรชัย ทองไทย

16 มีนาคม 2565
4,895



ช้างเป็นสัตว์บกที่ใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุดในโลก ถึงแม้ช้างจะตัวใหญ่และแข็งแรง แต่ก็เป็นสัตว์ที่นุ่มนวล ฉลาด และจงรักภักดี ช้างจึงไม่ค่อยจะต่อสู้กัน แม้ในเวลาที่ต้องป้องกันตัว ช้างจะวิ่งเข้าใส่ศัตรูแต่จะหันหลังกลับในวินาทีสุดท้าย เพราะช้างตัวใหญ่และอยู่ร่วมกันเป็นโขลง ช้างส่วนใหญ่จึงมีชีวิตอยู่จนสิ้นอายุขัย (ราว 60-70 ปี) โดยไม่ถูกสัตว์อื่นจับกินเป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม ช้างกลับถูกมนุษย์ฆ่า เพื่อเอางาจนใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ต้องอยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครองของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources: IUCN) และเกือบทุกประเทศในโลกได้ตกลงร่วมกัน ที่จะไม่ค้าขายงาช้างในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989)

แต่ก่อนช้างมีหลายชนิดกระจายกันอยู่ทั่วโลก ยกเว้นในทวีปออสเตรเลีย ปัจจุบันช้างเหลืออยู่ 2 ชนิดคือ ช้างแอฟริกาและช้างเอเชีย (หรือช้างอินเดีย) ช้างแอฟริกาตัวใหญ่กว่าช้างเอเชีย และมีข้อแตกต่างกันคือ หลังของช้างแอฟริกาจะเว้าลงตรงกลาง ส่วนหลังของช้างเอเชียจะนูนขึ้น หัวช้างแอฟริกามีโหนกเดียว แต่หัวช้างเอเชียมีโหนก 2 โหนก สำหรับความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ หูของช้างแอฟริกาจะใหญ่กว่า และมีรูปร่างคล้ายทวีปแอฟริกา ส่วนหูของช้างเอเชียจะเล็ก และมีรูปร่างคล้ายประเทศอินเดีย (ดังรูป)


รูป เปรียบเทียบช้างแอฟริกากับช้างเอเชีย
ที่มา: https://www.elephantretirementpark.com/elephant-post/34
สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2565

หูที่มีขนาดใหญ่ของช้างทำให้มีความไวต่อเสียง นอกจากนี้ หูยังทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายอีกด้วย โดยหลังใบหูจะมีเส้นเลือดขนาดเล็กหลายพันเส้น เพื่อทำหน้าที่ระบายความร้อน ช้างจะโบกหูไปมาเพื่อช่วยให้ร่างกายเย็นลง

ช้างมีสายตาสั้น มองเห็นได้ไม่ไกล และไม่สามารถมองไปข้างหลังได้ ทำให้ต้องอาศัยประสาทส่วนอื่น ได้แก่ กลิ่น เสียง และสัมผัส

ช้างใช้งวงเพื่อดมกลิ่นด้วยการโบกงวงไปมาในอากาศ ช้างสามารถได้กลิ่นมนุษย์ไกลถึง 1.6 กิโลเมตร

งวงช้างเป็นทั้งริมฝีปากบนและจมูก แต่ยังทำหน้าที่เหมือนแขนและมือด้วย ช้างใช้งวงเพื่อหายใจ ดมกลิ่น ส่งเสียง ดื่มน้ำ อาบน้ำ จับอาหารใส่ปาก ยกสิ่งของ ปัดแมลง และใช้ทักทายช้างตัวอื่น งวงช้างไม่มีกระดูก แต่มีกล้ามเนื้อและเอ็นมากกว่า 100,000 หน่วย จึงแข็งแรงมาก ถึงขนาดสามารถถอนต้นไม้ได้ทั้งต้น ในขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นจนสามารถใช้ทำงานที่ละเอียดอ่อน เช่น หยิบยอดหญ้า เก็บเหรียญขนาดเล็ก

ช้างสัมผัสด้วยปลายงวงซึ่งมีปุ่มยื่นออกมาเหมือนนิ้ว โดยช้างแอฟริกามี 2 นิ้ว แต่ช้างเอเชียมีเพียงนิ้วเดียว ประสาทที่ปลายงวงมีความไวเป็นพิเศษ ทำให้ช้างรู้รูปร่าง ขนาด ลักษณะพื้นผิว และอุณหภูมิของวัตถุที่สัมผัสได้

