ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความ "60...ใช่ว่าต้องหยุดทำงาน" เพื่อกระตุกความคิดว่า ที่อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นขวบปีของการกลายเป็นผู้สูงอายุ ตามนิยามของสังคมและความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบัน ไม่น่าจะใช่อายุที่คนไทยจำเป็นต้องเกษียณอายุ หยุดทำงาน หรือออกจากกำลังแรงงาน ด้วยเหตุผลเพียงว่ากลายเป็นผู้สูงวัยแล้วเท่านั้น
การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน หรือมีงานทำที่ยาวนานขึ้น ได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานในการสร้างประโยชน์ สร้างรายได้ ให้ทั้งต่อตัวเอง ต่อครอบครัว รวมถึงสังคมภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน นับเป็นมาตรการที่สำคัญและควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมในไทย ก็ใช่ว่าจะไม่ตระหนัก และต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้มีการดำเนินโครงการ หรือมาตรการ รวมถึงนโยบายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการมีงานทำของผู้สูงอายุเพื่อขยายระยะเวลาการอยู่ในกำลังแรงงานของประชากรไทยในช่วงวัยสูงอายุให้ยาวนานขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตหนึ่งว่า ที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ดูเหมือนเรายังขาดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ในที่นี้ ผู้สูงอายุที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีงานทำหรือทำงานยาวนานขึ้นนั้น ควรเป็นกลุ่มไหน รวมถึงยังขาดการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลดูว่า ผลของโครงการ มาตรการ และนโยบายต่าง ๆ เหล่านั้น สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ควรเป็นได้มากน้อยเพียงใด
เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ (สิ้นปี 2563) ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านอาจารย์ปราโมทย์ ประสาทกุล ซึ่งอาจารย์ได้หยิบยกประเด็นสถานการณ์และงานวิจัยทางด้านผู้สูงอายุของไทยขึ้นมาพูดคุย และให้มุมมองความคิดเห็นที่น่าสนใจในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น เป็นเรื่องการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุที่เราเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยน่าจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการทำงานในเรื่องนี้ที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่
ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่อาจจะเป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการจุดประเด็นให้เราได้มีโอกาสคิดและอาจได้นำไปสู่การพิจารณากำหนดเป้าหมายการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคตต่อไป
เกี่ยวกับสถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุไทย เราพบว่า ในปี 2562 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 34.5) ที่ยังคงเป็น "ผู้มีงานทำ" และเมื่อจำแนกดูเป็นรายกลุ่มอายุ จะพบว่า สัดส่วนดังกล่าวนี้ยังคงค่อนข้างสูงในช่วงอายุ 60 - 64 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 55 และลดลงเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุ 60 - 64 ปี1) กลุ่มนี้นี่เองที่ผู้เขียนคิดว่า เราน่าจะกำหนดให้เป็น “ประชากรกลุ่มเป้าหมาย” ในการดำเนินมาตรการและนโยบายในการส่งเสริมการมีงานทำ เพื่อขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุไทย (อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ให้ละทิ้งความสำคัญกับแรงงานสูงอายุ 65 ปีขึ้นไปแต่อย่างใด)
รูป 1 สถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุ 60-64 ปี (ทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน) และเหตุผลของผู้ที่ไม่ทำงาน
ที่มา ประมวลโดยผู้เขียน จากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) สำนักงานสถิติแห่งชาติ
