ในการ์ตูน Dragon Ball เราใกล้ชิดและผูกพันกับตัวละครเอก โกคู ตั้งแต่เป็นเด็กกำพร้าจนกระทั่งเติบใหญ่มีครอบครัวจนถึงเป็นคุณปู่ในตอนท้ายสุด ตามโครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่นก็คงนับว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ครอบครัวหนึ่ง แต่หากพิจารณาตามประสาคนคิดมากอย่างผู้เขียน ก็ยังสงสัยว่าเขาได้ทำหน้าที่ “ผู้นำครอบครัว” ได้ดีเพียงพอหรือยัง (บทความนี้อ้างอิงถึงเนื้อหาที่สิ้นสุดใน Dragon Ball Z เท่านั้น)
โครงสร้างของครอบครัวในสังคมญี่ปุ่นหรือจะสังคมไหน ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือผู้ชายเป็นใหญ่ในฐานะ “ผู้นำครอบครัว” มาตั้งแต่เริ่มต้น ในสังคมญี่ปุ่นยุคเก่าครอบครัวมีธรรมเนียมการสืบทอดโดยผู้ชายซึ่งไม่ค่อยมีความผูกพันทางอารมณ์มากนัก (ดุสิต, 2536) เนื่องจากผู้ชายต้องออกไปทำสงครามหรือไม่ก็ทำงาน แต่เขาจะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว ดูแลและหาทรัพย์สิน จึงทำหน้าที่เสมือนผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลและต้องรับผิดชอบครอบครัว ผู้นำครอบครัวจึงได้อภิสิทธิ์บางอย่างเหนือผู้อื่นในครอบครัว ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กินข้าวก่อนคนแรก ตำแหน่งการนั่งบนโต๊ะอาหาร ได้แช่น้ำก่อนคนแรก มีอำนาจเด็ดขาดในการอนุญาตหรือไล่สมาชิกคนใดคนหนึ่งให้อยู่หรือออกจากบ้าน ขณะที่ภรรยาอยู่ในฐานะต่ำสุดในบ้าน ทำงานทุกอย่างภายในบ้าน ตื่นนอนก่อน ทำอาหาร ต้มน้ำอาบ แต่ได้อาบหลังสุด
ตำแหน่งผู้นำครอบครัวจะส่งผ่านไปยังลูกชายคนโต เมื่อแต่งงานจะยังได้สิทธิ์อยู่ในบ้านของพ่อแม่เพื่อสืบสายครอบครัวโดยตรง ลูกชายคนอื่นจะแยกไปสร้างครอบครัวของตนเองเป็นครอบครัวสาขา ธรรมเนียมนี้ยังคงดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่น แม้จะไม่เคร่งครัดเหมือนก่อนก็ตาม ยุคเกษตรกรรมในอดีต สิทธิ์สำหรับลูกชายคนโตเป็นที่น่าอิจฉาในหมู่พี่น้อง เพราะจะได้ครอบครองที่ดิน บ้าน และอำนาจการปกครองของครอบครัว มีสิทธิ์ที่จะขับไล่สมาชิกออกจากครอบครัว ในยุคปัจจุบันก็ยังคงธรรมเนียมให้ลูกชายคนโตสืบทอดกิจการของครอบครัว จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลง สิทธิ์ของลูกชายคนโตที่ต้องสืบทอดตำแหน่งผู้นำครอบครัวเริ่มไม่น่าอิจฉาเหมือนเดิม เพราะต้องแบกรับภาระทุกอย่างไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะนั่นหมายถึงการทำลายครอบครัว ขณะที่พี่น้องคนอื่น ๆ แยกตัวออกไปเรียนต่อหรือทำงานได้อย่างอิสระ
จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของ “ผู้นำครอบครัว” ในสังคมญี่ปุ่น ต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลไม่ว่าจะเป็นการสานต่อกิจการ การดูแลทุกข์สุขของสมาชิก หาเงินเข้าบ้าน รักษาตระกูลให้มั่นคง ยิ่งในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมถูกคลายเกลียวไปมาก คนญี่ปุ่นสร้างครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ถอยหากจากครอบครัวหลัก หรือกระทั่งเกิดพฤติกรรมการอยู่ลำพัง สถิติการแต่งงานของชาวญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก ผลก็คือสายป่านของครอบครัวถูกตัดขาด
