การเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีฐานแฟนคลับจากหลากหลายประเทศ ได้เล่นคอนเสิร์ตท่ามกลางผู้ชมนับพันหมื่น มีแสงไฟ spotlight สาดส่องพร้อม effect เวทีตระการตา...ในมุมมองของแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปิน ไอดอลจึงเปรียบเสมือนดาวดวงน้อย ๆ ที่เปล่งประกาย เป็นผู้สร้างรอยยิ้มและแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน แต่เบื้องหลังเวทีแล้วใครจะรู้ว่าไอดอลเหล่านี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย
สิ่งที่ไอดอลต้องเผชิญพร้อม ๆ กับชื่อเสียงและความโด่งดังที่ได้รับ ไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือสำหรับทุกคนในวัยอายุราว 20 ต้น ๆ การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่จึงตกเป็นของผู้จัดการวงและค่ายเพลงเป็นหลัก ไอดอลมีหน้าที่เพียงทำงานตามตารางงานที่กำหนดเท่านั้น Nadine Kam นักข่าวและ blogger ที่คร่ำหวอดในวงการ K-pop ได้บอกเล่าสิ่งที่ทำให้ไอดอลต้องพบเจอกับความยากลำบากและความกดดัน เช่น มีการแข่งขันระหว่างวงไอดอลที่สูง มีเวลาพักผ่อนน้อย ต้องห่างเหินจากสมาชิกครอบครัว1 ต้องผลิตผลงานเพลง บางครั้งอาจบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมและการทำงาน ถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว ถูกต่อว่าทางลบในสื่อสังคมออนไลน์โดยที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ (cyberbullying) รวมทั้ง กฎเกณฑ์ของบริษัทที่ไอดอลทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของตนเองและบริษัทต้นสังกัด แม้กฎบางข้อเป็นการจำกัดสิทธิก็ตาม สาเหตุเหล่านี้ล้วนทำให้เหล่าไอดอลต้องระมัดระวังตนเองและแบกรับความกดดันอย่างมาก เพราะการเกิดกระแสโจมตีหนึ่งครั้งทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น ความปลอดภัยของตัวไอดอลเอง การสูญเสียชื่อเสียง สูญเสียรายได้และการเติบโตของหุ้นบริษัทต้นสังกัด
ศิลปินวง iKON
ภาพถ่ายโดย Twitter: Sweet Scent Snow
ความกดดันและความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ไอดอลต้องตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะการทำงานในวงการเกาหลีทำให้ไอดอลต้องแบกรับการรักษาภาพลักษณ์ รวมถึงความคาดหวังของครอบครัว ไปพร้อม ๆ กัน สำหรับไอดอลบางคน นอกจากการเป็นไอดอลจะเป็นความฝันแล้ว ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย เมื่อไอดอลต้องพบเจอกับสภาวะยากลำบากไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือจิตใจ ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่ระบายความรู้สึกในพื้นที่สาธารณะเพราะมักจะถูกตัดสินจากบุคคลภายนอกอย่างไม่ยุติธรรม หรือไม่เปิดเผยกับครอบครัว เพราะอาจทำให้พ่อแม่เป็นกังวล บางคนไม่สามารถพึ่งพาคนใกล้ชิดได้ การเข้าสู่กระบวนการรักษาสภาพปัญหาทั้งทางกายหรือจิตใจจึงค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะบรรทัดฐานและความคาดหวังที่สังคมสร้างไว้ นำไปสู่การไม่ถูกยอมรับ ถูกลดความน่าเชื่อถือในสังคม ในทางกลับกันการเปิดเผยออกมาอาจทำให้แฟนคลับเป็นห่วงและกังวล
เหล่าไอดอลจึงจำเป็นต้องรับมือกับปัญหา โดยพยายามแบ่งแยกระหว่าง “สังคม” และ “ตัวจริง” เพื่อไม่ให้ชื่อเสียงและความโด่งดังกัดกินความเป็นตัวตนของตนเอง2 แต่ไอดอลหลายคนก็ไม่สามารถก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้ แม้ว่าพวกเขาจะพยายามรักษาร่างกายและจิตใจด้วยตนเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์แล้วก็ตาม จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย3 ในช่วงระยะเวลา 3 ปี (ค.ศ. 2017-2019) มีไอดอลที่มีชื่อเสียงระดับเอเชียของวงการบันเทิงเกาหลีเสียชีวิตถึง 3 คน ในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักและพวกเขายังมีอายุไม่มาก (ระหว่าง 25-28 ปี) ซึ่งทุกคนมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้าในระดับที่รุนแรง
ศิลปินวง Blackpink
ภาพถ่ายโดย IG: Cheru_u
ข่าวการฆ่าตัวตายของไอดอลสร้างความตกใจและเสียใจในกลุ่มแฟนคลับเป็นอย่างมาก เรื่องราวการฆ่าตัวตายที่เป็นพฤติกรรมเลียนแบบในกลุ่มแฟนคลับที่ทำใจรับการสูญเสียของศิลปินที่ตนรักไม่ได้มีออกมาเป็นระยะ ๆ ความสูญเสียนี้เป็นชนวนสำคัญให้คนในสังคมหันกลับมาสนใจสาเหตุการตายมากขึ้น และมีไอดอลหลายคนเริ่มออกมาเปิดใจว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าและเรียกร้องให้คนในสังคมตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ภาวะซึมเศร้าอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคที่พบเจอได้ทั่วไปในกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง ไม่เพียงแต่ไอดอลเท่านั้น นางแบบ นักแสดง หรือนักกีฬาที่มีชื่อเสียงก็ถูกพบว่ามีภาวะซึมเศร้า พัคจินฮี (Park Jin Hee) นักแสดงหญิงคนหนึ่งได้ทำการศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ในการเรียนปริญญาโท เรื่องภาวะซึมเศร้าและการกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายในหมู่นักแสดงจำนวน 260 คนที่มีค่าตัวอยู่ที่ 2 หมื่นถึง 3 แสนบาทต่อการแสดงซีรีย์หนึ่งตอน การศึกษา พบว่านักแสดงถึงร้อยละ 40 เป็นโรคซึมเศร้า และร้อยละ 20 ยอมรับว่ามีความรู้สึกและแรงกระตุ้นที่อยากจะฆ่าตัวตาย4
การสำรวจหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ พบอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรอยู่ที่ 26.6 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายของเกาหลีใต้ถูกจัดอันดับสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลกโดยการสำรวจขององค์การอนามัยโลก (หรือ WHO) ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิงสองเท่า และอัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงเกาหลีใต้สูงกว่าทุกประเทศในโลก นอกจากนี้ การสำรวจด้านสุขภาพจิต พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรเป็นโรคซึมเศร้าจากความเครียดในการทำงานและความวิตกกังวลทางสังคม มีคนจำนวนไม่มากที่เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์อย่างจริงจัง เนื่องจากบริบทสังคมยังไม่เปิดกว้างสำหรับการเข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชมากนัก5 เมื่อพิจารณาในกลุ่มประชากร 9-24 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุเดียวกันกับกลุ่มไอดอล พบว่าการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนกลุ่มนี้ โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 7.7 เป็น 9.1 คนต่อประชากรช่วงอายุเดียวกันหนึ่งแสนคน ในปี ค.ศ. 2017 และ 2018 ตามลำดับ อัตรานี้เคยพุ่งสูงสุดถึง 10.3 คน ในปี 2009 นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรอายุ 13-24 ปีมีความกังวลเกี่ยวกับหน้าที่การงานในอนาคตมากที่สุด รองลงมา คือ ผลการเรียน และรูปร่างหน้าตา ปี ค.ศ. 2019 พบว่า มีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาถึงร้อยละ 28.2 เป็นโรคซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม จากปรากฎการณ์การฆ่าตัวตายของไอดอลเกาหลีรวมทั้งคนมีชื่อเสียงอีกมากมาย ทำให้สังคมตื่นตัวกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น และรัฐบาลเกาหลีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหา โดยมีการกำหนดมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายขึ้นเป็นวาระแห่งชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีการเริ่มโครงการ “Bridge of Life” ที่สะพานมาโปซึ่งเป็นสถานที่ที่คนมักจะมาพยายามฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง บริเวณสะพานจะมีการฉายข้อความและภาพเพื่อให้กำลังใจแก่คนที่มาเยี่ยมชมและจัดตั้งศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายของเกาหลีใต้ เพื่อให้บริการ เช่น การให้คำปรึกษาทางการแพทย์และการเยียวยาจิตใจสำหรับผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ตลอดจนบริการสายด่วนให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง5 โดยตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายให้เหลือ 17 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี ค.ศ. 2022
อ้างอิง
พิมลพรรณ นิตย์นรา
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
พิมลพรรณ นิตย์นรา
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
อมรา สุนทรธาดา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
กาญจนา เทียนลาย
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ศุทธิดา ชวนวัน
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
อมรา สุนทรธาดา
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน
ศุทธิดา ชวนวัน
สุพัตรา สำอางค์ศรี
วรชัย ทองไทย