The Prachakorn

การประเมินสมรรถนะของผู้เรียน (ตอนที่ 1) : ผู้สอนประเมินได้อย่างไร?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

08 สิงหาคม 2567
309



ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมการพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษา หัวข้อการประเมินผู้เรียน ซึ่งผู้เขียนเองมีความรู้ในเรื่องนี้เป็นศูนย์ หลังจบการอบรม 3 ครั้ง ผู้เขียนจึงอยากร่วมแบ่งปันความรู้ในเรื่องดังกล่าว

เคยสงสัยไหมว่า evaluation and assessment เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

Evaluation เป็นการประเมินเพื่อให้ค่า (value) เช่น การให้คะแนน การตัดเกรด ในขณะที่ Assessment เป็นการประเมินเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ดังนั้น คำสองคำนี้ แม้เป็นการประเมินเหมือนกัน แต่ผลที่ได้จากการประเมินกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การประเมินผู้เรียนคืออะไรและสำคัญอย่างไร?

การประเมินผู้เรียน คือ การประเมินสมรรถนะ (competency) ที่ใช้ความสามารถของผู้สอนในการสังเกต โดยผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ มากมายในการประเมินสมรรถนะ เช่น ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) ค่านิยม (values) และทัศนคติ (attitudes)1  การประเมินช่วยให้ผู้สอนวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และช่วยให้ผู้เรียนค้นพบว่า พวกเขามีจุดแข็งหรือเก่งตรงไหน และมีจุดอ่อนตรงไหน และจะปรับปรุงจุดอ่อนเหล่านั้นได้อย่างไร2

ผู้สอนจะประเมินสมรรถนะของผู้เรียนได้อย่างไร?

องค์ประกอบของการประเมินสมรรถนะของผู้เรียนประกอบด้วยการประเมิน (1) ความรู้ (2)ทักษะ และ (3)ทัศนคติ หรือใช้ชื่อย่อสั้นๆ ว่า “KSA” ในการเรียนการสอนแต่ละสาขาวิชาอาจมีการประเมิน KSA ของผู้เรียนที่แตกต่างกันตามศาสตร์ของสาขาวิชานั้นๆ ผู้สอนควรประเมิน KSA ของผู้เรียนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนการสอน และควรประเมินหลายครั้ง เพื่อนำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้เรียน ผู้สอนสามารถประเมิน KSA ของผู้เรียนได้หลากหลายวิธีในแต่ละองค์ประกอบ ดังนี้

1. การประเมินความรู้ของผู้เรียน

การประเมินความรู้ของผู้เรียนส่วนใหญ่ใช้การสอบ เช่น การสอบแบบมีตัวเลือกคำตอบ (multiple choice questions) การสอบแบบเลือกถูกผิด (True/False items) การสอบข้อเขียน (essay/writing exam) การสอบปากเปล่า (oral examination) หรือ การสอบแบบสั้นๆ (quiz) ซึ่งผู้สอนสามารถใช้การสอบได้หลายรูปแบบในการเรียนสอน ในการประเมินความรู้จากการสอบ คือ การวัดผลของการตอบว่า ถูกหรือผิด เช่น การสอบวิชาคณิตศาสตร์ โดยให้แก้ไขสมการ ผู้สอนอาจออกข้อสอบแบบ (1) มีตัวเลือกคำตอบ หรือ (2) การสอบข้อเขียนโดยให้แต่โจทย์แล้วให้ผู้เรียนแสดงวิธีทำเพื่อแก้ไขสมการ คำตอบที่ได้ของการสอบทั้งสองรูปแบบเหมือนกัน ดังนั้น หากผู้เรียนเลือกตัวเลือกคำตอบถูกหรือแก้ไขสมการได้ถูกต้อง แสดงว่า ผู้เรียนมีความรู้ แต่การประเมินความรู้ของผู้เรียนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถประเมินสมรรถนะของผู้เรียนได้ ดังนั้น ผู้สอนต้องมีการประเมินองค์ประกอบด้านทักษะและทัศนคติของผู้เรียนร่วมด้วย

2. การประเมินทักษะของผู้เรียน

การประเมินทักษะของผู้เรียนเป็นการฝึกผู้เรียนให้ทำกิจกรรมหรืองานที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ที่เรียนบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะหรือความเชี่ยวชาญความชำนาญในศาสตร์นั้นๆ เช่น การเรียนภาษาต่างประเทศ ผู้สอนอาจให้มีการสัมมนา การโต้วาที การนำเสนอหน้าชั้นเรียน เพื่อฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อประเมินทักษะทางด้านภาษา หรือการเรียนแพทย์ ผู้สอนอาจใช้แบบทดสอบ Objective Structured Clinical Examination: OSCE เพื่อทดสอบทักษะต่างๆ ของนักศึกษาแพทย์ ได้แก่ ทักษะการวัดประวัติผู้ป่วย การตรวจร่างกายผู้ป่วย ทักษะการสื่อสาร ทักษะและขั้นตอนการปฏิบัติงานตามสาขาวิชาชีพ ที่ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน การตีความการสืบสวนทางการแพทย์ และการสั่งการรักษาพยาบาล เพื่อประเมินทักษะของความเป็นแพทย์ หรือการประเมินอิงสถานทำงาน (Workplace-based Assessment) ผู้เรียนทำงานจริง แล้วผู้สอนสังเกตการกระทำของผู้เรียน ซึ่งผู้สอนควรให้ผู้เรียนฝึกทำงานนั้นๆ มากกว่า 1 ครั้ง เพื่อประเมินการปฏิบัติงานของผู้เรียน เป็นต้น และหลังจากผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะแล้ว ผู้สอนควรให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้เรียน รวมทั้งให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดจากการฝึกทักษะนั้นๆ ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนจัดทำ portfolio เพื่อทำให้ผู้เรียนได้ตกผลึกความคิดและสรุปบทเรียนด้วยตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะของตนเองต่อไป