ตัวละครเอกในเรื่องที่สร้างครอบครัวอย่างจริงจังคือ โกคู และ เบจิต้า ซึ่ง อ.โทริยาม่า อากิระ ผู้เขียน ผสมผสานธรรมเนียมของครอบครัวญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ
โกคูแต่งงานสร้างครอบครัวกับ จีจี้ ทั้งสองมีลูกชาย 2 คน หลานสาว 1 คน คือ โกฮัง โกเท็น และ ปัง ตามลำดับ (หากนับภาคพิเศษก็จะรวม โกคูจูเนียร์ โหลนที่เกิดจากปัง) ส่วนเบจิต้าสร้างครอบครัวกับ บลูม่า มีลูกชายและลูกสาวอย่างละ 1 คน คือ ทรังคซ์ และ บูร่า สองครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวกันดี แม้ว่าผู้นำครอบครัวจะเคยเป็นอริต่อกันก็ตาม
ในสถานะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าทั้งโกคูและเบจิต้า อยู่ในฐานะผู้นำครอบครัวรุ่นที่หนึ่ง หรือหากจะนับเป็นครอบครัวสายตรงก็ได้เช่นกัน เพราะต่างเป็นลูกชายคนโต ทั้งคู่สร้างครอบครัวของตนเองขึ้นมาหลังจากที่ครอบครัวถูกสังหาร รวมถึงกระทั่งเผ่าพันธุ์ไซย่าทั้งหมดที่ถูกกวาดล้าง จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากการเป็นผู้นำครอบครัวของตัวเองแล้ว ทั้งสองยังเป็นสองคนสุดท้ายของเผ่าพันธุ์ที่เป็นสายเลือดโดยตรงของเผ่าไซย่า หรือเป็นผู้นำครอบครัวไซย่ารุ่นใหม่
ทีนี้ลองมาดูกันว่าทั้งสองทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวตามอุดมคติได้ดีเพียงใด
ครอบครัวโกคู
ที่มา https://images6.fanpop.com/image/photos/34900000/Son-Family-dragon-ball-females-34990459-720-522.jpg
สิ่งแรกที่เห็นชัดเจนที่สุดคือทั้งคู่ไม่ได้ทำงานทำการอะไรนอกจากต่อสู้ รายได้ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่มาจุนเจือครอบครัวคือเงินรางวัลจากการต่อสู้ในศึกชิงเจ้ายุทธภพ ฝั่งโกคูนั้นลำบากหน่อยเพราะเท่าที่ดูรายได้อย่างเดียวที่มีมาจากรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน (รองชนะเลิศสองครั้งในวัยเด็ก และชนะเลิศหนึ่งครั้งในวัยผู้ใหญ่) ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็แต่งงานอยู่กินกับจีจี้จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อโกฮังขออนุญาตจีจี้ลงแข่งขัน เธอรีบอนุญาตทันทีเมื่อรู้ว่าเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึงสิบล้าน “ลงแข่งเลยลูก เหมือนฟ้ามาโปรด สมบัติของพ่อใกล้จะหมดลงทุกที แม่กำลังคิดอยู่เลยว่าจะทำยังไงดี” (อนิเมะ Dragon Ball, ตอนที่ 205) ถึงตรงนี้ต้องชื่นชมความสามารถของจีจี้ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว ระยะเวลาสิบกว่าปี เธอสามารถประคับประคองครอบครัวด้วยรายได้อันจำกัดได้อย่างน่าทึ่ง
ครอบครัวเบจิต้า
ที่มา https://comicbook.com/anime/news/dragon-ball-super-vegeta-family-man-fan-reactions
