The Prachakorn

ปรับเพียงนิด สะกิดอีกหน่อย ก็ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้


ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

03 มิถุนายน 2564
924



อาการปวดคอบ่าไหล่ เป็นปัญหาสุขภาพของคนทำงานที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอนานๆ ผู้เขียนก็มีอาการนี้อยู่นานหลายปี และแก้ปัญหาโดยการไปนวด ซึ่งก็แก้ได้ชั่วคราว หลังนวดไม่กี่วัน ก็กลับมาปวดใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้ นั่นก็เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ คือ การก้มหน้าอยู่กับมือถือ หรือนั่งหน้าจอนานๆ จนกระทั่งได้เริ่มเล่นโยคะ อาการต่างๆ ก็ดีขึ้นอย่างมาก ปัญหา คือ ความขี้เกียจเล่นโยคะ ทำได้ช่วงแรกๆ แล้วก็ห่างหายไป ท่านั่งก็ไม่ดี เพราะการ work from home ใช้โน้ตบุ๊กทำงานที่บ้าน หน้าจอเล็กๆ ต้องก้มหน้าและห่อไหล่ทำให้การปวดคอบ่าไหล่หนักขึ้น จนกระทั่งมาลองกำหนดตารางการเล่นโยคะใส่ไว้ในปฏิทินนัดหมาย เหมือนเป็นตารางการประชุม ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานอย่างหนึ่งที่ต้องทำ การทำวิธีนี้กลับได้ผลสำหรับตัวเอง ทำให้การเล่นโยคะต่อเนื่อง สม่ำเสมอได้ นอกจากเล่นโยคะแล้ว ผู้เขียนได้ซื้อจอคอมพิวเตอร์ใหม่ใช้ต่อกับเครื่องโน้ตบุ๊ก ทำให้ท่านั่งดีขึ้น ปัญหาการปวดคอบ่าไหล่ ก็ดีขึ้นจนแทบไม่เป็นปัญหาแล้ว

จากประสบการณ์ที่เกิดกับตัวเอง ก็มานั่งนึกดูว่าทำไมเราถึงขี้เกียจออกกำลังกาย ทั้งๆ ที่เราก็เห็นประโยชน์ชัดเจน ทำให้เข้าใจแนวคิดของ Dr. Richard Thaler เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2017 ที่เสนอแนวคิดเรื่อง Nudge Theory1 หรือทฤษฎีสะกิด กระตุ้น ให้คนมีพฤติกรรมที่ต้องการได้ Dr. Richard Thaler บอกว่า มนุษย์เราไม่ได้มีเหตุผลในการตัดสินใจ เพราะในชีวิตประจำวันเราจะใช้สมองส่วนที่เรียกว่า สมองระบบที่ 1 คือ สมองส่วนอัตโนมัติในการตัดสินใจทำอะไร หรือจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ตัดสินใจโดยใช้เหตุผลอะไร แต่ทำไปตามสิ่งที่มากระทบตรงหน้า เราจะใช้สมองส่วนที่เรียกว่า สมองระบบที่ 2 คือ ส่วนวิเคราะห์ใคร่ครวญในชีวิตประจำวันน้อยมาก เมื่อมนุษย์เราทำอะไรอัตโนมัติตามสิ่งที่มากระทบตรงหน้า Dr. Richard Thaler เลยเสนอแนวคิด สะกิด หรือ กระตุ้น โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนมีพฤติกรรมที่ต้องการได้

เรื่องการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ การนั่งทำงานนานๆ เป็นปัญหาของมนุษย์ที่ทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ทั่วโลก ได้มีงานวิจัยที่นำแนวคิด Nudge ไปทดลองเพื่อให้คนได้เคลื่อนไหวมากขึ้นหลายรูปแบบ แล้วก็พบว่า การออกแบบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงๆ

ตัวอย่างของงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ งานวิจัยของ Tina A.G. Venema  และคณะ2 โดยการใช้โต๊ะทำงานที่ปรับระดับสูงต่ำได้ เพื่อให้คนเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืนบ้าง ที่ทำงานแห่งนี้ เป็นอาคารสูง 6 ชั้น แบ่งเป็นแผนกต่างๆ โดยออกแบบให้เป็นห้องโล่ง วางโต๊ะทำงานรวมกัน มีโต๊ะทำงานรวมทั้งหมด 836 ตัว ในจำนวนนี้ 110 ตัวเป็นโต๊ะปรับขึ้นลงได้ โต๊ะที่ปรับระดับได้นี้ จะตั้งไว้ที่ระดับ ‘นั่ง’ ทั้งหมด หากใครต้องการเปลี่ยนอิริยาบถเป็น ‘ยืน’ ก็ค่อยปรับระดับเองตามที่ต้องการ เนื่องจากพนักงานไม่ได้มีโต๊ะทำงานประจำ แต่ละวันพนักงานจะเลือกใช้โต๊ะตัวไหนก็ได้ พนักงานที่ใช้โต๊ะที่ปรับระดับขึ้นลงได้ พบว่าส่วนใหญ่ใช้โต๊ะนี้ ‘นั่ง’ ทำงานตลอดทั้งวัน ก่อนที่จะทำการวิจัย มีเพียงร้อยละ 1.82 เท่านั้น3 ที่พนักงานปรับโต๊ะให้เป็นระดับยืน

การออกแบบสิ่งแวดล้อมใหม่ในการวิจัยนี้ คือ การปรับให้โต๊ะเป็นระดับ ‘ยืน’ ไว้เลย ตามหลักของ Nudge คือ ตั้งค่าสิ่งที่เราต้องการให้เป็น default เพราะพบว่าคนมักจะยอมรับสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว ไม่ค่อยปรับเปลี่ยนอะไร (สมองระบบที่ 1 ส่วนอัตโนมัติทำงาน) ถ้ามีอุปสรรคมาขวางหน้า เช่น ถ้าโต๊ะปรับเป็นระดับยืนอยู่ แล้วจะต้องปรับให้เป็นระดับนั่ง คนจะรู้สึกขี้เกียจปรับ ตั้งไว้ที่ระดับไหนก็จะใช้ระดับนั้น หลังจากทำการวิจัยได้ 2 สัปดาห์ พบว่า คนทำงานโต๊ะที่ระดับ ‘ยืน’ เพิ่มเป็นร้อยละ 13.13 หรือเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าเลยทีเดียว จะเห็นว่า การปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ การปรับระดับความสูงที่ตั้งค่า default ไว้จากนั่งเป็นยืน ก็ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้

สถาบันวิจัยประชากรและสังคมก็นำแนวคิด Nudge มาใช้เพื่อให้บุคลากรของสถาบันฯ ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การออกแบบอาคารโดยเฉพาะการขึ้นลงระหว่างชั้น ให้การใช้บันไดสะดวกกว่าการใช้ลิฟต์ เช่น ในโซนห้องทำงานอาจารย์ซึ่งอยู่ชั้น 5 กับ ชั้น 6 ได้เจาะช่องบันไดเชื่อมระหว่างโซนห้องทำงานทั้ง 2 ชั้น ให้สามารถเดินขึ้นลงได้สะดวก ในขณะที่หากจะใช้ลิฟต์ ต้องเดินออกมาผ่านประตูถึง 2 ชั้น และตามขั้นบันได ได้ติดสติ๊กเกอร์มีข้อความจูงใจให้ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังจัดกิจกรรม IPSR Million Challenges คือ การตั้งเป้าร่วมกันว่าใน 4 เดือนเมื่อนับจำนวนก้าวรวมกันของทุกคนในสถาบันฯ จะทำให้ได้ 50 ล้านก้าว ซึ่งสร้างความคึกคักตื่นตัวในการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี

ภาพโดย พอตา บุนยตีรณะ

การเจาะช่องบันไดระหว่างกันในแนวคิด Nudge เป็น action-oriented คือ การปรับสิ่งแวดล้อมให้พฤติกรรมที่ต้องการเป็นเรื่องสะดวก และให้พฤติกรรมที่ไม่ต้องการสะดวกน้อยกว่า ซึ่งการใช้ action-oriented จะได้ผลดีกว่า  cognitive-oriented nudge เช่น การให้ข้อมูลความรู้ เป็นต้น ซึ่งการติดสติ๊กเกอร์ข้อความจูงใจที่ขั้นบันได หรือบางหน่วยงานมีข้อมูลการใช้แคลอรีในการเดินขึ้นบันไดแต่ละขั้น ในงานวิจัยพบว่า ได้ผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่มากนัก