3. การประเมินทัศนคติของผู้เรียน

การประเมินทัศนคติของผู้เรียนเป็นการประเมินพฤติกรรมที่ดีและคุณธรรมหรือจริยธรรมที่ดีของผู้เรียน ซึ่งมี 4 วิธีในการประเมิน ได้แก่
(1) การสร้างเงื่อนไข (condition) ด้วย (1.1) การให้รางวัล เช่น นักศึกษาแพทย์พูดจาดีกับผู้ป่วย ผู้สอนให้คะแนนและคำชื่นชมแก่ผู้เรียน ผู้เรียนเข้าเรียนตรงเวลาและไม่ขาดเรียน ผู้สอนให้คะแนนแก่ผู้เรียน หรือ (1.2) การลงโทษ (เป็นการนำสิ่งดีๆ หรือสิ่งที่ผู้เรียนชอบออกไปจากชีวิตของเขา หรือให้สิ่งที่ผู้เรียนไม่ชอบ) เช่น นักศึกษาขึ้นเวรแต่ขาดความรับผิดชอบตามตัวยาก ผู้สอนอาจลงโทษนักศึกษาแพทย์ที่ไม่ชอบขึ้นเวร ด้วยการให้ขึ้นเวรเพิ่มอีก 2 ครั้ง แต่การประเมินด้วยวิธีนี้เป็นการประเมินแบบพื้นผิวไม่สามารถเข้าไปถึงจิตใจของผู้เรียน ที่จะสามารถทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนได้ และผู้สอนควรให้รางวัลมากกว่าลงโทษแก่ผู้เรียน
(2) การโน้มน้าวใจ (persuasion) เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนใจปรับพฤติกรรม เช่น (2.1) ผู้เรียนทำดีกับผู้สอน ผู้สอนทำดีให้กับผู้เรียน (reciprocity) เปรียบเสมือนการซื้อใจกัน (2.2) คนโน้มน้าวเชิญชวนเป็นผู้มีอำนาจ (authority) ทำให้ผู้เรียนเชื่อถือและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (2.3) ผู้สอนมีโอกาสให้ผู้เรียนตัดสินใจทำกิจกรรมหรือไม่ทำกิจกรรมในเวลาจำกัด หากนักศึกษาตัดสินใจไม่ทำจะเสียโอกาสทองนี้ (scarcity) เป็นการกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
(3) ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Theory) เป็นการทบทวนประสบการณ์หรือนำสิ่งที่ลงมือทำมาตกผลึกความคิด เพื่อให้ได้รับรู้ถึงความรู้ใหม่ที่ได้รับ เป็นการนำไปต่อยอดความรู้เดิม หรือสามารถนำไปปรับใช้ในบริบทอื่นๆ สำหรับผู้เรียนเอง
(4) บุคคลต้นแบบ (role model) หากผู้เรียนมีบุคคลต้นแบบอาจส่งผลให้ผู้เรียนทำตามบุคคลนั้น ผู้สอนอาจใช้การตั้งคำถามโดยให้ผู้เรียนหวนนึกถึงหรือทบทวนว่า บุคคลต้นแบบของนักศึกษาคือใครและเขาคนนั้นมีความสำคัญต่อผู้เรียนอย่างไร หรือผู้สอนแนะนำให้ผู้เรียนอ่านหนังสือ ชมภาพยนตร์ที่จรรโลงใจหรือสร้างแรงบันดาลใจ หรือผู้สอนเล่าเรื่องจากชีวิตจริง วิธีเหล่านี้อาจทำให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมที่ดีและคุณธรรมหรือจริยธรรมที่ดีได้

การประเมินสมรรถนะของผู้เรียนไม่ได้มีเพียงการประเมินความรู้ในศาสตร์นั้นๆ ผู้สอนต้องประเมินทักษะและทัศนคติของผู้เรียนร่วมด้วย การประเมิน KSA ผู้สอนสามารถใช้หลายวิธีในการประเมินและควรมีการประเมินก่อน ระหว่าง และหลังการเรียนการสอนหลายครั้ง และในการประเมิน KSA ผู้สอนควรมีการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลสะท้อนกลับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาสมรรถนะของตนเองให้ดีขึ้น

ภาพประกอบ  การประเมินสมรรถนะผู้เรียน
ที่มา: https://medium.com/@ahmadjnaous/competence-knowledge-skills-attitude-b6cfbe250df2 (สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567)


อ้างอิง

  1. Association of American Medical Colleges. The Core Entrustable Professional Activities (EPAs) for Entering Residency. Washington, DC: Association of American Medical Colleges; 2014
  2. Fletcher RB, Meyer LH, Anderson H, Johnston P, Rees M. Faculty and Students Conceptions of Assessment in Higher Education. Higher Education. 2012;64(1):119-33


CONTRIBUTOR

Related Posts
ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

ประเด็นทางประชากรและสังคม

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

อนาคตผู้สูงอายุไทย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

แมลงสาบ

วรชัย ทองไทย

เกษียณอย่างเกษม

อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์

นอนกี่ชั่วโมงคือเพียงพอ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

Brighton and Hove เมืองอาหารยั่งยืน

พิมลพรรณ นิตย์นรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th