จากประวัติศาสตร์การจัดกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจของเวทีกีฬาระดับโลกนี้ไม่ใช่เพียงเพราะใครจะได้เป็นสุดยอดในการครอบครองเหรียญทองเท่านั้น แต่มิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ซ่อนเร้นตั้งแต่กระบวนได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพและความวิจิตรในการนำเสนอภาพลักษณ์และสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจของชาติสู่สายตาชาวโลก เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ไปไกลกว่าคำว่า ‘การกีฬาเพื่อกระชับความสามัคคี’ ซึ่งประเทศญี่ปุ่น ผู้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกแห่งแรกของเอเชีย ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสลักสำคัญของการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก
ญี่ปุ่นผ่านสังเวียนของการเป็นผู้ท้าชิงเพื่อรับเลือกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก (ฤดูร้อน) มาหลายครั้ง ทั้งในปี 1949 1964 และ 2020 แต่มีเพียงสองครั้งหลังที่ได้รับเลือก ภาพที่ถูกนำเสนอในการจัดพิธีเปิดการแข่งขันของญี่ปุ่นในปี 1964 และปี 2020 ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันถึง 56 ปี ได้สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงและการพลิกผันทางเศรษฐกิจ สังคม และประชากรอย่างน่าสนใจ
โอลิมปิกเกมส์เมื่อปี 1964 ญี่ปุ่นได้แสดงออกถึงศักยภาพของชาติที่น่าจดจำไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการก้าวขึ้นมาผู้นำทางด้านเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก ที่เป็นรองแต่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เวลานั้นประชาคมโลกได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง ‘ชินคันเซ็น’ (Shinkansen) ที่ก้าวล้ำทั้งความไวและนวัตกรรมระบบขนส่งที่ดีที่สุดของโลก ณ เวลานั้น เราได้รู้จักกับนาฬิกายี่ห้อคุณภาพอย่าง ‘ไซโก้’ (Seiko) ที่ใช้จับเวลาในการแข่งขัน และได้รับรู้ว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากซากปรักหักพังของสงครามโลกครั้งที่สองสู่การเป็นเมืองที่ทันสมัยอย่างผิดหูผิดตา ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ประกอบกันทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็น ‘legacy’ ที่โลกจดจำในฐานะ ‘superpower’ ต่อเนื่องมาอีกอย่างน้อย 3 ทศวรรษจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเมื่อครั้งนั้น
ภาพ การเปิดตัวเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง Shinkansen และการใช้นาฬิกา Seiko จับเวลาการแข่งขัน1 2
ตัดภาพมายังปัจจุบัน การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกอีกครั้งในปี 2020 กลับเป็นสถานการณ์ที่ดูตรงกันข้ามและกลายเวทีที่ท้าทายศักยภาพของประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก จากปี 1964 ญี่ปุ่นเคยใช้เวทีโอลิมปิก ‘เพื่อแสดงฐานะอันมั่งคั่ง’ แต่ในคราวนี้กลับกลายเป็นการใช้เวที ‘เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ’ ความท้าทายยังเพิ่มทวีคูณไปอีกเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันจากปี 2020 มาเป็น 2021 และแม้ว่าจะยืนกรานและวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดนี้อย่างรัดกุมที่สุดเพื่อให้สามารถจัดงานได้ตามที่คาดหมายไว้ (วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2021) แต่ก็ถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่ ‘จัดไปลุ้นไป’ ว่าจะไม่มีใครต้องติดเชื้อระหว่างการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามประเด็นตึงเครียดเหล่านี้ไปจะพบว่า การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถึงสองครั้งของญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างน่าสนใจ นอกจากการนำเสนอภาพลักษณ์ของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความเท่าเทียมกันของประชากรแล้ว หลายภาพบรรยากาศในพิธีเปิดระหว่างโอลิมปิกเกมส์ในปี 1964 กับ 2020 ซึ่งอาจเป็นการนำเสนอที่ไม่ได้ตั้งใจ คือ ภาพของการที่ญี่ปุ่นในฐานะ ‘สังคมเยาว์วัย’ (young society) เมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพปี 1964 ได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (super-aged society) ในปี 2020
ภาพ เปรียบเทียบพีระมิดประชากรของญี่ปุ่นปี 1960 และ 20203
กว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว (ทศวรรษ 1960) สังคมญี่ปุ่นมีประชากรเด็ก (อายุ 0-14 ปี) 30.3% ประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) 61.1% และมีประชากรสูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) เพียง 5.6% เท่านั้น แต่มาถึงปัจจุบันญี่ปุ่นกลับมีสัดส่วนของประชากรเด็กและประชากรวัยทำงานลดลง เหลือเพียง 12.4% และ 53.2% ตามลำดับ ในขณะที่ประชากรสูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) กลับทะยานสูงขึ้นมากถึง 28.4%3
ด้วยเหตุนี้ บรรยากาศของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้งสองครั้ง หลายมุมภาพจากบรรยากาศของกระบวนการจัดเตรียมงาน พิธีเปิดการแข่งขัน และระหว่างการจัดการแข่งขัน จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการเรียนรู้ที่เป็นภาพเชิงประจักษ์ มีชีวิตชีวา และทำให้นานาสาระเกี่ยวกับประชากรเป็นเรื่องน่าสนใจขึ้นไม่น้อย
ภาพ บรรยากาศที่มีเด็กเป็นผู้ชมกีฬาและระหว่างการส่งต่อคบเพลิงเมื่อครั้งโอลิมปิกปี 19644 5 6
ภาพ บรรยากาศการส่งต่อคบเพลิงที่เป็นเสมือนการพาทัวร์จังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่น
ที่ทำให้นึกถึงพลังของผู้สูงอายุร่วมกับประชากรวัยอื่นๆ ในโอลิมปิกปี 20207 8 9 10
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งกลุ่มผู้สูงวัยเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญของการยืนยันที่จะเป็นเจ้าภาพและจัดงานกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 อีกครั้ง แม้จะมีมรสุมมากมายเกิดขึ้น แต่นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประชากรด้วยประจักษ์พยานชัดเจนอย่างหนึ่ง นั่นคือ ผู้สูงวัยในวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอดีตเด็กน้อยทั้งหลาย ที่ครั้งหนึ่ง คือ ประชากรส่วนมากของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเคยหลงใหลกับการแข่งขันกีฬาและได้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่โลกไม่ลืมเมื่อครั้งปี 1964 จนกระทั่งอยากให้ความทรงจำดีๆ หวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2020 นั่นเอง
แม้การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้อาจเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังดำเนินต่อไป แต่เจ้าภาพและนักกีฬาของทุกชาติที่พร้อมใจกันเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ต่างช่วยยืนยันให้เห็นว่า กีฬาโอลิมปิกยังคงเป็น ‘มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ’ ได้ต่อไป เพราะไม่ว่าโลกเราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหน แต่แล้วทุกอย่างก็จะผ่านไป คงเหมือนกับที่โทมัส บัค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้กล่าวไว้ในช่วงพิธีเปิดการแข่งขันว่า “วันนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง (Today is a moment of hope)”11
อ้างอิง
ศุทธิดา ชวนวัน
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
กฤติญา สำอางกิจ
รีนา ต๊ะดี
ศุทธิดา ชวนวัน
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ศุทธิดา ชวนวัน