ขณะที่ฝั่งเบจิต้าดูจะสบายมากกว่าเข้าทำนองตกถังข้าวสาร เมื่อเขาใช้ชีวิตคู่กับบลูม่า ทายาทมหาเศรษฐีนักประดิษฐ์เจ้าของ แคปซูล คอร์ปอเรชั่น เบจิต้าไม่ต้องกังวลเรื่องทำมาหากิน วัน ๆ เอาแต่ฝึกฝนวิชา (เพื่ออะไรก็ไม่รู้) ในอนิเมะตอนที่ 205 บลูม่าบ่นกับโกฮังเรื่องนี้ว่า “หมอนี่ไม่รู้จักทำงานเเหมือนพ่อเธอเลย ชาวไซย่ารู้จักทำงานกันบ้างรึเปล่านะ" แต่เธอก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะมีอันจะกินไปทั้งชาติอยู่แล้ว
เรื่องการดูแลครอบครัวไปจนถึงการอบรมสั่งสอนลูกยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อผู้นำครอบครัวเอาแต่ต่อสู้อาจเพราะนั่นคือสิ่งที่ทั้งคู่ทำได้ดีที่สุดแล้วในชีวิต ภาระทั้งหมดจึงตกไปอยู่กับภรรยา นอกจากงานในฐานะแม่บ้านแล้ว จีจี้และบลูม่ายังต้องทำหน้าที่ประคับประคองครอบครัวแทนผู้นำครอบครัวที่ไม่ทำอะไร จีจี้นั้นงานหนักกว่าแยะ ตามเนื้อเรื่องเราก็ไม่ได้เห็นว่าเธอทำงานทำการอะไรเช่นกัน รายได้จึงน่าจะมาจากมรดกของพ่อ (ปีศาจวัว) และเงินที่โกคูทิ้งไว้ให้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจีจี้จึงพยายามปลูกฝังให้โกฮังทุ่มเทกับการเรียน เพื่อจะได้มีการงานทำเป็นเรื่องเป็นราว ใช้ชีวิตแบบปุถุชนทั่วไป เช่นเดียวกับบลูม่า ที่แม้จะรู้ดีว่าในอนาคต ลูกชายจะกลายเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ขณะเมื่อโลกสงบสุข ชีวิตก็ต้องดำเนินไปด้วยการทำงานทำการเหมือนคนอื่น ในภาคท้าย ๆ เราจึงเห็นทรังคซ์ในมาดผู้บริหารบริษัทใหญ่
ตรงข้ามกับผู้นำครอบครัวที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น โกคูอาจจะพออ้างได้ว่าเพราะเขาเสียชีวิตไปแล้ว จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในอีกภพหนึ่ง กับโกฮังเราพอจะเห็นความผูกพันระหว่างพ่อลูกใน Dragon Ball Z ตอนต้น ๆ กับโกเท็นเราก็ยังเห็นส่วนที่อ่อนโยนและการแสดงความรักแบบไม่ขัดเขินของโกคูในตอนที่ได้พบกันเป็นครั้งแรก สวนทางเบจิต้าที่แสดงความรักไม่เป็นเอาเสียเลย เขาไม่เคยกอดลูกชายจนกระทั่งตอนใกล้จะตาย เข้าทำนองรักนะแต่ไม่แสดงออก ตรงนี้โกคูทำได้ดีกว่าด้านการแสดงความรักต่อครอบครัว ด้วยคาแร็คเตอร์ที่ถูกวางไว้ให้เป็นคนซื่อ ๆ ตรงข้ามกับเบจิต้าที่หยิ่งทะนงและไม่เคยแคร์ความรู้สึกของคนอื่น
เรามักจะได้ยินคำแนะนำทำนองที่ว่า “ทำในสิ่งที่รักไปให้สุด ๆ เลย” แต่เราลืมบอกไปหรือเปล่าว่าโลกความจริงมันไม่ได้เป็นจริงในทุกสิ่งที่เราหวัง สิ่งที่เรารักอาจไม่สามารถค้ำชูชีวิต เราอาจต้องเลือกสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่าสิ่งที่รักด้วยซ้ำ ทั้งโกคูและเบจิต้าเลือกในสิ่งที่เขาถนัดโดยมองข้ามภาระหน้าที่หรือทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ คนหนึ่งรักการต่อสู้ มีความสุขกับการได้ประลองกับคนเก่ง ๆ อีกคนก็มุ่งมั่นเฉพาะเรื่องของตัวเองกับการฟื้นฟูเผ่าพันธุ์ เราสรุปได้ไหมว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าเรื่องอื่น จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และแบบนี้เราโทษพวกเขาได้ไหมว่าเขาสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าครอบครัว จนกลายเป็นว่าผู้นำครอบครัวที่แท้จริงคือ จีจี้ และ บลูม่า
