The Prachakorn

วิถีใหม่


วรชัย ทองไทย

29 ตุลาคม 2564
637



วิถีใหม่ (new normal) คือ แบบแผนการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ล้างมือเป็นประจำ ทานอาหารร้อนและใช้ช้อนกลาง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน เว้นระยะห่าง (social distancing) จากคนอื่น โดยการทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันการติดต่อของโควิด-19 (COVID-19) ไม่ให้แพร่ขยายออกไป

โควิด-19 เป็นโคโรนาไวรัส (coronavirus: CoV) สายพันธุ์ใหม่ที่พบเป็นรายแรกในประเทศจีนเมื่อสองปีที่แล้ว (พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ. 2019) จึงถูกเรียกว่า “COVID-19”

โคโรนาไวรัสเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ติดต่อกันได้ระหว่างสัตว์กับมนุษย์  อาการที่พบประจำคือ เป็นไข้ ไอ หายใจถี่และลำบาก ถ้าเป็นมากจะทำให้เป็นโรคปอดบวม ทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (severe acute respiratory syndrome: SARS) ไตวาย และอาจถึงเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันมาตรฐานที่จะไม่ให้โรคแพร่ระบาดออกไปคือ ล้างมือเป็นประจำ ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม กินอาหารสุกโดยเฉพาะเนื้อสัตว์และไข่ หลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้หรือสัมผัสกับผู้ที่แสดงอาการป่วยด้านระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอหรือจาม

ในปี 2563 โควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะกำจัดได้เมื่อไร ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตก็ยังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะการฉีดวัคซีนยังไม่แพร่หลายและเพียงพอ จึงไม่ทันกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19

พิธีมอบรางวัลอีกโนเบลครั้งที่ 31 ในปีนี้จึงต้องจัดแบบทางไกลเหมือนปีที่แล้ว โดยได้จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 ทาง webcast สำหรับพิธีกรรมต่างๆ ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ได้แก่ สุนทรพจน์ต้อนรับและอำลา การปาเครื่องบินกระดาษ การประกาศรายชื่อผู้มอบรางวัลอีกโนเบลซี่งเป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล การมอบรางวัลอีกโนเบล การแสดงอุปรากรสั้นเรื่อง สะพานเชื่อมคน และปาฐกถา 24/7 ผู้สนใจสามารถชมพิธีมอบรางวัลได้ที่ https://www.improbable.com/2021-ceremony/

รางวัลอีกโนเบลในปีนี้มี 10 รางวัลในสาขาต่างๆ ดังนี้

สาขาชีววิทยา

มอบให้กับนักวิจัยชาวสวีเดน (Susanne Schötz)  ที่ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของเสียงฟี้ เสียงกริ๊งๆ เสียงจ้อกแจ้ก เสียงเจี๊ยวจ๊าว เสียงรัว เสียงแหลม เสียงกระหึ่ม เสียงเหมียว เสียงครวญคราง เสียงแหลม เสียงฟู่ เสียงยาว เสียงหอน เสียงคําราม และเสียงแบบอื่นๆ ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างแมวกับมนุษย์

สาขานิเวศวิทยา

มอบให้กับนักวิจัย 4 คน จากประเทศสเปนและอิหร่าน (Leila Satari, Alba Guillén, Àngela Vidal-Verdú และ Manuel Porcar) ที่ได้ใช้การวิเคราะห์ทางพันธุกรรม เพื่อระบุสายพันธุ์ของแบคทีเรียชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในก้อนหมากฝรั่งที่ถูกทิ้งลงบนทางเท้าในประเทศต่างๆ

