The Prachakorn

สายสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก มั่นคงแล้วหรือยัง?


มนสิการ กาญจนะจิตรา

22 ตุลาคม 2563
1,428



“ความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างพ่อแม่กับลูก เปรียบเสมือนหางเสือ ที่คอยประคับประคองลูกไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางต่อไปในอนาคต”

รูปแบบสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อแม่ เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคต สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง จะส่งผลให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก ซึ่งจะทำให้เด็กเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง และมีวุฒิภาวะที่ดี 

รูปแบบสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อแม่เป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับนิสัยพื้นฐานของเด็กเอง และการเลี้ยงดูของพ่อแม่

แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกมีสายสัมพันธ์กับเราแบบไหน? ในช่วงทศวรรษ 1970 นักจิตวิทยาเด็ก Mary Ainsworth ได้ออกแบบการทดสอบ เพื่อศึกษารูปแบบความผูกพันระหว่างลูกและผู้เลี้ยง การทดสอบนี้มีชื่อว่า Strange Situation โดยแบบทดสอบนี้จะดูปฏิกิริยาของเด็กอายุ 12-18 เดือน ใน 8 สถานการณ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยในแต่ละสถานการณ์จะมีระยะเวลาไม่เกิน 3 นาที ดังนี้

  1. เริ่มต้นจากแม่ เด็ก และผู้ทดสอบอยู่ในห้องขนาดเล็กที่มีของเล่นวางทั่วห้อง
  2. ผู้ทดสอบออกจากห้อง ปล่อยให้แม่และเด็ก อยู่ในห้องตามลำพัง
  3. คนแปลกหน้าเข้ามานั่งในห้องด้วย
  4. แม่ออกจากห้อง เด็กและคนแปลกหน้าอยู่ในห้องกันตามลำพัง
  5. แม่กลับมาในห้อง คนแปลกหน้าออกจากห้อง 
  6. แม่ออกจากห้อง เด็กอยู่ในห้องตามลำพัง
  7. คนแปลกหน้ากลับมาในห้อง อยู่กับเด็กตามลำพัง
  8. แม่กลับมาในห้อง และคนแปลกหน้าออกจากห้อง

ในแต่ละสถานการณ์ ผู้ทดสอบจะสังเกตปฏิกิริยาของเด็ก เช่น การเดินสำรวจห้อง การเล่นของเล่น ปฏิกิริยาเมื่อแม่ออกไป เมื่อแม่กลับมา และเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้าตามลำพัง จากการทดสอบนี้ Ainsworth ได้พัฒนาทฤษฎีความผูกพัน โดยแบ่งรูปแบบความผูกพันเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. ปลอดภัย (Secure) เป็นกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ที่มั่นคงที่สุด ในกลุ่มนี้เด็กจะร้องไห้ถ้าหากแม่เดินออกไป แต่พอแม่กลับมาปลอบก็สงบอย่างรวดเร็วและกลับมาเล่นต่อได้ เวลาแม่อยู่ในห้องแล้วจะรู้สึกปลอดภัย เล่นกับคนแปลกหน้าได้หากแม่อยู่ด้วย และเดินไปสำรวจของเล่นอย่างอิสระ โดยยังคงกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับแม่อยู่เป็นระยะ ๆ
  2. กังวล (Anxious) เป็นกลุ่มที่มีความผูกพันที่ไม่มั่นคงกับแม่มากนัก สำหรับเด็กกลุ่มนี้เมื่อแม่เดินออกจากห้องไปจะร้องไห้เหมือนในกลุ่มแรก แต่บางรายจะร้องไห้แบบรุนแรงมาก และเมื่อแม่กลับมาแล้ว จะไม่สามารถสงบลงได้ง่าย ๆ และบางรายจะไม่ยอมเล่นต่อ จะอยู่ติดแจกับแม่เพราะกลัวแม่จะหายไปอีก และกลัวคนแปลกหน้ามาก
  3. หลีกเลี่ยง (Avoidance) เป็นกลุ่มที่มีความผูกพันที่ห่างเหินกับแม่ เด็กกลุ่มนี้ไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ไม่ว่าแม่จะอยู่ในห้องหรือไม่ สามารถเล่นต่อได้แบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น และสามารถเล่นกับคนแปลกหน้าได้ไม่ว่าแม่จะอยู่หรือไม่ก็ตาม

จากการศึกษาของ Ainsworth พบว่าเด็กส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม secure ราว 70% ที่เหลือเป็นกลุ่ม anxious และ avoidance อย่างละเท่า ๆ กัน 

แน่นอนว่า กลุ่ม secure เป็นกลุ่มที่มีรูปแบบความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูที่ดีที่สุด และจะเติบโตไปอย่างมั่นคงที่สุด เด็กกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นในผู้เลี้ยง และรู้สึกปลอดภัย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้กล่าวว่าความสัมพันธ์นี้สำคัญอย่างยิ่งเมื่อเด็กโตขึ้นไปในอนาคต เพราะสายสัมพันธ์ที่มั่นคงเปรียบเสมือนหางเสือเรือ ที่คอยคัดท้ายและคอยระวังหลัง คอยฉุดรั้งและคอยตักเตือน เป็นสิ่งที่คอยประคับประคองให้ลูกอยู่ในร่องในรอย ไม่ออกนอกลู่นอกทาง และไม่เลี้ยวเข้าหาอบายมุขอย่างง่าย 

รูปแบบความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับทั้งลักษณะนิสัยพื้นฐานของเด็ก แต่อีกส่วนที่สำคัญมาจากการเลี้ยงดู ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือการให้ความรักความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ การใช้เวลากับลูก เล่นกับลูก และตอบสนองต่อความรู้สึกและความต้องการของลูก (ไม่ใช่ตามใจ แต่รับฟังลูกด้วยความเข้าอกเข้าใจ) 

ที่มา: Designed by jcomp / Freepik

ความสม่ำเสมอนั้นเป็นหัวใจสำคัญ เพราะถ้าหากรักบ้าง หมางเมินบ้าง ขึ้น ๆ ลง ๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ จะทำให้เด็กไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ และจะมีแนวโน้มมีความสัมพันธ์แบบ anxious มากขึ้น และหากพ่อแม่เย็นชา ทอดทิ้ง หมางเมิน เป็นประจำ จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกเป็นแบบ avoidance

สุดท้ายนี้ อยากชวนพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูบุตรหลานทุกท่าน เริ่มต้นจากการสำรวจตัวเอง ว่าตัวเรามีแนวโน้มที่จะมีรูปแบบความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแบบไหน (หากสนใจสามารถหาแบบทดสอบออนไลน์ได้) เพื่อจะได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับลูกต่อไป  

สายสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก มั่นคงแล้วหรือยัง?

ที่มา: https://www.th.lovepik.com



CONTRIBUTOR

Related Posts
มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Kidfluencer | EP. 1

รีนา ต๊ะดี

เด็กน้อยอัจฉริยะ

อมรา สุนทรธาดา

พัฒนาชาติเพื่อการมีลูก

ภูเบศร์ สมุทรจักร

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th