The Prachakorn

การสวมใส่หน้ากากอนามัยในกลุ่มเด็ก


มนสิการ กาญจนะจิตรา

19 เมษายน 2564
1,471



เมื่อวันก่อน ในขณะที่กำลังนั่งเล่นเฟซบุ๊ก ก็บังเอิญได้เห็นภาพวิดีโอของเด็กๆ ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง กำลังสนุกกับกิจกรรมกลางแจ้งกันอยู่

เด็กๆ ในวิดีโอนั้น น่าจะอยู่ในวัยอนุบาล กำลังเล่นโยนรับลูกบอลบ้าง วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ บ้าง เป็นภาพที่เห็นแล้วชวนยิ้มตาม แต่กลับมีสิ่งหนึ่งที่รู้สึกติดใจผู้เขียนอยู่ไม่น้อย คือ น้องๆ อนุบาลในคลิปวิดีโอนั้น กำลังวิ่งเล่นพร้อมสวมใส่หน้ากากอนามัย

แน่นอนว่า การใส่หน้ากากอนามัย กลายเป็นสิ่งสำคัญของคนในยุคนี้ไปเสียแล้ว แต่การเห็นภาพเด็กๆ วิ่งเล่นกันในสนามหญ้าโดยใส่หน้ากากอนามัย ชวนให้ตั้งคำถามว่า หน้ากากอนามัยเหมาะที่จะใช้ในเด็กเล็กจริงหรือ และในสถานการณ์ที่เด็กๆ วิ่งเล่นในสถานที่อากาศถ่ายเทเช่นนี้ การใส่หน้ากากอนามัยมีประโยชน์มากกว่าโทษจริงหรือ

ผู้เขียนได้ลองค้นหาข้อมูลและได้พบคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการใส่หน้ากากอนามัยในเด็ก ในการลดกับความเสี่ยงในการติดโรคโควิด 19 วันนี้จึงขอนำข้อมูลมาแบ่งปันในบทความนี้

ในด้านการติดเชื้อในประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปีจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก พบผู้ป่วยยืนยันที่เป็นเด็กในสัดส่วนที่น้อย คือ ราว 1-7% ของผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งหมด และส่วนมากติดเชื้อจากคนในบ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโรงเรียนปิดในหลายประเทศ ทำให้เด็กต้องอยู่บ้านเป็นหลักด้วย

การศึกษาในด้านประโยชน์และโทษของการใช้หน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการติดโรคโควิด 19 ในกลุ่มเด็กยังมีจำนวนไม่มากนักแต่มีการประเมินประสิทธิภาพการใช้หน้ากากอนามัยสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าประสิทธิภาพในการใช้หน้ากากอนามัยขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุของเด็ก การศึกษาในญี่ปุ่นพบว่า มีประสิทธิภาพในกลุ่มเด็ก 9-12 ปี สูงกว่าเด็ก 6-9 ปี ในขณะที่อีกการศึกษาหนึ่ง พบว่ากลุ่มเด็ก 5-11 ปี ได้ประโยชน์จากการใช้หน้ากากอนามัยในแง่การป้องกันโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ และสิ่งที่ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้หน้ากากอนามัยในกลุ่มเด็ก คือการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการสวมให้คลุมตั้งแต่จมูก ปาก และปลายคาง การปรับหน้ากากอนามัยให้กระชับพอดีกับใบหน้า การใส่และถอดอย่างถูกวิธี รวมทั้งการดูแลรักษาหน้ากากอนามัยไม่ให้ปนเปื้อนสิ่งสกปรกต่างๆ ในส่วนของข้อเสียนั้น พบว่าเด็กรู้สึกถึงความรำคาญ ความร้อน ความไม่สะดวกในการหายใจ และการรบกวนสมาธิในการเรียน

ดังนั้น หลักฐานในปัจจุบันชี้ไปในทิศทางที่ว่า เด็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงทั้งในแง่การติดหรือแพร่เชื้อ และการใช้หน้ากากอนามัยในกลุ่มเด็กอาจไม่ได้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

จากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกได้ออกข้อแนะนำสำหรับการใช้หน้ากากอนามัยในกลุ่มเด็กดังนี้

  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ไม่ควรต้องใส่หน้ากากอนามัย อ้างอิงจากความเหมาะสมในด้านพัฒนาการของเด็ก และความท้าทายในการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ อาจมีบางกรณีที่ควรต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย เช่น ต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งเด็กจำ.เป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ใหญ่ตลอดเวลา
  • เด็กอายุ 6-11 ปี ควรพิจารณาตามระดับความเสี่ยง เช่น ความรุนแรงของการระบาดโรคในพื้นที่ขณะนั้น ความสามารถของเด็กในการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และผลกระทบของการใส่หน้ากากอนามัยต่อการเรียนการสอน
  • เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรใช้หลักเกณฑ์การสวมใส่หน้ากากอนามัยเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

หากพิจารณาตามหลักฐานและข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลกแล้ว การสวมใส่หน้ากากอนามัยในเด็กวัยอนุบาลอาจไม่ได้มีประโยชน์เท่าที่ควร องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่าเด็กไม่ควรต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยในขณะมีกิจกรรมทางกาย เพราะส่งผลต่อการหายใจ โดยได้แนะนำว่าการรักษาระยะห่าง และการหมั่นล้างมือ เป็นมาตรการที่ควรให้น้ำหนักมากกว่า

แต่ความท้าทายในทางปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมด้วย หากคลิปวิดีโอของโรงเรียนดังกล่าวแสดงภาพเด็กๆ วิ่งเล่นกันโดยไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย โรงเรียนแห่งนี้อาจโดนกระแสวิจารณ์ในด้านลบว่าละเลยความปลอดภัยของเด็กๆ ก็เป็นได้ การให้เด็กใส่หน้ากากอนามัยไว้ก่อน จึงดูเป็นแนวทางที่ “ปลอดภัยกว่า” สำหรับโรงเรียน

ผู้เขียนจึงหวังว่าบทความนี้ จะช่วยเสนอมุมมองเพิ่มเติมในการใช้หน้ากากอนามัยในกลุ่มเด็ก เพื่อให้ประเทศ โรงเรียน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้พิจารณาตัดสินใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กๆ และทุกคนในสังคมต่อไป


ที่มา: https://www.pinterest.com สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2564

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th