The Prachakorn

ทำไป พักไป ช่วยให้องค์กรก้าวหน้า


จรัมพร โห้ลำยอง

05 เมษายน 2564
697



“ใกล้จะถึงวันหยุดยาวแล้ว คุณยังไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวเลยใช่หรือไม่”

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่า การจัดการกับเอกสารกองโตบนโต๊ะ สำคัญเกินกว่าที่จะสละเวลามาคิดถึงเรื่องพักผ่อน ขอบอกว่า คุณไม่ได้นั่งอยู่ลำพัง ยังมีคนทำงานในองค์กรจำนวนมากที่นั่งทำงานหนักอยู่เคียงข้างคุณ แต่เขาเหล่านั้นอาจไม่ได้มีความสุขกับงานเท่าใดนัก และการทำงานหนักของเขาอาจจะไม่สามารถผลักดันองค์กรให้ประสบความสำเร็จก้าวหน้าได้

จากการสำรวจความสุขคนทำงาน พ.ศ. 25611 พบว่ามีคนทำงานจอมพลังจำนวนมากที่มักจะแถมชั่วโมงทำงานให้กับองค์กรที่เขารักอยู่เสมอ โดยประมาณ 14% ของพนักงานในองค์กรทำงานประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย และอีก 4% ทำงานนานกว่า 11 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย เขาเหล่านี้ สละเวลาทานข้าวกลางวัน และเวลาพักผ่อนตอนเย็น มาเป็นเวลา “งาน งาน งาน” โดยเกือบครึ่งหนึ่งของคนทำงาน (43%) รายงานว่ามีเวลาพักผ่อน ในแต่ละวันน้อยกว่าสองชั่วโมง (ไม่นับรวมเวลานอนหลับ) ประมาณ 7% ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ หรือทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ เดาได้เลยว่า คนทำงานเหล่านี้ เป็นบุคคลที่ “เพื่อนโรงเรียนเก่าไม่เคยเห็นหน้า ป๊าม้าลืมชื่อจริงกิ๊กหญิงกิ๊กชายไม่เคยมาขอนัดเดท” จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่คนทำงาน กลุ่มนี้เก็บซ่อนความเหนื่อยล้าไว้ภายใน โดยราว 9% ของคนทำงาน รู้สึกว่าตนเองพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือพักผ่อนน้อย

การทำงานหนักมากไป โดยไม่ให้โอกาสตนเองได้พักผ่อนหย่อนใจ ก่อให้เกิดความเครียด และบั่นทอนความสุขในชีวิต ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความสุขคนทำงาน พ.ศ. 2561 พบว่า การได้ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจมีความสัมพันธ์กับระดับความเครียด ผู้ที่ทำกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจบ่อยครั้งในแต่ละสัปดาห์ส่วนใหญ่จะมีความเครียดระดับต่ำ หรือไม่เครียดเลย (ภาพที่ 1) แต่สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ กล่าวคือในแต่ละสัปดาห์แทบจะไม่ได้อ่านหนังสืออ่านเล่น ไม่ได้ดูหนังฟังเพลง หรือไม่ได้ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบเลยจะมีระดับความเครียดสูง คนที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่พักผ่อนหย่อนใจอะไรเลยในแต่ละสัปดาห์แทบทุกคน (94%) เครียดมากถึงมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนทำงานที่พักผ่อนน้อย จะมีความสุขในชีวิตที่น้อยกว่าคนอื่นๆ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า จำนวนชั่วโมงการพักผ่อนในแต่ละวันของคนทำงาน มีความสัมพันธ์กับคะแนนระดับความสุข (ภาพที่ 2) โดยคนทำงานที่พักผ่อนน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน (ไม่รวมเวลานอน) เป็นกลุ่มคนที่มีความสุขน้อยที่สุด และแน่นอนคนทำงานที่พักผ่อนต่อวัน 8 ชั่วโมงขึ้นไปมีความสุขสูงที่สุด

การพักผ่อนน้อยของคนทำงาน นอกจากจะไม่ส่งผลดีกับตัวเขาเอง ยังดูจะไม่ส่งผลดีกับบริษัทหรือองค์กรที่เขาทำงานอีกด้วย ภาพที่ 2 ชี้ให้เห็นว่า จำนวนชั่วโมงการพักผ่อนในแต่ละวันของคนทำงาน มีความสัมพันธ์กับคะแนนความทุ่มเทในการทำงาน และความผูกพันองค์กร คนทำงานที่พักผ่อนน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน เป็นกลุ่มคนที่มีค่าคะแนนความทุ่มเทในการทำงานน้อยที่สุด กล่าวคือการพักผ่อนน้อยอาจส่งผลให้เขาทำงานอย่างขาดเป้าหมาย หมดแรงที่จะกระตือรือร้นผลักดันงานที่รับผิดชอบให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ และขาดพลังที่จะต่อสู้ทุ่มเทเพื่อองค์กร และคนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่ผูกพันกับองค์กรน้อยที่สุดด้วยเช่นกันการทำงานหนักมากไปจนขาดเวลาพักผ่อน อาจทำให้เขาไม่รู้สึกภาคภูมิใจในองค์กรเท่าที่ควร ความเหนื่อยล้าอาจทำให้เขาไม่อยากอยู่กับองค์กรที่ตนเองทำงาน หากมีโอกาสที่ดีกว่าก็อาจจะจากลาไปทำงานที่อื่นได้

ภาพที่ 1 การทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ กับความเครียด
 
ภาพที่ 2 การพักผ่อนกับคะแนนความสุข ความทุ่มเทในการทำงาน และความผูกพันของคนทำงาน

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำงานตลอดเวลา ทำงานหนักในชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน ไม่สนใจที่จะหาเวลาพักทานข้าว หรือไม่ยอมหาวันหยุดไปเที่ยวเล่นบ้าง คุณจะกลายเป็นคนที่เหนื่อยล้าในการทำงาน ขาดพลังที่จะทุ่มเทให้กับองค์กร และมีความผูกพันต่อองค์กรน้อย และคุณก็น่าจะไม่ใช่คนที่นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้เพราะคนทำงานที่ไม่ผูกพันต่อองค์กรจะมีผลิตภาพต่ำ ทำงานอย่างเหนื่อยล้าและเผื่อแผ่พลังด้านลบเหล่านั้นไปยังเพื่อนร่วมงานรอบข้าง ส่งผลต่อศักยภาพขององค์กร ทำให้รายได้และกำไรขององค์กรลดต่ำลงได้

ภาพโดย: ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น


1ข้อมูลจากโครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER) สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยระชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
หัวใจ

วรชัย ทองไทย

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ยูนิฟอร์มสร้างสุข

สุภาณี ปลื้มเจริญ

สังคมยุคดิจิทัล

เพ็ญพิมล คงมนต์

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th