The Prachakorn

ทำไมโอปาและนูนาจึงไม่แต่งงาน


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

04 ธันวาคม 2563
1,199



แฟนคลับซีรีย์เกาหลีน่าจะรู้จักคำ “โอปา” ที่แปลว่า พี่ชาย (ผู้หญิงเรียก ซึ่งมักออกเสียงเป็น “โอปป้า”) และ “นูนา” ที่แปลว่า พี่สาว (ผู้ชายเรียก มักออกเสียงเป็น “นูน่า”) เป็นอย่างดี โดยทั่วไปซีรีย์เกาหลีมักสะท้อนเรื่องราวผ่านชีวิตของตัวละครที่มุ่งมั่นในอาชีพ ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน จนในบางครั้งมองข้ามชีวิตการแต่งงานและการสร้างครอบครัว ในชีวิตจริงของพระเอกและนางเอกคนดังหลายคนยังไม่ได้แต่งงาน แม้จะไม่ปฏิเสธความรักและกำลังมองหาคนที่ใช่ พวกเขาก็มีวัยใกล้ 40 ปีกันไปแล้วหลายคน การแต่งงานช้าหรือไม่แต่งงานของนักแสดงเกาหลีนั้นสะท้อนชีวิตจริงของประชากรทั่วไปที่พบว่า ในปี 2019 ประชากรสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ มีอายุโสดเฉลี่ยเมื่อแรกสมรส (singulate mean age at marriage) หรือ อายุเฉลี่ยของการแต่งงานครั้งแรกที่ 33.4 ปี สำหรับผู้ชาย และ 30.6 ปี สำหรับผู้หญิง1 ซึ่งอายุโสดเฉลี่ยเมื่อแรกสมรสนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ที่มา: Hyun Bin http://www.koreandrama.org/wp-content/uploads/2019/11/Crash-Landing-on-You-1.jpg
Son Ye-Jin https://www.asiaone.com/entertainment/miss-son-ye-jin-crash-landing-you-these-are-her-other-shows-check-out

แฟนคลับคงอยากรู้ว่าเพราะเหตุใดนักแสดงขวัญใจของพวกเขา (หรือคุณ) จึงไม่แต่งงาน เสียดายที่บทความนี้ไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักแสดงเกาหลี แต่คิดว่าน่าจะพอหาชมได้จากคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ต่าง ๆ ที่มักได้ยินพวกเขาตอบว่า “ไม่มีเวลาให้กับความสัมพันธ์” หรือ “มีความมุ่งมั่นที่จะสรรสร้างงานแสดงคุณภาพให้แก่แฟน ๆ จึงยังไม่คิดเรื่องแต่งงาน” ในฐานะนักประชากรศาสตร์จึงอยากรู้ว่า คำตอบของนักแสดงเหล่านี้จะเหมือนหรือแตกต่างไปจากประชากรหรือคนทั่วไปหรือไม่อย่างไร จึงได้ลองค้นหาคำตอบจากงานวิจัย และพบเหตุผลที่น่าสนใจว่า ทำไมโอปาและนูนา จึงไม่แต่งงาน ภายใต้บริบทของวัฒนธรรมเกาหลีใต้

คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้มีความนิยมที่จะไม่แต่งงานเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมีชื่อเรียกประชากรรุ่นอายุนี้ว่า “Sampo generation” ซัมโป (sampo) แปลว่า 3 ซึ่งหมายถึง การละทิ้งความสัมพันธ์ การแต่งงาน และการมีลูก ปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Satori generation” ซึ่งให้คุณค่ากับเพศ การแต่งงาน และการมีลูก ที่ต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ ในเกาหลีใต้มักใช้คำว่า “N-Po generation2” เพื่อเรียกกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์แบบเดียวกัน และหมายรวมไปถึงผู้ที่ไร้ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต 

ปี 2019 เกาหลีใต้มีประชากรจำนวน 51.8 ล้านคน และ อัตราเจริญพันธุ์รวม หรือ จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งให้กำเนิดตลอดวัยมีบุตรของตนต่ำที่สุดในโลกในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเหลือเพียง 0.98 คนเท่านั้น (ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมเท่ากับ 1.53 คน) รัฐบาลเกาหลีใต้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนานโยบายประชากรและครอบครัวอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2006 เพื่อเพิ่มอัตราเกิดแต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล3 
วัฒนธรรมเกาหลีใต้มีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่สังคมสมัยใหม่ที่ปรับเปลี่ยนเป็นปัจเจกนิยม คนใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี ค่านิยมที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลให้ ประชากรเกือบหนึ่งในสาม (28.7%) อาศัยอยู่คนเดียว และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและรูปแบบการอยู่อาศัยเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตจนทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ และการพัฒนาธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการแบบ “กินคนเดียว (Hon-bap)” “ดื่มคนเดียว (Hon-sul)”  และ “เล่น (ท่องเที่ยว ดูหนัง) คนเดียว (Hon-nol)” เช่น ร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ และ ร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งคล้ายๆ กับวัฒนธรรม “เบนโต (Bento)” ในญี่ปุ่น3

