The Prachakorn

ข้าวสารวันเหงา และก้าวต่อ ๆ ไป


สลาลี สมบัติมี

15 ธันวาคม 2563
391



ผ่านมาถึงเดือนสุดท้ายของปีที่แสนยาวนาน สถานการณ์โควิด-19 ทำเอาแพลนของทั้งโลกนั้นเป๋ไปไม่น้อย ในวันที่โลกเคยเชื่อมต่อกันแบบแทบไร้เขตพรมแดน ผู้คนสัญจรข้ามซีกโลกไปมาได้อย่างอิสระและไม่มีความลำบาก การตัดฉับความเชื่อมต่อของคนทั้งโลกภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนนั้นได้สร้างความโกลาหล ความสับสนและอีกหลายอย่างที่มนุษย์รุ่นเรายังไม่เคยเผชิญหน้ามาก่อน 

ผู้เขียนเองมีกิจการ Bed & Breakfast หรือบีแอนด์บีเล็ก ๆ อยู่ห่างจากถนนข้าวสารประมาณ 10 นาที ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเกิดขึ้นของเชื้อไวรัสนี้ แขกต่างชาติเปลี่ยนแผนจากการเที่ยวยาวเป็นหาทางกลับให้ได้เร็วที่สุดเนื่องด้วยสถานการณ์ที่ยากจะคาดการณ์ บางคนเพิ่งมาถึงกระเป๋าสัมภาระยังไม่ได้เปิดดี ต้องปิดกระเป๋า หาตั๋วกลับเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ติดอยู่ที่นี่ต่อไปโดยไม่มีกำหนด 

จุดหมายและแผนการเที่ยวถูกเปลี่ยนกะทันหันและต้องดิ้นกันไปตามสถานการณ์ที่เกินคาดเดา สถานการณ์ธุรกิจของผู้เขียนนั้นจากห้องพักที่มี 7 ห้อง 2 ตึก ผู้เขียนตัดสินใจคืน 1 ตึกให้เจ้าของโดยไม่ยื้อเช่าต่อในวันหนึ่งของกลางเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเห็นว่าระบบการจองออนไลน์ที่เคยมีแขกจองเข้ามาเต็มทุกวันเปลี่ยนเป็นการแจ้งเตือนขอยกเลิกการจองยาว ๆ ไปถึงสิ้นปีฉันเฝ้ามองถนนข้าวสารจากวันที่เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบหยุดการเคลื่อนไหวเหมือนแช่แข็งไว้ทั้งถนน ตั้งแต่วันที่เริ่มประกาศเคอร์ฟิว บรรยากาศนั้นร้างราวกับเมืองร้างในหนังซอมบี้ล้างโลก ประกอบกับตอนนั้นถนนข้าวสารที่กำลังปรับปรุงพื้นถนนเต็มไปด้วยฝุ่นปูนและพื้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ ป้ายไวนิลของรัฐเขียนข้อความว่า “ชาวข้าวสารจะสู้ COVID-19 และผ่านวิกฤติไปด้วยกัน”  

แต่เมื่ออ่านข้อความแล้ว มองบริบทโดยรอบแล้ว มันกลับนึกภาพตามไม่ออก 

จากวันที่ถนนคึกคักจากการมาเยี่ยมเยียนของคนทั่วโลก มาจนถึงวันที่ทั้งถนนเงียบงันจนไม่กล้าปั่นจักรยานผ่านเข้าไป ร้านรวง ผับ บาร์ ร้านนวด บริษัททัวร์ ที่สู้ไม่ไหวตัดสินใจถอยไปตั้งหลักด้วยไม่รู้จะวางแผนจัดการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรดี ป้ายไฟและแสงสีสว่างไสวของถนนที่ไม่เคยหลับใหลถูกแทนที่ด้วยป้ายปิดประกาศเช่า เซ้ง เลิกกิจการ ร้านค้าที่เคยเรียงรายเหลือแค่คนขายไร้คนซื้อ ถนนเส้นหลักสายบันเทิงที่เคยต้องเดินเบียดแบบไหล่ชนไหล่ เปลี่ยนเป็นถนนที่สามารถมองทะลุจนสุดอีกฟากได้แบบไม่มีใครเดินผ่าน ลองจินตนาการภาพเหล่าพนักงานที่ร้านปิดและว่างงานจนล้อมวงเล่นตะกร้อกลางถนนข้าวสาร เล่นแบดมินตัน ถนนข้าวสารที่เด็ก ๆ ปั่นจักรยานเล่นได้ มันเกินจินตนาการว่าถนนสายนี้จะมีวันที่เงียบและไร้ผู้คนจนเอารถยนต์เข้ามาจอดได้แบบสบาย ๆ 