เหตุผลสนับสนุนความคิดดังกล่าว มาจากข้อเท็จจริงปัจจุบันที่ผู้สูงอายุในช่วงวัยนี้ (60-64 ปี) จำนวนมากยังเป็นกลุ่มที่มีพลัง มีสุขภาพดีและมีความพร้อมในการทำงาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่หลายคนกลับหยุดทำงาน เลิกทำงาน หรือต้องออกจากกำลังแรงงานด้วยเหตุผลการหมดสัญญาจ้าง เกณฑ์การเกษียณอายุการทำงานของภาครัฐ หรือแม้แต่จากปัจจัยมโนทัศน์ทางสังคมที่มักทำให้คนคิดว่าอายุ 60 ปี เป็นวัยที่ควรพักผ่อนหรือหยุดทำงานได้แล้ว จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) เลือกมาเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ 60-64 ปี ที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งมีประมาณร้อยละ 45 ของประชากรในกลุ่มอายุนี้ทั้งหมด เกี่ยวกับเหตุผลในการที่ไม่ได้ทำงาน พบว่า มากกว่าครึ่ง ให้เหตุผลว่าเพราะ "ชรา" และ "เกษียณอายุ/ต้องการพักผ่อน" (ร้อยละ 37.6 และ 20.2 ตามลำดับ) โดยมีเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้น ที่มาจากสาเหตุข้อจำกัด "การป่วยหรือพิการจนทำงานไม่ได้" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาความพิการเป็นอุปสรรคในการทำงานของผู้สูงอายุ 60-64 ปี เพียงจำนวนไม่มาก แต่เหตุผลที่ต้องหยุดทำงาน หรือเลือกที่จะหยุดทำงานนั้น มาจากสาเหตุอื่นเสียมากกว่า ซึ่งหากเราสามารถไปปลดล็อคหรือเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องได้ ทั้งในเรื่องที่เป็นเชิงระบบ (เช่น เกณฑ์กำหนดอายุเกษียณของภาครัฐ หรือกำหนดการหมดสัญญาจ้างในภาคเอกชน) และในเรื่องที่เป็นมุมมองทางสังคม (เช่น มุมมองในเรื่องความชรา และทัศนคติต่อการทำงานหลังอายุ 60 ปี ขึ้นไป) ก็น่าที่จะสามารถช่วยขยายอายุการทำงานและส่งเสริมการมีงานทำของประชากรในช่วงอายุ 60-64 ปี ได้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเมื่อประชากรในช่วงอายุนี้มีการทำงานเพิ่มมากขึ้น ภาพรวมการทำงานของผู้สูงอายุ60 ปีขึ้นไปทั้งหมดก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งในปัจจุบันและระยะยาว
คำถามถัดมา หากเราเลือกที่จะกำหนดกลุ่มผู้สูงอายุ 60-64 ปี เป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายหลักของการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุแล้ว ตัวชี้วัดและเป้าหมายเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินความสำเร็จน่าจะเป็นอะไร และควรเป็นเท่าใด
ในข้อนี้ ผู้เขียนคิดว่า เราสามารถใช้ "ร้อยละของผู้มีงานทำในกลุ่มประชากรอายุ 60-64 ปี" เป็นตัวชี้วัดได้ จากข้อมูลในปี 2562 สัดส่วนนี้อยู่ที่ร้อยละ 55 ซึ่งเราอาจจะลองตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ของมาตรการและนโยบายในการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ เป็นให้สามารถเพิ่มสัดส่วนผู้มีงานทำในกลุ่มอายุ 60-64 นี้ สูงขึ้นเป็นร้อยละ 60 ให้ได้ (โดยอาจจะกำหนดเป็นเป้าหมายของแผน 3 หรือ 5 หรือ 10 ปี ก็แล้วแต่ความเหมาะสมซึ่งต้องพิจารณากันในรายละเอียด) ซึ่งหากกำหนดตามนี้ ในภาพรวมเราก็จะทราบว่า จะต้องเพิ่มสัดส่วนผู้มีงานทำในกลุ่มอายุ 60 - 64 ปี ให้ได้อย่างน้อย “ร้อยละ 5” (จากร้อยละ 55 เป็น 60) ซึ่งจากข้อมูลการคาดประมาณจำนวนประชากรของประเทศไทย2) เรามีประชากรอายุ 60 - 64 ปี รวมทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านคนหมายความว่า จำนวนผู้ที่มีงานทำอายุ 60-64 ปี ณ ปัจจุบัน ก็จะมีประมาณ 2.2 ล้านคน (หรือ ที่สัดส่วนร้อยละ 55) หากเราต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้มีงานทำในประชากรกลุ่มอายุนี้อีกร้อยละ 5 ก็หมายความว่า ต้องเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน หรือมีงานทำให้ได้อีกอย่างน้อย “ประมาณ 200,000 คน” (ร้อยละ 5 ของ 4 ล้านคน) นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนคิดว่า หากเรามีตัวเลขเป้าหมายที่ชัดเจนเช่นนี้ จะทำให้การวางแผนการทำงาน การกำหนดมาตรการ และการกำหนดเป้าหมายการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 200,000 คนนี้ ยังคงเป็นเพียงตัวเลขเป้าหมายภาพรวมกลม ๆ ที่เราน่าจะต้องคิดกันต่อไปว่า จะกระจายเป้าหมายจำนวนนี้อย่างไรตามลักษณะของผู้สูงอายุเพื่อให้มีความเฉพาะเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ผู้เขียนเสนอว่า (สำหรับการคิดเร็วๆ ในบทความนี้) เราสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันมาพิจารณา (เช่น เพศของผู้ที่ยังคงทำงาน เขตที่อยู่อาศัย (เมืองและชนบท) ภูมิภาคต่าง ๆ ภาคเศรษฐกิจของการทำงาน และสถานภาพการทำงานที่เป็นอยู่ในลักษณะต่าง ๆ) และใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นเพื่อลองคำนวณดูว่า กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มจำนวนการมีงานทำให้ได้ 200,000 คนนั้น ควรมีการกระจายอย่างไร โดยดูจากสัดส่วนของผู้มีงานทำที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