ช้างเป็นสัตว์กินพืช อาหารของช้างได้แก่ หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ เปลือกไม้ หน่อไม้ รากไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เพราะขนาดที่ใหญ่โต ทำให้ช้างต้องกินอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน โดยแต่ละวันอาจกินมากถึง 200 กิโลกรัม

ช้างมีฟัน 6 ชุด ชุดละ 4 ซี่ โดยฟันชุดใหม่จะเกิดขึ้นแทนที่ชุดเก่า ที่กร่อนลงจากการเคี้ยว ช้างจะมีฟันชุดสุดท้ายเมื่ออายุราว 40 ปี เมื่อฟันกร่อนจนถึงราก ช้างก็ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ และจะตายจากการอดอาหาร

งาช้างก็คือ ฟันบนที่ยื่นออกมา ช้างแอฟริกาทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีงา แต่ช้างเอเชียจะมีงาเฉพาะตัวผู้เท่านั้น ส่วนตัวเมียจะมีงาเล็กมากหรือไม่มีเลย ช้างใช้งาเพื่อป้องกันตนเองและหาอาหาร ได้แก่ ขุดหาน้ำ เกลือ รากไม้ หรือใช้ขูดเปลือกไม้ออกจากต้นไม้

ช้างตัวเมียและลูกช้างจะอยู่ร่วมกันเป็นโขลง มีตั้งแต่ 8 ถึง 100 ตัว หัวหน้าโขลงเป็นช้างตัวเมียที่มีอายุมากที่สุด ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจในการเดินทาง เพื่อแสวงหาอาหารและน้ำ โดยอาศัยความรู้ที่ได้สะสมมาตลอดชีวิต ก่อนที่หัวหน้าโขลงจะเสียชีวิต ความรู้ทั้งหมดนี้จะถูกถ่ายทอดให้กับช้างตัวเมียที่มีอายุน้อยถัดไป

ช้างตัวผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามลำพัง หรือไม่ก็อยู่เป็นกลุ่มกับช้างตัวผู้ด้วยกัน โดยช้างตัวผู้กับช้างตัวเมียจะมาพบกันเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้น ช้างตัวเมียจะตกลูกครั้งละ 1 ตัว ทุกๆ 4-5 ปี  และจะใช้เวลาตั้งครรภ์นานถึง 22 เดือน

ลูกช้างจะดูดนมแม่ด้วยปากจนถึงอายุ 6 ขวบ และเริ่มกินอาหารอื่นเมื่ออายุ 6 เดือน ลูกช้างตัวผู้จะอยู่กับแม่จนถึงอายุ 10 ขวบ และจะอยู่ในโขลงจนถึงอายุ 12-14 ขวบ จึงจะออกไปจากโขลง ในขณะที่ลูกช้างตัวเมียจะอยู่กับแม่นานกว่านั้น โดยในระหว่างนี้ก็จะช่วยดูแลลูกช้างที่เล็กกว่าด้วย และจะอยู่ในโขลงตลอดชีวิต

ช้างถูกมนุษย์ใช้งานมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาล ส่วนใหญ่ถูกจับมาจากป่าเมื่อมีอายุระหว่าง 10-20 ปี มนุษย์ได้ใช้ช้างในการสงคราม ชักลาก จัดแสดงในสวนสัตว์ และแสดงละครสัตว์ ปัจจุบันช้างถูกใช้ในกิจการท่องเที่ยวอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2545 รางวัลอีกโนเบล สาขาคณิตศาสตร์ ได้มอบให้แก่นักวิจัยชาวอินเดีย 2 คน ( K.P. Sreekumar และ G. Nirmalan) ที่ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง การคาดประมาณเนื้อที่ผิวหนังของช้างอินเดีย

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำ แล้วจึงได้คิด


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “ช้าง” ในประชากรและการพัฒนา 38(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2560: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
คูถและมูตร

วรชัย ทองไทย

ภาษา

วรชัย ทองไทย

แรด

วรชัย ทองไทย

ช้าง

วรชัย ทองไทย

หลุมดำ

วรชัย ทองไทย

การพนัน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th