เมื่อปี 2560 ที่ฉันมาเริ่มเปิดกิจการในย่านนี้ ก็มักได้ยินได้ฟังเสียงจากคนที่เปิดกิจการอยู่ก่อนหน้าว่ามันเงียบกว่าปีที่แล้วมาก เปิดมาสามปี ได้ยินคำนี้จากเพื่อนบ้านมาประปรายทุกปี แต่ด้วยกิจการของฉันขนาดเล็กและดูแลเอง จึงมีแขกแวะเวียนมาตลอดปี จะเห็นความแตกต่างของความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวก็ตามธรรมชาติของหน้าโลว์และหน้าไฮซีซั่น ถนนหน้าบ้านนั้นไม่เรียกว่าพลุกพล่าน แต่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินผ่านไปมาตลอดวัน แบบที่ขายอะไรในบ้านก็พอมีคนแวะเข้ามาให้เกิดรายได้แบบไม่มากมาย แต่ก็อยู่ไปได้เรื่อย ๆ ห้องมีแขกจองเต็ม 80-90% ช่วงนั้นเราสามารถสร้างรายได้จากการอยู่ในบ้าน ขายทัวร์ บริการแท็กซี่ ขายเครื่องดื่ม และขายของจุกจิกได้ และไม่เคยจินตนาการถึงวันที่ย่านนี้จะไม่มีนักท่องเที่ยวได้
โดยปกติแล้วเดือนธันวาคมคือช่วงพีคที่โรงแรมร้านรวงทั้งหลายในโซนนี้คับคั่งไปด้วยผู้คนจากทั่วโลก หลายคนคงจินตนาการภาพความคึกคักของถนนสายนี้ได้เป็นอย่างดี ฉันได้มีโอกาสไปฉลองปีใหม่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 บนถนนข้าวสารที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เบียดเสียดชนิดที่ไหล่ชนไหล่หายใจรดต้นคอ (ตอนนั้นโควิด-19 ยังไม่ระบาด) แน่นขนาดที่ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าหรือถอยกลับได้ สามวินาทีก่อนเที่ยงคืนเลยต้องยืนนับถอยหลังเข้าวันใหม่ของปี 2563 ตรงกลางถนนโดยไม่รู้ยืนอยู่บนเท้าใคร

หน้าบ้านผู้เขียนที่เคยมีนักท่องเที่ยวและผู้คนเดินไปมา กลายเป็นไม่มีใครเดินผ่านสักคน ใน 1 วันเห็นชาวต่างชาติผ่านมาสัก 1 คนเห็นจะได้ หรือบางวันอาจจะไม่มีเลย เห็นผ่านตาเยอะที่สุดน่าจะเป็นแกรบไบค์และมอเตอร์ไซค์เดลิเวอรีต่าง ๆ กิจการร้านค้าและโรงแรมขึ้นป้ายเซ้งเช่าทยอยปล่อยขายกิจการ 

คนไร้บ้านและคนเดือดร้อนเพราะถูกเลิกจ้างจากงานรายวันต่าง ๆ หนาตาขึ้น จนรู้สึกได้ บางครั้งนั่งอยู่หน้าบ้านจะมีคนมาขอเงินขอข้าวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โรงทานจุดรับของบริจาคถูกตั้งขึ้นเป็นกำลังปากท้องให้คนว่างงานไร้บ้านยังมีหวังและมีชีวิตต่อไปได้อีกวันจากการช่วยเหลือของคนที่ยังพอมีกำลัง 

ข่าวทีวีนำเสนอแต่ความเดือดร้อนแร้นแค้นอย่างไร้ทางออก รัฐบาลเองก็ยังไม่มีแผนชี้แนะใดเพื่อวันต่อ ๆ ไป หน้ากากอนามัยขาดแคลนและขึ้นราคาอย่างไม่น่าให้อภัย ชนชั้นกลางหาทำสิ่งที่ทำได้ทำไปก่อนเพื่อให้กายและใจได้ไปต่อ ช่วงนั้นแทบทุกคนมีผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ได้สลับกันอุดหนุน บ้างมีความเครียด ก็หาทางคลายกังวลใจด้วยการออกกำลังกาย ทำอาหารทานเอง ปลูกต้นไม้ ทำบ้านให้เป็นที่ถ่ายรูปไว้ลงในโซเชียล และเริ่มสร้างโปรไฟล์ใน Tik Tok ให้คลายเหงาคลายเครียดกันไป

ลูกจ้างรายวันที่ปกติหาได้ก็แทบไม่พอกินใช้อยู่แล้วแทบจะไม่เหลืออะไร เริ่มมีข่าวการฆ่าตัวตายหนีความจนและความผิดหวังจากการเงินเยียวยาจากรัฐบาล  หลายสถานการณ์ที่เราได้รับรู้ผ่านโลกออนไลน์ตอนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านช่วงเคอร์ฟิวนั้น ส่งผลทั้งการบั่นทอนและสร้างกำลังใจในแต่ละวัน คิดเสียว่าอย่างน้อย ๆ มีคนที่เขาแย่กว่าเราอีกมาก สิ่งเหล่านี้พาใจและความรู้สึกเราขึ้นสูงลงต่ำตามข้อมูลที่ได้รับ การปรับสมดุลใจไม่ให้ฟุ้งซ่านวิตกกังวลเกินไปจึงเป็นสิ่งที่ต้องประคองกันไป เวลานั้น “เราติดยังนะ” ได้กลายเป็นมุกที่ตลกที่ทุกคนต่างถามตัวเองโดยที่ไม่มีใครนอนใจได้ในคำตอบ ได้แต่เสริมกำลังใจแบบขึ้น ๆ ลง ๆ ให้ตัวเองและคนรอบข้างกันไปแบบวันต่อวัน 

เวลาผ่านไป ภาพความเงียบเหงาที่เห็นแล้วแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเริ่มกลายเป็นเป็นภาพที่ชินตา จนวันที่มีมาตรการคลายล็อคดาวน์และยกเลิกเคอร์ฟิว ผู้คนค่อย ๆ กลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติแบบ New Normal แต่ถนนข้าวสารที่ไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังเงียบเหงาต่อไป พอจะคึกคักกันขึ้นมาบ้างในช่วงศุกร์เสาร์อาทิตย์ที่วัยรุ่นไทยแวะเวียนมาเที่ยวกัน แต่ร้านที่เคยเนืองแน่นก็เปิดไม่ถึงครึ่งของทั้งหมด ผู้เขียนเดินผ่านบาร์ที่เปิดเพลงดังแบบสะเทือนถึงหูชั้นใน เปิดแสงไฟแบบจัดเต็ม และเหล่าพนักงานเรียกแขกที่ยังคงมีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยว บาร์เสียงดังสั่นที่มีคนนั่งน้อยกว่าคนเสิร์ฟ ก็ได้แต่เอาใจช่วย ทั้งตัวเอง และผู้ประกอบการ คนทำงาน และพ่อค้าแม่ขายทุกคน 

ในที่สุด เราก็อยู่กับสถานการณ์นี้มาได้เกือบปี แม้ว่าโดยรวมจะยังมียอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็มีข่าวดีให้ได้ใจชื้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า มาร์กาเรต คีแนน หญิงชาวไอร์แลนด์เหนือวัย 90 ปี เป็นชาวสหราชอาณาจักรรายแรกที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไฟเซอร์ (Pfizer) และ ไบออนเทค (BionTech) พัฒนาร่วมกัน  นอกจากนี้ยังมีข่าวดีของหลายประเทศที่เริ่มจองวัคซีนให้กับประชากรของตนเอง ก็ได้แต่หวังว่าชีวิตปกติจะกลับคืนมาในเร็ววัน ได้ลืมตาอ้าปากกันอีกครั้ง 

ผู้เขียนคิดถึงถนนข้าวสารที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวนานาชาติ คิดถึงวันที่ข้าวสารจะไม่เงียบเหงา และทุกคนได้มีก้าวต่อไปสักที
 



CONTRIBUTOR

Related Posts
Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th