สำหรับวงการบันเทิงเกาหลีใต้ ไอดอล (idol) เป็นชื่อเรียกกลุ่มคนหรือศิลปินที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยบริษัทบันเทิง เพื่อทำการแสดงทั้งร้องและเต้น โดยมีเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มผู้ชมที่มีอายุน้อย ไอดอลเหล่านี้จะเข้าสู่บริษัทหรือค่ายเพลงตั้งแต่เด็ก เพื่อเซ็นสัญญาในฐานะเด็กฝึกหัด (trainee) ของค่ายต้นสังกัด ต้องเรียนและฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นเวลาหลายปี ทั้งในเรื่องบุคลิกภาพ การสื่อสาร การร้องเพลง การเต้น และการแรป (rap) รวมไปถึง การเรียนภาษาต่างประเทศ1 เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กฝึกหัดทุกคนเติบโตเป็นไอดอลที่มีทักษะและทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
ศิลปินวง Blackpink ภาพถ่ายโดย
Twitter: Sweet Scent Snow
เมื่อเซ็นสัญญากับต้นสังกัดแล้ว เด็กฝึกหัดแต่ละคนต้องทำการเรียนและฝึกซ้อมร่วมกับเด็กฝึกหัดคนอื่น ๆ จนเป็นกิจวัตรประจำวัน มีตารางเรียนที่แน่นอน เด็กฝึกหัดไม่ได้มีเพียงเด็กสัญชาติเกาหลีเท่านั้น แต่ยังมีสัญชาติอื่น ๆ เช่น ไทย ญี่ปุ่น จีน ที่มีความฝันอยากจะเป็นไอดอลมาฝึกหัดร่วมกันด้วย การเป็นเด็กฝึกหัดสำหรับเด็กทุกคนต้องใช้ความพยายามและจริงจังอย่างมาก บางคนตัดสินใจพักการเรียนที่โรงเรียน เพื่อให้เวลากับการฝึกเป็นไอดอลอย่างเต็มที่ การไล่ล่าความฝันนี้ต้องแลกด้วยการมีระเบียบวินัย ความขยัน การแข่งขันร่วมกับคนอีกหลายร้อยคน และแน่นอนว่าการสร้างไอดอลเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุนและผลกำไรในอนาคต ต้นสังกัดค่ายเพลงจึงต้องคัดเลือกเฉพาะคนที่สมบูรณ์แบบที่สุดมาเป็นไอดอลเท่านั้น ในปี 2012 Wall Street Journal ได้รายงานว่าค่ายเพลงต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 90 ล้านบาทต่อเด็กฝึกหัดที่มีศักยภาพหนึ่งคน2 น่าเสียดายที่ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่สามารถหาจำนวนเด็กฝึกหัดทั้งหมดในอุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีใต้ได้ เนื่องจากค่ายเพลงส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กฝึกหัดหรือศิลปินของค่ายสู่สาธารณะมากนัก เพราะเป็นความลับของบริษัทและเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับตัวเด็กฝึกหัดและศิลปิน
การสอบทักษะการร้อง เต้น แรปและการแสดงมีขึ้นทุกสัปดาห์ ทุกเดือน นอกจากทักษะเหล่านี้แล้ว เด็กฝึกหัดทั้งชายและหญิง จะต้องรักษารูปร่างให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ค่ายกำหนด รูปร่าง น้ำหนัก ส่วนสูง สิ่งเหล่านี้มีเกณฑ์ที่แน่นอนและชัดเจนทั้งหมดเพื่อภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ หากไม่ผ่านการประเมินเท่ากับว่าโอกาสที่จะก้าวไปเป็นไอดอลก็ลดลงด้วย บางคนจำเป็นต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านเพราะค่ายเห็นว่ามีศักยภาพไม่เพียงพอ ทักษะและรูปร่างของเด็กแต่ละคนจะถูกประเมินโดยครูผู้ฝึกสอน รวมไปถึงผู้ถือหุ้น และประธานบริษัท ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่เด็กฝึกหัดเหล่านี้มักจะได้รับความกดดันและความเครียดเกินกว่าวัย
เมื่อเด็กฝึกหัดสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนดและทางค่ายเห็นว่ามีความเหมาะสม แต่ละคนจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ กระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อทำการเดบิวต์ (debut : การเปิดตัวสู่สาธารณชนครั้งแรกในฐานะของไอดอล) เพื่อทำการแสดงตามรายการเพลงและเดินสายในวงการบันเทิงได้อย่างเต็มตัว ด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกวางไว้ว่าไอดอลจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถโดดเด่นและมีพฤติกรรมที่ดี เป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้กับผู้คน การเดบิวต์แต่ละครั้งอาจเป็นการเปิดตัวเพียงคนเดียวหรือเปิดตัวในลักษณะกลุ่มก็ได้ หากรวมกลุ่มเป็นวงไอดอล สมาชิกแต่ละคนจะถูกจัดวางตำแหน่งให้เหมาะสมกับความสามารถที่โดดเด่น เช่น นักร้องหลัก นักเต้นหลัก แรปหลัก ที่เมื่อรวมตัวกันแล้วกลายเป็นวงไอดอลที่ครบเครื่องและมีการแสดงที่น่าประทับใจ
Lisa Blackpink ศิลปินสัญชาติไทยในวงไอดอลเกาหลี
ภาพถ่ายโดย IG: Cheru_u
ปัจจุบันมีวงไอดอลราว ๆ 3 ร้อยกว่าวง3 จำนวนสมาชิกขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมของค่ายเพลง สมาชิกในวงส่วนใหญ่จะเริ่มเดบิวต์ตั้งแต่อายุประมาณ 15 ปีขึ้นไป และทำงานไปเรื่อย ๆ จนสมาชิกในวงเริ่มมีอายุมากขึ้น (ประมาณ 30 ปี) จึงจะเริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทสายงานจากนักร้องไปเป็นนักแสดง หรือพิธีกรรายการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การมีผลงานเพลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสัญญาจ้างเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความนิยมของวงด้วย หากวงไม่ได้รับความนิยมมากพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุน ทางค่ายมีสิทธิที่จะเลือกไม่ทำเพลงออกมาอีก แม้ว่าไอดอลจะยังคงมีสัญญากับทางค่ายเพลงอยู่ก็ตาม มีไอดอลจำนวนไม่น้อยที่ได้รับโอกาสแสดงเพียงแค่ 1 เพลงเท่านั้น และอีกหลายวงที่ต้องถูกยุบวงไปเพราะได้รับความนิยมไม่เพียงพอ ทำให้จำนวนวงไอดอลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
(สามารถติดตามเรื่องราวต่อไปได้ใน EP.2)
อ้างอิง
พิมลพรรณ นิตย์นรา
พิมลพรรณ นิตย์นรา
กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
อมรา สุนทรธาดา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
อมรา สุนทรธาดา
ศุทธิดา ชวนวัน
กาญจนา เทียนลาย
กาญจนา เทียนลาย
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน
สุพัตรา สำอางค์ศรี
ศุทธิดา ชวนวัน
วรชัย ทองไทย