ที่มา: ปรับจาก https://www.canva.com/

นักวิชาการชาวต่างชาติ4 ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ทางสังคมที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ (gender equality) และ เสรีนิยมทางการตลาด (market liberalization) ซึ่งเป็นทิศทางของการพัฒนาประเทศที่ส่งผลต่อการแต่งงานและการมีบุตร สังคมเกาหลีใต้แบบสมัยใหม่มีผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาและทำงานเพิ่มมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม จำนวนผู้หญิงที่แต่งงานกลับมีน้อยลง ผู้หญิงเกาหลีใต้สมัยใหม่ต้องการอิสระและทำตามความฝัน พวกเธอกลัวที่จะต้องแลกความฝันกับการมีครอบครัวและการสูญเสียอิสรภาพ

วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ทำให้เกิดการแข่งขันสูง อีกทั้งเกาหลีใต้ยังขาดระบบประกันสังคม (social security system) ที่ครอบคลุมและเพียงพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว และมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน ความกดดันทางเศรษฐกิจนี้ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะเลื่อนอายุการแต่งงาน (รวมทั้งการมีลูก) ออกไป เพราะพวกเขาไม่ต้องการตกงาน เหตุผลอันเนื่องมาจากการทำงานและความก้าวหน้าในอาชีพทำให้อัตราการแต่งงานต่อประชากร 1,000 คนของเกาหลีใต้ลดลงจากประมาณ 9 คน ในปี 1970 เหลือเพียงประมาณ 5 คนเท่านั้นในปี 20173

วัฒนธรรมหัวหน้าครอบครัวที่เป็นผู้ชาย ทำให้ดูเหมือนว่าผู้หญิงอาจจะสูญเสียความก้าวหน้าในอาชีพการงานหากพวกเธอตั้งครรภ์ แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานสตรีที่ตั้งครรภ์ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงมีปัญหาอยู่ นอกจากนี้ หน้าที่ในการดูแลครอบครัวและลูกยังตกเป็นของผู้หญิงแทบทั้งหมด การสำรวจทางสถิติพบว่า ผู้หญิงใช้เวลา 129 นาทีต่อวันในการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างซึ่งรวมถึงงานบ้าน ในขณะที่ผู้ชายใช้เวลาเพียง 17 นาทีต่อวันเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเวลาที่แตกต่างกันถึงกว่า 7 เท่า 

บทบาทชายหญิงที่แตกต่างกันอย่างมากในสังคมที่ผู้ชายเป็นผู้นำอย่างเกาหลีใต้ ผู้หญิงจึงถูกคาดหวังให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลบ้านและลูก ยิ่งไปกว่านั้น ความกดดันผ่านสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่สนับสนุนการสร้างครอบครัว ทำให้ผู้หญิงเลือกที่จะไม่แต่งงาน เพราะพวกเธอไม่ต้องการสูญเสียอิสรภาพความก้าวหน้าในอาชีพ และความฝันที่พวกเธอตั้งใจจะทำให้สำเร็จ 

... และเมื่อผู้หญิงไม่แต่งงาน..ผู้ชายจะแต่งงานกับใครล่ะ


อ้างอิง

  1. Statistics Korea, Marriage and Divorce Statistics in 2019. 2020, Statistics Korea: Daejeon, Republic of Korea.
  2. Moon, G. The young Koreans pushing back on a culture of endurance. 2020  [cited 2020 December 2]; Available from: https://www.bbc.com/worklife/article/20200108-the-young-koreans-pushing-back-on-a-culture-of-endurance.
  3. Seo, S.H., Low fertility trend in the Republic of Korea and the problems of its family and demographic policy implementation. Population and Economics, 2019. 3(3): p. 29–35.
  4. McDonald, P., Gender Equity in Theories of Fertility Transition. Population and Development Review, 2004. 26(3): p. 427-439.


CONTRIBUTOR

Related Posts
สามีฝรั่งคือปลายทาง

ดุสิตา พึ่งสำราญ

พิธีและพิธีกรรม

วรชัย ทองไทย

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th