ลักษณะของผู้มีงานทำ (อายุ 60-64 ปี) |
% ของผู้มีงานทำ (อายุ 60-64) ปี 2562* |
จำนวนผู้สูงอายุที่เป็นเป้าหมาย ในการส่งเสริมให้มีงานทำ (รวม 200,000 คน) |
---|---|---|
เพศ | ||
ชาย | 56.6% | 113,200 |
หญิง | 43.4% | 86,800 |
เขตที่อยู่ | ||
เมือง | 35.4% | 70,800 |
ชนบท | 64.6% | 129,200 |
ภูมิภาค | ||
กทม. | 6.3% | 12,600 |
กลาง | 22.9% | 45,800 |
เหนือ | 23.8% | 47,600 |
อีสาน | 35.1% | 70,200 |
ใต้ | 11.9% | 23,800 |
ภาคเศรษฐกิจ | ||
เกษตร | 59.4% | 118,800 |
การผลิต | 7.0% | 14,000 |
การบริการและการค้า | 33.6% | 67,200 |
สถานภาพในการทำงาน | ||
นายจ้าง | 3.3% | 6,600 |
ประกอบธุรกิจส่วนตัวไม่มีลูกจ้าง | 58.7% | 117,400 |
ช่วยธุรกิจครัวเรือนไม่ได้รับค่าจ้าง | 20.9% | 41,800 |
ลูกจ้างภาครัฐ | 3.5% | 7,000 |
ลูกจ้างภาคเอกชน | 10.6% | 21,200 |
อื่นๆ | 2.9% | 5,800 |
รวม | 100% | 200,000 |
ที่มา *ประมวลโดยผู้เขียน จากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ผู้เขียนลองคำนวณเล่น ๆ ตามหลักคิดข้างต้นโดยใช้ข้อมูลสัดส่วนของผู้มีงานทำอายุ 60 - 64 ปี ในปี 2562 ที่จำแนกตาม คุณลักษณะในด้านต่าง ๆ และลองกระจายเป็นจำนวนผู้สูงอายุ 60-64 ปีที่อาจกำหนดใช้เป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการทำงานเพิ่มขึ้น (รวมจำนวน 200,000 คน) ดังแสดงในตารางด้านบน ซึ่งก็พอจะทำให้สามารถใช้เห็นเป้าหมายที่มีทิศทางชัดเจนมากขึ้นว่า ในเป้าหมาย 200,000 คน อาจจะกระจายเป็นเป้าหมายจำแนกตามเพศชายและเพศหญิงประมาณกี่คน ในพื้นที่เขตเมืองและเขตชนบท และในแต่ละภูมิภาค เป้าหมายควรเป็นประมาณกี่คน หรือหากกระจายตามภาคเศรษฐกิจ เป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้มีงานทำอายุ 60-64 ปี ในภาคเกษตร ภาคการผลิต ภาคการบริการและการค้า ควรเป็นประมาณกี่คน หรืออาจตั้งเป็นเป้าหมายที่ลงลึกไปในแต่ละสถานภาพการทำงานได้ว่า ต้องเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำในแต่ละสถานภาพการทำงานสักกี่คน เช่น จากตารางที่ 1 อาจจะตั้งเป็นเป้าหมายในการเพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ 60-64 ปี ในภาครัฐให้ได้อย่างน้อย 7,000 คน ในภาคเอกชนอย่างน้อยประมาณ 21,000 คน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่แสดงในตารางที่ 1 เป็นเพียงตัวเลขที่ผู้เขียนลองคำนวณทำเป็นตุ๊กตาเท่านั้น ซึ่งอ้างอิงจากสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน แต่ในอนาคต เราอาจจะกำหนดเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสในการจ้างงาน เป็นแรงงานในระบบ ทั้งในภาครัฐหรือภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของการส่งเสริมการทำงานในลักษณะลูกจ้างภาครัฐและลูกจ้างเอกชน ก็อาจกำหนดให้สูงกว่าที่คำนวณได้จากในตารางที่ 1 ก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
นิธิพัฒน์ ประสาทกุล
ณปภัช สัจนวกุล
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์
รศรินทร์ เกรย์
อริสรา ปรีเปรมใจ
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์
อมรา สุนทรธาดา
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
บุรเทพ โชคธนานุกูล
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา
กัญญา อภิพรชัยสกุล
เพ็ญพิมล คงมนต์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
อมรา สุนทรธาดา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อารี จำปากลาย
พิมลพรรณ นิตย์นรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์