ถ้าเด็กในวันนี้คือสิ่งที่กำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า การบ่มเพราะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้เติบโตอย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์และสติปัญญา อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย จำเป็นจะต้องอาศัยการดูแลอย่างเอาใจใส่ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการศึกษา ด้านสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก1
ท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ระยะเวลาในการใช้หน้าจอของผู้คนเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเกือบครึ่งของเด็กอายุ 0-2 ขวบ พบว่ามีปฏิสัมพันธ์กับสมาร์ตโฟน และกลุ่มคน Generation Z ใช้เวลาหน้าจอเฉลี่ยมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน2 จากข้อมูลสะท้อนถึงแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตการขยายตัวด้านพฤติกรรมหน้าจอในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย ปัจจุบันรูปแบบวิถีการเล่นของเด็กได้ถูกแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ภาพของการวิ่งเล่นรวมถึงกิจกรรมการเล่นของเด็ก ๆ ดั่งในอดีต ได้ถูกอุปกรณ์หน้าจอสี่เหลี่ยมอย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต เข้ามาแทนที่และมีบทบาทในชีวิตประจำวัน ปี 2565 ที่ผ่านมา Active Healthy Kids Global Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย ที่มีหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วม จำนวน 57 ประเทศ รวมประเทศไทย ได้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพอื่นของเด็กและเยาวชน อายุ 5-17 ปี มีข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเกี่ยวกับการเล่น หรือกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย ดังนี้
ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ด้านกิจกรรมทางกายยังพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กและเยาวชนไทยเองก็เป็นปัญหาที่น่ากังวล เนื่องจากการสำรวจพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กและเยาวชนไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์3
มีหลักฐานเชิงสถิติที่ชี้ชัดเกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมการใช้หน้าจอของเด็กและเยาวชนไทย ซ้ำร้ายในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยพบว่า เด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 5-17 ปี มีระยะเวลาการใช้หน้าจอ ทั้งจากโทรศัพท์สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ เพื่อความบันเทิง เฉลี่ยสูงถึง 4 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 1 ชั่วโมง ตัวเลขคาดประมาณต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลดังกล่าว เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลระยะเวลาการใช้หน้าจอ เพื่อความบันเทิงของเด็กและเยาวชนไทยเท่านั้น ตัวเลขสถานการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนถึงสิ่งที่น่ากังวลใจจากผลกระทบด้านความอันตรายทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กไทยในอนาคต
ขณะเดียวกันสถานการณ์ด้านพฤติกรรมเนือยนิ่งยิ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงระหว่างปี 2555-2560 เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน จากนั้นในปี 2561-2563 ระยะเวลาของพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยสูงเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อคาดประมาณต่อในอีก 5 ปีข้างหน้า พบว่ามีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากกิจกรรมประจำวันของเด็กที่ต้องนั่งอยู่กับที่ในขณะเรียน ร่วมกับการใช้เวลาหน้าจอในการค้นคว้าเพื่อการศึกษา เนื่องจากอิทธิพลของการนำเอาอุปกรณ์หน้าจอมาใช้ในการศึกษาที่มากขึ้น
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือสถานการณ์พฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายที่มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงอย่างน่ากังวล โดยในช่วงระหว่างปี 2555-2564 เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายโดยเฉลี่ย ประมาณ 40 นาทีต่อวัน เมื่อทำการคาดประมาณต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า พบว่า ในปี 2569 เด็กและเยาวชนไทยจะมีกิจกรรมทางกายต่อวันลดลงจนกลับอยู่ในระดับต่ำที่สุดเทียบเท่า กับในปี 2559 อีกทั้งยังคงมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ค่าเฉลี่ยการมีกิจกรรมทางกายต่อวันของเด็กและเยาวชนไทยยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่อย่างน้อยควรมีกิจกรรมทางกาย สะสมอย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 60 นาที4 ซึ่งแนวโน้มจะพบว่า เด็กและเยาวชนไทยยังคงขาดการมีกิจกรรม ทางกายกว่า 20 นาทีต่อวัน
โดยปกติใน 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง คนเราจะมีพฤติกรรมประจำวันที่สามารถจำแนกตามลักษณะการเคลื่อนไหวร่างกาย แบ่งออกได้เป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรมทางกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวัน 2) พฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ และ 3) การนอนหลับพักผ่อน5 จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น พฤติกรรมหน้าจอที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการมีกิจกรรมทางกาย การนอนหลับพักผ่อนที่เหมาะสม และมิติสังคมและจิตใจของเด็กและเยาวชนด้วย
หากเด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับการมีโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดน้อยลง และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงได้แม้ในช่วงระยะสั้น ทั้งปัญหาของสุขภาพจิต สมาธิของเด็ก ๆ ลดลง และการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายได้ เช่น ตาแห้ง จอประสาทตาเสื่อม ปวดศีรษะ การที่นั่งท่าเดิมเป็นเวลานานส่งผลให้ปวดหลัง ไหล่ หรือกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน และส่งผลต่อประสิทธิภาพการนอนหลับและการตื่นนอน
