The Prachakorn

วันหยุดที่แท้จริง


ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

20 เมษายน 2564
791



สำหรับคนไทยแล้ว เดือนเมษายนถือว่าเป็นเดือนแห่งวันหยุด ซึ่งมีทั้งวันหยุดเนื่องในวันจักรี และที่สำคัญคือวันหยุดสงกรานต์ ซึ่งหลาย ๆ คน คงถือโอกาสนี้ลาหยุดเพิ่ม บางคนได้หยุดยาว 5-6 วัน หรือ 1 สัปดาห์เลยทีเดียว

แต่ในช่วงวันหยุดที่ว่านั้น เราได้พักผ่อนจริง ๆ หรือไม่? คิดว่าหลายคนคงอดไม่ได้ที่จะเปิดอีเมลขึ้นมาดูในวันพักผ่อน คิดถึงเรื่องงานที่คั่งค้างในวันหยุด หรืออาจจะเอางานไปนั่งทำในช่วงวันหยุดเลยก็ได้ จากที่เห็นในสื่อโซเชียล คนรู้จักหลายคนของผู้เขียนถึงกับหอบคอมพิวเตอร์ส่วนตัวไปนั่งทำงานริมทะเลหรือบนภูเขาในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา 

ที่มา http://www.picturequotes.com/summer-relaxing-quote-1-picture-quote-665204

วันหยุดยาวเป็นช่วงที่เราได้พักผ่อนจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมาเกือบทั้งปี และยังเป็นเวลาที่ดีที่จะได้ใช้กับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน เป็นเวลาที่เราจะได้ชาร์จพลังงานทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มีผู้คนจำนวนมากที่มองว่าช่วงวันหยุดเป็นเวลาที่ตัวเองจะสามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ ไร้ซึ่งสิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน หรือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน ไปทำงานในร้านกาแฟ โรงแรม ทะเล ภูเขา เป็นต้น

จากการสำรวจการใช้เวลาของชาวอเมริกัน (American Time Use survey) ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีชาวอเมริกันที่เป็นลูกจ้างเต็มเวลาถึง 30% ที่ทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดเทศกาล1  ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโรคโควิด-19 ยังทำให้คนทำงานไม่เป็นเวลา ไม่มีตัวแบ่งระหว่างพื้นที่ ‘งาน’ และ ‘บ้าน’ อย่างชัดเจนจึงทำให้คนที่ทำงานจากที่บ้านอาจจะทำงานมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ความเชื่อที่ว่าเราต้องทำตัวให้ดูยุ่งหรือมีอะไรทำตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ดีในการทำงานอาจจะไม่เป็นความจริงเสมอไป Laura M. Giurge นักวิจัยหลังปริญญาเอกจาก London Business School และผู้ช่วยศาสตราจารย์ Kaitlin Woolley จาก Cornell University ซึ่งทำการศึกษาเรื่องการพักผ่อนของคนทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า การทำงานในวันหยุดเป็นการทำลายองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของคนทำงานไป นั่นก็คือ แรงจูงใจจากภายใน (intrinsic motivation) คนเราจะมีแรงจูงใจจากภายในเมื่อได้ทำสิ่งที่น่าสนใจ น่าเพลิดเพลินใจ หรือมีความหมาย จากการศึกษาพบว่า การทำงานในวันหยุดทำให้เป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายในการทำงานเกิดขัดแย้งกัน จนนำไปสู่ความพึงพอใจและแรงจูงใจในการทำงานที่ลดน้อยลง 

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่ต้องทำงานในวันหยุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Giurge และ Woolley แนะนำว่า เราอาจจะต้องให้ความหมายใหม่แก่วันหยุด เช่น หากสัปดาห์นี้จะต้องทำงานวันเสาร์ เราอาจจะต้องให้ความหมายว่าวันนี้คือวันทำงาน ที่เราจะใช้เพื่อทำงานให้เสร็จทันเวลา เป็นต้น เป็นการปรับความคิดและความคาดหวังต่อวันนั้น ๆ ตั้งแต่เริ่มแรก เพราะโดยธรรมดาแล้ว เรามักให้ความหมายและความคาดหวังแก่วันต่าง ๆ ในสัปดาห์ เช่น วันจันทร์คือวันทำงานวันแรก วันเสาร์อาทิตย์คือวันหยุดพักผ่อน เป็นต้น การปรับความหมายและความคาดหวังต่อวันจะช่วยให้เป้าหมายไม่ขัดแย้งกัน สิ่งที่สำคัญอีกข้อคือ ผู้บังคับบัญชาควรสนับสนุนให้พนักงานได้พักผ่อนอย่างแท้จริงในวันหยุด เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือการแบ่งเวลาให้ชัดเจนว่าเวลาไหนคือเวลาทำงานและเวลาไหนคือเวลาพักผ่อน เพื่อรักษาแรงจูงใจในการทำงานไว้ไม่ให้มอดไป

หวังว่าหากมีโอกาสหยุดพักผ่อนในครั้งต่อไป ผู้อ่านทุกท่านจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อกลับมาสู้ต่ออย่างมีกำลังใจในวันทำงานนะคะ


อ้างอิง

  1. Giurge, L. M., & Woolley, K. (2020, July 22). Don’t Work on Vacation. Seriously. Harvard Business Review. https://hbr.org/2020/07/dont-work-on-vacation-seriously


CONTRIBUTOR

Related Posts
ความสุขของแม่

สุภาณี ปลื้มเจริญ

ภาษากฎหมาย

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th