อีกตัวละครที่เป็นข้อเปรียบเทียบและพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำในสิ่งที่รักควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้คือ คุริริน หลังโลกสงบสุขเขาอยู่กินสร้างครอบครัวกับ หมายเลข 18 ประกอบอาชีพเป็นตำรวจ ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สังคมได้ ไม่ต่างจากโกคูกับเบจิต้าที่พิทักษ์โลก ขณะเดียวกันก็ดูแลครอบครัว หารายได้เข้าบ้าน ทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวตามธรรมเนียมอย่างสมบูรณ์
สังคมญี่ปุ่นเริ่มโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกที สถิติการแต่งงานลดลงอย่างมาก หมายความว่าครอบครัวเกิดใหม่จะลดลง ครอบครัวอาจกลายเป็นตัวถ่วงสำหรับปัจเจกชน ยิ่งภาระหน้าที่อันหนักหนาของผู้นำครอบครัวด้วยแล้ว คนรุ่นใหม่จึงเลือกที่จะไม่มีครอบครัวดีกว่า เพื่อจะได้เดินตามทางของตัวเองอย่างอิสระ ไม่ต้องมีปัญหาว่าใครจะนำใครในครอบครัว ต่างคนต่างใช้ชีวิต ซึ่งก็คงเป็นผลดีสำหรับคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตลำพัง ที่น่าห่วงคือครอบครัวที่เกิดใหม่ หรือกำลังจะเกิด หรือจำเป็นต้องเกิด ด้วยความจำเป็นในขณะที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ชีวิตที่ยังอายุน้อยและยังขาดวุฒิภาวะ
มีหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่จูงมือกันพาครอบครัวไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหลายครอบครัวที่ไปกันไม่รอด ในยุคสมัยแห่งความเท่าเทียม ความเป็น “ผู้นำครอบครัว” อาจจะไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่ผู้ชายอีกต่อไป ซึ่งนั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับความสามารถในการนำพาครอบครัวเดินหน้าไปอย่างมั่นคง ภาระในฐานะผู้นำครอบครัวของสังคมญี่ปุ่นอาจจะดูหนักหนา แต่ผู้นำครอบครัวในสังคมอื่น ๆ ก็มีความรับผิดชอบไม่ต่างกัน ความรัก ความเข้าใจ และความร่วมมือกันของทุกคนในครอบครัว จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการประคับประคองครอบครัวให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข
เอกสารอ้างอิง
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ภูเบศร์ สมุทรจักร
จุฬาลักษณ์ อิ่นแก้ว
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
เพ็ญพิมล คงมนต์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
กาญจนา เทียนลาย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว
ชณุมา สัตยดิษฐ์
อมรา สุนทรธาดา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อภิชัย อารยะเจริญชัย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ศุทธิดา ชวนวัน