สำหรับกลุ่มวัยเด็กที่มีพฤติกรรมหน้าจอจนนอนดึกกระทบเวลานอนหลับพักผ่อน จะส่งผลทำให้การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ นำไปสู่ผลกระทบในมิติอารมณ์และสมาธิในเด็ก เช่น อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น และอาจทำให้ความสามารถด้านวิชาการของเด็กลดลงได้ สอดคล้องกับการศึกษาพัฒนาการของเด็กปฐมวัย พบว่า เวลาหน้าจอที่สูงขึ้นในเด็กอายุ 2 และ 3 ขวบ มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพที่ลดลงในการทดสอบการคัดกรองประเมินพัฒนาการของเด็ก6 มหาวิทยาลัย Anglia Ruskin ประเทศอังกฤษ ได้เผยข้อมูลว่า การใช้สมาร์ตโฟนหรือการติดหน้าจอมีอัตราเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กปฐมวัยมากที่สุด เมื่อเด็กอยู่กับหน้าจอนานขึ้นส่งผลต่อการรับประทานอาหาร สุขภาพสายตาที่ไม่ดี สุขภาพจิตที่แย่ลง เช่น มีความวิตกกังวล และปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด และอารมณ์ฉุนเฉียวบ่อยครั้ง7
ที่แย่ไปกว่านั้น อาจมีอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในเด็กและความเสี่ยงต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติ และเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาได้ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม การขัดพฤติกรรมเนือยนิ่งบ่อย ๆ จะทำให้สามารถลดกลูโคส ฮอร์โมนอินซูลิน และไขมันในเลือดได้ ดังนั้น การลดพฤติกรรมเนือยนิ่งเพื่อส่งเสริมสุขภาพด้านเมตาบอลิซึมจึงมีความสำคัญ8,9
การเล่น การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือกิจกรรมทางกายเป็นสิ่งสำคัญในด้านพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่น้อย ช่วยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาการของเด็ก7,8 “การเล่น” สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ต่อเด็ก หลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยยืนยันให้เห็นว่า การเล่นอย่างเหมาะสมจะนำไปสู่การเสริมพัฒนาการเด็กในหลากหลายมิติ ความลับที่สำคัญของการเล่นที่คือ การเล่นหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย เพียงระยะเวลาสั้น ๆ 20 นาที สามารถกระตุ้นกระบวนการทำงานและคลื่นสมองของเด็กให้มีความพร้อมกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น10
จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้หน้าจอ การขาดกิจกรรมทางกาย และพฤติกรรมเนือยนิ่ง ดูจะเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ขาด เนื่องจากระหว่างที่มีการใช้งานหน้าจอนั้น เป็นช่วงที่ร่างกายเองก็แทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวเลย ดังนั้นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการสกัดกั้นพฤติกรรมเหล่านี้เห็นทีคงหนีไม่พ้นการมีกิจกรรมทางกาย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1) ภาครัฐ
ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสนับสนุน สำหรับการมีกิจกรรมทางกายการกำหนด นโยบาย กฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพให้เข้าถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
2) สถานศึกษา
ควรมีการจัดการระบบนิเวศด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย นโยบายด้านการจัดการเรียนการสอน บริบทเชิงพื้นที่ของโรงเรียน ให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายให้กับนักเรียน รวมถึงการจัดสรรเวลาในการจัดกิจกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การเล่น และการออกกำลังกายให้กับนักเรียนในแต่ละช่วงเวลาของวันที่นักเรียนอยู่ที่โรงเรียน โดยอาจเป็นในรูปแบบของการบูรณาการเข้ากับรายวิชาที่สอนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เล่นและเรียนรู้อย่างเหมาะสม
3) ชุมชน
ในส่วนของชุมชนควรมีการจัดสรรพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เช่น การพัฒนาและปรับปรุงทางเดินเท้าและทางปั่นจักรยานให้มีคุณภาพ การจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง การจัดสรรพื้นที่เล่นสำหรับเด็กและครอบครัว เช่น สนามเด็กเล่น ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและมีความปลอดภัยด้วย
4) ครอบครัว
ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เด็กมีศักยภาพในการใช้ชีวิตในสังคมและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ จำเป็นต้องอาศัยการเป็นต้นแบบทางด้านพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เช่น การเป็นแบบอย่างที่ดีในการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี รวมถึงทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายร่วมกันในครอบครัว นอกจากจะเป็นการลดเวลาการใช้หน้าจอและพฤติกรรมเนือยนิ่งแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การกำหนดเวลาในการใช้หน้าจอของเด็ก ๆ ให้เหมาะสม ซึ่งสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา11 ได้กำหนดคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้าจอสำหรับเด็กที่เหมาะสมตามพัฒนาการและช่วงวัย ไว้ดังนี้
การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ตัวน้อยเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์และมีคุณภาพในอนาคตข้างหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่บรรดาผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ในทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงมอบโอกาสเหล่านี้ ให้เด็ก ๆ ไทยได้มีเวลา กิจกรรม และพื้นที่เล่นมากยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
ฐิติกร โตโพธิ์ไทย
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
ณัฐณิชา ลอยฟ้า
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา