ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปรียบเทียบธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทย ไว้ใน BOT MAGAZINE ฉบับที่ 1 ปี 2563 ว่าเป็นเสมือนดังเครื่องยนต์เล็ก ซึ่งทำงานขับเคลื่อน และประคับประคองเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด แม้กระทั่งในยามวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ภาคส่วนต่างๆ ได้รับผลกระทบ แต่ภาคบริการและการท่องเที่ยวยังคงดำเนินต่อไปและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วทุกครั้ง แต่หากวิเคราะห์ในด้านทรัพยากรมนุษย์หรือคนทำงานในภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทย อาจพบได้ว่าภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทยกำลังประสบปัญหา “คนทำงานมีความสุขลดลงอย่างต่อเนื่อง” และเมื่อมาประสบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างสาหัส ย่อมทำให้สถานการณ์ของเครื่องยนต์เล็กในปัจจุบัน อาจไม่มั่นคงอย่างที่เคยเป็นมา
จากเกริ่นนำข้างต้น ผู้เขียนขอนำผลการสำรวจระดับความสุขของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมพักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงสอง-สามปีที่ผ่านมา มาเป็นเครื่องยืนยัน
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจความสุขคนทำงานในองค์กร ซึ่งเป็นการสำรวจระดับประเทศต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2561 โดยมีแบบสำรวจความสุขด้วยตนเอง หรือ HAPPINOMETER เป็นเครื่องมือวัดความสุข เครื่องมือนี้วัดระดับความสุขออกมาเป็นคะแนน มีค่าต่ำสุดคือ 0 คะแนน ถึงสูงสุดคือ 100 คะแนน และมีการแบ่งเกณฑ์ค่าเฉลี่ยความสุขออกเป็น 4 ระดับ ค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่าง 0 – 24.9 หมายถึงว่าคนทำงานในองค์กรไม่มีความสุขเลย หากคะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 – 49.9 แสดงว่าคนทำงานในองค์กรไม่มีความสุข ค่าที่สูงกว่านี้คือ 50 – 74.9 คะแนน ก็แสดงว่าคนในทำงานองค์กรมีความสุข และหากคะแนนเฉลี่ยความสุขเป็น 75 หรือสูงกว่า ก็จะหมายถึงว่าคนทำงานในองค์กรมีความสุขมาก
ในปี 2560 เป็นการสำรวจในช่วงไตรมาสที่ 1 โดยสำรวจจาก 346 องค์กร แบ่งได้เป็น 17 ประเภทอุตสาหกรรม มีคนทำงานในองค์กรจำนวนทั้งสิ้น 29,383 คนเป็นผู้ตอบแบบสำรวจด้วยตนเอง ผลการสำรวจพบว่า คนทำงานในองค์กรประเภทอุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหาร มีคะแนนเฉลี่ยความสุขเพียง 57.6 คะแนน แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์คนทำงานในองค์กรมีความสุข แต่ก็เป็นคะแนนความสุขในระดับต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานในภาคการศึกษาที่มีคะแนนความสุขสูงสุด 64.9 คะแนน จะเห็นได้ว่าเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ปีถัดมา (พ.ศ. 2561) ศูนย์วิจัยความสุขฯ ได้ทำการสำรวจความสุขคนทำงานในช่วงไตรมาส 1 อีกเช่นกัน แต่ครั้งนี้เป็นการนำแบบสำรวจความสุขคนทำงานรวมเข้ากับการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรที่ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือน ในครั้งนี้มีจำนวนตัวอย่างคนทำงานที่ร่วมประเมินระดับความสุข 21,086 คน ผลของการสำรวจ พบว่า คะแนนความสุขของคนทำงานประเภทอุตสาหกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงจากปี 2560 เหลือ 55.6 คะแนน
สำหรับปี 2563 ปีที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาคบริการและการท่องเที่ยวไทยพบปัญหาที่รุนแรง ต่อเนื่อง และสาหัสกว่าอดีตที่ผ่านมา จากข้อมูลสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศรายจังหวัด ปี 2563 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้สรุปข้อมูลด้านการพักแรม จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวของเดือนมกราคม-ตุลาคม พ.ศ. 2563 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 จำนวนผู้พักแรมลดลงมากกว่าครึ่ง จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงเกือบร้อยละ 80 ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงราวครึ่งหนึ่ง และเมื่อรวมรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พบว่าลดลงมากถึงร้อยละ 69 โดยจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุด รายได้จากนักท่องเที่ยวในปี 2563 ของชลบุรีลดเหลือเพียงห้าหมื่นสองพันล้านบาท จากที่เคยมีรายได้สูงถึงสองแสนสองหมื่นล้านบาทในปี 2562 ทีเดียว
จากสถานการณ์ความสุขของคนทำงานที่ลดลง ผนวกกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากเดิมที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นช่องทางสำคัญในการกระจายรายได้สู่ชมชุน สร้างงาน สร้างอาชีพ ยกมาตรฐานค่าครองชีพของประชาชนในท้องถิ่น สร้างความเจริญทั้งในด้านโครงสร้าง ด้านพื้นที่ และด้านสังคม แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวกำลังอ่อนแรง ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม เล็งเห็นว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารและบุคลากรภายในองค์กร ควรให้ความสำคัญและเสริมสร้างความสุขของคนทำงาน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาองค์กรที่ไม่ต้องอาศัยทรัพยากรหรืองบประมาณมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนโยบายด้านการตลาดหรือการลงทุนพัฒนาบุคลากรในด้านอื่นๆ การเสริมสร้างความสุขของบุคลากร เป็นการพัฒนาทั้งระดับบุคคลและองค์กร เมื่อคนทำงานมีความสุข ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพและการบริการที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งความสุขของคนทำงานถือเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้คนทำงานในองค์กรมีพลังต่อสู้กับสถานการณ์ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตและความสุขในปัจจุบัน
ท้ายที่สุด ศูนย์วิจัยความสุขฯ กำลังดำเนินการสำรวจความสุขของคนทำงานในองค์ในระดับประเทศ ปี 2563 (ไตรมาส 4) ภายใต้การดำเนินงานของโครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีกไม่นานเกินรอ เราก็คงจะทราบคะแนนความสุขของคนทำงานในประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร
หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดรายงานผลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2560 และ 2561 ที่ดำเนินการโดยศูนย์ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ที่ http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/th/BookReport.aspx?Year=2018
ภาพประกอบ Designed by Freepik
Photo by Miguel Montejano from Pexels
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
พัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล
สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สุภาณี ปลื้มเจริญ
ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ
สุภาณี ปลื้มเจริญ
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
จรัมพร โห้ลำยอง
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
ปรียา พลอยระย้า
วรชัย ทองไทย
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
นงเยาว์ บุญเจริญ
สุริยาพร จันทร์เจริญ
จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
สลาลี สมบัติมี
ปราโมทย์ ประสาทกุล
บุรเทพ โชคธนานุกูล
สุชาดา ทวีสิทธิ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วิภาพร จารุเรืองไพศาล