The Prachakorn

ผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ทำงานหนักน้อยกว่าเดิมไหม ในช่วงโควิดระบาด


จรัมพร โห้ลำยอง

16 ธันวาคม 2564
933



ผู้บริหาร เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของระบบการจัดการขององค์กร ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีอำนาจมหาศาล ได้รับความเชื่อมั่นในการตัดสินใจต่างๆ เพื่อองค์กร รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบหลักทั้งในความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์กร ภาระอันใหญ่หลวงมักจะพ่วงมากับงานที่หนักทั้งกายและใจ ลองมาดูผลสำรวจกันดีกว่าไหมว่า ในกลุ่มผู้บริหารกลุ่มมหาวิทยาลัยไทย ต้องทำงานหนักมากน้อยแค่ไหน ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยทำงานเฉลี่ย 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564  ที่รวบรวมโดยโครงการการสนับสนุนระบบปัญญานิเวศ เพื่อสร้างเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะที่ยั่งยืน ซึ่งการสำรวจนี้มีการถามถึงจำนวนวันโดยเฉลี่ยที่ทำงานในหนึ่งสัปดาห์ และจำนวนชั่วโมงโดยเฉลี่ยที่ทำงานในแต่ละวัน พบว่าคนทำงานในมหาวิทยาลัยมีชั่วโมงการทำงานที่สูงกว่าชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่กฎหมายแรงงานไทยกำหนด ซึ่งคนทำงานกลุ่มนี้มีบทบาทเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้ใช้ และผู้สอนนวัตกรรมความรู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยผลการสำรวจในกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรสายสนับสนุน 6,668 คน จาก 6 มหาวิทยาลัยตัวอย่างในประเทศไทย ปี 2564 พบว่าทำงานเฉลี่ย 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เอาจำนวนวันต่อสัปดาห์คูณด้วยจำนวนชั่วโมงต่อวัน) และผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าชั่วโมงการทำงานของผู้บริหาร ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน/สำนัก รองผู้อำนวยการ หรือ ผู้อำนวยการกอง 246 คน เฉลี่ยเท่ากับ 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าของบุคลากรที่ไม่ใช่ผู้บริหารเพียงเล็กน้อย (ภาพที่ 1)  


 
ภาพที่ 1 ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของผู้บริหารและบุคลากรอื่นในมหาวิทยาลัย ปี 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 

ชั่วโมงการทำงานของผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ลดลงเล็กน้อยในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยเมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ในปี 2562 และ 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาด พบว่า ชั่วโมงการทำงานของผู้บริหารลดลงจาก 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (จำนวนตัวอย่างในปี 2562 389 ราย) เหลือเพียง 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ภาพที่ 2) คาดเดาได้ว่าเวลาที่น้อยลงน่าจะเกิดจากการประหยัดเวลาในการเดินทางไปยังสำนักงาน ในช่วง Work From Home ซึ่งคงจะเป็นข้อดีที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงาน  แต่ในอีกมุมหนึ่ง วิถีการทำงานแบบใหม่คงจะเพิ่มภาระที่ท้าทายชิ้นใหม่ให้แก่ผู้บริหารร่วมด้วย เพราะวิถีใหม่ในการทำงานมาพร้อมกับการบริหารจัดการกำลังคนระบบใหม่ ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป  

 

ภาพที่ 2 ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ปี 2562 และ 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2562 และ ปี 2564 

ชั่วโมงการทำงานของผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมีความหลากหลาย

บางกลุ่มมีชั่วโมงการทำงานไม่มากนัก แต่บางกลุ่มมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน  โดยผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 พบว่า ร้อยละ 3.6 ของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ทำงานน้อยกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ (ภาพที่ 3) ในขณะที่เกือบหนึ่งในห้าของผู้บริหาร (ร้อยละ 17.9) ทำงานแบบมาราธอน  7 วันต่อสัปดาห์ ผู้บริหารจำนวนมากใช้เวลานั่งทำงานเนิ่นนานในแต่ละวัน เรียกได้ว่าทำงานแข่งกับตะวันเลยก็ว่าได้ โดยร้อยละ 12.2 ทำงาน 11-12 ชั่วโมงต่อวัน และอีกร้อยละ 7.7 นั่งทำงานนานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน (ภาพที่ 4) 

ภาพที่ 3 ร้อยละของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย จำแนกตามจำนวนวันทำงานต่อสัปดาห์ ปี 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 

ภาพที่ 4 ร้อยละของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย จำแนกตามจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อวัน ปี 2564
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข และความผูกพัน ภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ปี 2564 

ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะลืมไป ว่าเสาร์-อาทิตย์ไม่ใช่วันทำงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย ชี้ว่า 

“ความหนักเบาของงาน ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารต้องทำอะไรบ้าง เช่น ผู้บริหารการศึกษาที่ต้องบริหารคน หรือต้องขับเคลื่อนงานวิจัย มักต้องเผชิญกับงานหนักทั้งใจและกาย เช่นเดียวกันกับผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน อาจจะต้องรับภาระงานมาก และต้องใช้เวลามากในการทำงาน” 

ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์ความทุ่มเทในการทำงาน องค์กรการศึกษาไทยได้ผู้ที่มีใจมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะพัฒนาการศึกษาขั้นสูงให้ก้าวหน้าเทียบเท่ากับประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนทำงาน และอาจไม่ส่งผลดีต่อการทำงานเสมอไป โดยงานวิจัยจาก City University of London ชี้ว่า การทำงานหนักมากเกินไปมีผลเสียต่อ ความก้าวหน้าอาชีพ ความมั่นคงในงาน และการได้รับการยอมรับในองค์กร (Avgoustaki & Frankort, 2019) ดังนั้น การหยุดพักระหว่างวัน และการหยุดงานในบางวัน จึงควรเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ และเลือกที่จะทำงานเฉพาะในเวลาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะคงไม่มีใครอยากให้ผู้บริหารที่เป็นความหวังในวงการศึกษาไทยรู้สึกเหนื่อยล้าในการทำงานอย่างแน่นอน


อ้างอิง

  • Avgoustaki, A., & Frankort, H. T. (2019). Implications of work effort and discretion for employee well-being and career-related outcomes: An integrative assessment. ILR Review, 72(3), 636-661.


CONTRIBUTOR

Related Posts
สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

ความสุขของแม่

สุภาณี ปลื้มเจริญ

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

ประเด็นทางประชากรและสังคม

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th