"I CARE A LOT” เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนระบบบริหารจัดการทรัพย์สินของประชาชนในสหรัฐอเมริกา เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่แพทย์ระบุว่าไม่สามารถดูแลตนเองได้ และ ไม่มีคู่สมรสหรือญาติดูแล ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องมีบุคคลอื่นมาดูแลแทน บุคคลที่ทำหน้าที่นี้เรียกว่า “legal guardian”
คุณเคยลองคิดไหมว่า หากคุณกลายเป็นผู้สูงอายุที่ตรวจพบความเสื่อมถอยของสมอง อย่างที่เรารู้จักกันว่า “ภาวะสมองเสื่อม” และกำลังจะไม่สามารถตัดสินใจหรือทำธุรกรรมได้ด้วยตนเอง คุณจะให้ใครเป็นคนดูแลบริหารจัดการทรัพย์สิน แม้จะไม่ได้เป็นมหาเศรษฐี เพียงแค่คุณต้องการนำเงินในบัญชีออกมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตัวเอง แต่หากร่างกายของคุณทำหน้าที่ได้ไม่เหมือนเดิม จนคุณไม่สามารถลงนามในเอกสารได้...คุณจะทำอย่างไร ท่านที่มีคู่สมรสหรือลูกคงตัดสินใจไม่ยาก เพราะพวกเขายินดีที่จะดูแลคุณ และดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยร้องขอต่อศาลให้แต่งตั้งเป็นผู้บริบาล เพื่อดำเนินการทำธุรกรรมให้คุณได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างซื่อตรง แต่หากคุณไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก คุณคิดว่าใครกันที่คุณจะวางใจให้ทำธุรกรรมเหล่านั้น และจะดีไหมที่จะมี legal guardian คอยช่วยเหลือ
ที่มา: https://www.showtimes.com/movies/i-care-a-lot-151734/movie-poster/
© 2020 Amazon Prime Video
หากให้ลองเปรียบ legal guardian ในภาพยนตร์เรื่อง I CARE A LOT กับบริบทของประเทศไทยน่าจะตรงกับ “ผู้พิทักษ์สิทธิ” ซึ่งหมายถึง “บุคคลที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งศาล ให้เป็นผู้ช่วยเหลือและควบคุมดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถและเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนบุคคลเสมือนไร้ความสามารถในการทำนิติกรรมบางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 34” ผู้พิทักษ์สิทธิในประเทศไทยนั้นจึงทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุตามสมควรแก่ฐานะ
Marla Grayson ตัวละครในเรื่องได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็น legal guardian ของผู้สูงอายุที่แพทย์วินิจฉัยว่า กำลังมีภาวะสมองเสื่อม และคาดว่าจำเป็นจะต้องมีผู้ดูแลในไม่ช้านี้ Marla จึงมีสิทธิที่จะบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุได้ทุกอย่าง ภาพลักษณ์ของ Marla เป็นบุคคลผู้เสียสละ จัดหาศูนย์พักพิง (long-term care) ที่มีคุณภาพ บริการที่อบอุ่นและแสนสะดวกสบายให้แก่ผู้สูงอายุ แน่นอนว่าบริการคุณภาพย่อมมีค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุจะต้องจ่ายด้วยทรัพย์สินที่สะสมไว้ กำไรจากการบริการซึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานของ Marla และพนักงานทุกคน มาจากการบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ เมื่ออ่านถึงตรงนี้ก็ฟังดูสมเหตุสมผลสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) แต่ที่น่าสนใจคือ legal guardian ผู้นี้จะคัดเลือกผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สมบัติมั่งคั่งและมีมูลค่ามากเกินพอสำหรับค่าใช้จ่ายจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต Marla สร้างความบอบช้ำให้ผู้สูงอายุและครอบครัวไว้มาก แต่เรื่องราวจะจบอย่างไร ผู้อ่านคงต้องหาชมกันเองนะคะ
ที่มา: https://www.showtimes.com/movies/i-care-a-lot-151734/photos/1
© 2020 Amazon Prime Video
เรื่องเล่าผ่านตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้นึกถึงงานวิจัยที่ผู้เขียนศึกษาไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว การค้นหากรณีศึกษาและสัมภาษณ์ผู้สูงอายุเกี่ยวกับประวัติชีวิตของท่าน ตลอดจนสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ระลึกถึงสุภาพสตรีสูงอายุหลายท่านที่ไม่มีลูกหรือไม่ได้อยู่ด้วยกันกับลูก เมื่อสูญเสียสามีไปแล้วทำให้ขาดคู่ชีวิตที่จะดำเนินกิจการหรือธุรกิจ ถูกเอารัดเอาเปรียบจนต้องล้มเลิกกิจการไป ผู้สูงอายุที่ขาดประสบการณ์และไม่มีความรู้ในการทำนิติกรรมหรือธุรกรรมจึงถูกฉ้อโกงจนสูญเสียทรัพย์จำนวนมาก