สาขาเคมี

มอบให้กับนักวิจัย 10 คน จากประเทศเยอรมัน สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ กรีซ ไซปรัส และออสเตรีย (Jörg Wicker, Nicolas Krauter, Bettina Derstroff, Christof Stönner, Efstratios Bourtsoukidis, Achim Edtbauer, Jochen Wulf, Thomas Klüpfel, Stefan Kramer และ Jonathan Williams) ที่ได้นำเอาอากาศภายในโรงภาพยนตร์มาทำการวิเคราะห์ทางเคมี เพื่อทดสอบว่ากลิ่นตัวของผู้ชมภาพยนต์จะเป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ในการใช้ “วัดระดับของ” ความรุนแรง พฤติกรรมทางเพศ พฤติกรรมต่อต้านสังคม การใช้สารเสพติด และการพูดหยาบคาย ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ที่กําลังฉายอยู่

สาขาเศรษฐศาสตร์

มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส (Pavlo Blavatskyy) ที่ได้ค้นพบว่า โรคอ้วนของนักการเมืองในประเทศหนึ่งๆ อาจเป็นตัวชี้วัดที่ดีของการฉ้อราษฎร์บังหลวงของประเทศนั้นๆ

สาขาแพทย์

มอบให้กับนักวิจัย 4 คน จากประเทศเยอรมัน ตุรกี และสหราชอาณาจักร (Olcay Cem Bulut, Dare Oladokun, Burkard Lippert และ Ralph Hohenberger) ที่ได้สาธิตให้เห็นว่า การถึงจุดสุดยอดทางเพศมีประสิทธิภาพพอๆ กับการใช้ยาลดอาการคัดจมูก เมื่อต้องการให้หายใจโล่งขึ้น

สาขาสันติภาพ

มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา 3 คน (Ethan Beseris, Steven Naleway และ David Carrier) ที่ได้ทดสอบสมมุติฐานที่ว่า วิวัฒนาการของเครามนุษย์ที่มีมานั้น ก็เพื่อป้องกันใบหน้าจากการถูกชก

สาขาฟิสิกส์

มอบให้กับนักวิจัย 5 คน จากประเทศเนเธอร์แลนด์ อิตาลี ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา (Alessandro Corbetta, Jasper Meeusen, Chung-min Lee, Roberto Benzi และ Federico Toschi) ที่ได้ทำการทดลองเพื่อจะได้เรียนรู้ว่า ทำไมคนเดินถนนถึงไม่เดินชนกันไปเรื่อยๆ

สาขาจลนศาสตร์

มอบให้กับนักวิจัย 4 คน จากประเทศญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี (Hisashi Murakami, Claudio Feliciani, Yuta Nishiyama, and Katsuhiro Nishinar) ที่ได้ทำการทดลองเพื่อจะได้เรียนรู้ว่า ทำไมบางครั้งคนเดินถนนถึงเดินชนกัน

สาขากีฏวิทยา

มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา 4 คน (John Mulrennan, Jr., Roger Grothaus, Charles Hammond และ Jay Lamdin) สำหรับรายงานวิจัยเรื่อง วิธีการใหม่ของการควบคุมแมลงสาบในเรือดําน้ำ

สาขาขนส่ง

มอบให้กับนักวิจัย 13 คน จากประเทศนามิเบีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย ซิมบับเว บราซิล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (Robin Radcliffe, Mark Jago, Peter Morkel, Estelle Morkel, Pierre du Preez, Piet Beytell, Birgit Kotting, Bakker Manuel, Jan Hendrik du Preez, Michele Miller, Julia Felippe, Stephen Parry และ Robin Gleed) ที่ได้ทำการทดลองเพื่อกำหนดว่า ในการขนส่งแรดทางอากาศนั้น จะปลอดภัยกว่าไหมที่จะให้แรดนอนกลับหัวลง (ดูรูป)

รูป: การขนส่งแรดทางอากาศ
ที่มา: https://gigazine.net/gsc_news/en/20210910-2021-ig-nobel-prize สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564
 

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


หมายเหตุ: ที่มา “วิถีใหม่” ในประชากรและการพัฒนา 42(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2564: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

HAPPY FAMILY TALK

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

ติดรถ – รถติด ปลอดรถ – ลดพิษ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th