ประเด็นที่เป็นข้อจำกัดของ Nudge  intervention คือ ความยั่งยืน ถ้ากิจกรรมนั้นเป็นการทำระยะสั้น เมื่อเลิกทำ คนก็มักจะหยุดพฤติกรรมที่ควรทำไปด้วย กลับไปมีพฤติกรรมอย่างเดิมอีก เช่น การจัด IPSR Million Challenges ซึ่งในแง่ของ Nudge แล้ว นับเป็นการสร้าง commitment เมื่อมีโครงการนี้ บุคลากรของสถาบันฯ ตื่นตัวในการออกกำลังกายกันอย่างมาก ส่งข้อมูลการออกกำลังกายของตนเองลงในระบบข้อมูล การเห็นตัวเลขจำนวนก้าวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ทำให้มีแรงจูงใจที่จะร่วมกันทำตามเป้าหมายที่ท้าทายไว้ให้สำเร็จ และมีการให้รางวัลคนที่มีจำนวนก้าวสูงสุดในแต่ละกลุ่มอายุด้วย ความสวยงามของการออกแบบนี้ คือ การตั้งเป้าหมายรวมของทั้งสถาบันฯ ไม่ใช่เป้าหมายรายบุคคล ทำให้สร้างการมีส่วนร่วมและการอยากมีส่วนทำให้เป้าหมายบรรลุร่วมกัน เพราะหากตั้งเป้าหมายรายบุคคล ทำให้อาจคิดได้ว่า เราทำไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เพราะกระทบเราแค่คนเดียว แต่หลังจากโครงการนี้สิ้นสุดลง ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลว่าคนกลับไปมีวิถีชีวิตแบบเดิมหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนพฤติกรรมถาวรหรือเปล่า แต่จากข้อมูลงานวิจัยที่อื่น พบว่า หลังจากจบโครงการ คนก็มักกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม มีส่วนน้อยที่เปลี่ยนพฤติกรรมถาวร

ย้อนกลับมามองตัวเองว่าทำไมการปรับเรื่องการกำหนดตารางการเล่นโยคะ ถึงทำให้เราออกกำลังกายได้สม่ำเสมอขึ้น ก็น่าจะเข้ากับเรื่อง commitment และ default การใส่ไว้ในตารางปฏิทินนัดหมาย เหมือนกับการลงนัดหมายประชุม พอถึงเวลาเราก็ทำ โดยไม่ต้องคิดหรือตัดสินใจ ให้สมองส่วนอัตโนมัติทำตามตารางนัดหมายแต่ละวัน แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดย ‘ปรับเพียงนิด สะกิดอีกหน่อย’ ก็จะทำให้คนมีพฤติกรรมที่ต้องการได้ และเป็นแนวทางการวิจัยที่จะช่วยให้การออกแบบนโยบายได้ผล ใช้งบประมาณไม่มาก และนำไปใช้ได้กับพฤติกรรมที่หลากหลาย ทั้งพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การออม และอื่นๆอีกมากมาย ความท้าทายคือการสร้างความยั่งยืน เพื่อให้พฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยน กลายเป็นนิสัยถาวรได้ต่อไป


อ้างอิง

  1. Thaler, R.H., & Sunstein, C.R. (2008). Nudge: improving decisions about health, wealth, and happiness. New Haven: Yale University Press.
  2. Venema, T.A.G., Kroese, F.M., & De Ridder, D.T.D. (2018). I’m still standing: A longitudinal study on the effect of a default nudge. Psychology & Health, 33(5), 669-681. https://doi.org/10.1080/08870446.2017.1385786
  3. อัตราการใช้ในระดับยืนนับเฉพาะโต๊ะ 110 ตัวที่ปรับสูงต่ำได้


CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th