ผู้สูงอายุที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีลูก ไม่มีญาติ จึงไม่มีทางเลือก ต้องยอมให้คนรู้จักที่ไม่ใช่ญาติเบิกถอนเงินผ่านเอทีเอ็มอย่างง่ายดายเพื่อนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ด้วยความเกรงใจจึงไม่กล้าเอ่ยปากขอดูใบบันทึกรายการ (สลิป) เพราะกลัวเขาจะโกรธและไม่มาช่วยเหลืออีก ผู้สูงอายุบางท่านมีบ้านและที่ดินแต่ไม่สามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อเป็นค่ารักษาและค่าใช้จ่ายประจำวันได้ จึงต้องกลายเป็นผู้ป่วยรอรับการสงเคราะห์ ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมถูกหลอกให้เซ็นเอกสารไปถอนเงินและกู้เงินจากธนาคาร ทำให้สูญเสียทรัพย์สินที่สะสมมาทั้งชีวิตเพื่อดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยปลายนี้ สถานการณ์ชีวิตของผู้สูงอายุในภาพยนตร์สะท้อนชีวิตจริงของผู้สูงอายุไทย ผู้สูงอายุที่มีทรัพย์สิน แต่ไม่มีผู้บริหารจัดการเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีให้อย่างเหมาะสม จึงอาจตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพได้ แม้ระบบพิทักษ์คุ้มครองสิทธิ (guardianship) อาจเป็นทางออกให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีญาติ ที่ดำเนินการในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา1 และ อังกฤษ2 แต่ก็ยังไม่อาจวางใจได้ว่า พวกเขาจะดูแลผลประโยชน์ให้อย่างดีที่สุดและไม่เอารัดเอาเปรียบผู้สูงอายุ
ช่วงระหว่างการดำเนินโครงการวิจัยทำให้ได้พบสุภาพบุรุษสูงอายุท่านหนึ่ง ท่านเล่าว่าได้วางแผนจะมีบุตรบุญธรรม เพื่อหวังให้เขาหรือเธอมาดูแลท่านและจัดการทรัพย์สินให้เมื่อจำเป็น ผู้เขียนจึงได้ถามท่านด้วยความสงสัยว่า “ท่านจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เขาหรือเธอจะดูแลท่าน และไม่ฉ้อโกงเอาประโยชน์จากทรัพย์สิน?” สุภาพบุรุษท่านนี้ตอบว่า “ไม่รู้หรอก ตอนที่ยังดีๆ ก็ได้แต่ทำดีต่อกัน และหวังว่าเขาจะดูแลเราให้ดีเป็นการตอบแทน” นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับใครหลายคน ความกตัญญูซึ่งเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานจะช่วยดูแลเรา เหมือนกับที่เราช่วยดูแลเขา
อย่างไรก็ตาม โครงการอนาคตประเทศไทย (Future Thailand) คาดประมาณไว้ว่าผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวในประเทศไทยกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 12 ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ในปี 25833 พวกเขา (หรืออาจจะเป็นเราในอนาคต) มีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิหรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลรอบข้าง ในฐานะนักวิจัย และ (คาดว่าจะได้เป็น) ผู้สูงวัยในอนาคตจึงหวังให้ประเทศไทยพัฒนากลไกทางสังคมเพื่อให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ติดตามอ่านเรื่องราวประวัติชีวิตของผู้สูงอายุได้ในหนังสือ เมื่อไรและใครควรพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ ได้ที่
Download | หนังสือ เมื่อไรและใครควรพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ
อ้างอิง
1 Jameson, J. Matt, Tim Riesen, Shamby Polychronis, Barbara Trader, Susan Mizner, Jonathan Martinis, and Dohn Hoyle. "Guardianship and the Potential of Supported Decision Making with Individuals with Disabilities." Research and Practice for Persons with Severe Disabilities 40, no. 1 (2015): 36-51.
2 Langan, J., & Means, R. (1996). Financial Management and Elderly People with Dementia in the U.K.: As Much a Question of Confusion as Abuse? Ageing and Society, 16(3), 287-314. doi:10.1017/S0144686X00003433
3 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2564). โครงการวิจัยประเทศไทยในอนาคต Future Thailand: มิติที่ 1 ประชากรและโครงสร้างสังคมประเทศไทยในอนาคต.
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
กาญจนา เทียนลาย
กาญจนา เทียนลาย
ศุทธิดา ชวนวัน
กาญจนา เทียนลาย
วรชัย ทองไทย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุพัตรา ฌานประภัสร์
กาญจนา เทียนลาย
เพ็ญพิมล คงมนต์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล