The Prachakorn

ธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน


สุดปรารถนา ดวงแก้ว

22 มกราคม 2564
1,975



ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นหนึ่งแนวคิดการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างธุรกิจประเภท start up และขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ทางสังคม

ธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร    

ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) คือ ธุรกิจที่มีจุดหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กับการสร้างผลกำไร โดยนำกลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจปรับใช้เพื่อทำให้ธุรกิจนั้นสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืนและสร้างผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

รูปแบบธุรกิจ SE อยู่ระหว่างการทำกิจการแบบหวังผลกำไรและแบบไม่หวังผลกำไร การทำธุรกิจทั่วไป จะมุ่งสร้างกำไรและให้ผลตอบแทนแก่หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งสามารถดำเนินกิจกรรมโดยมีจุดมุ่งหมายทางสังคมหรือการรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility: CSR) เมื่อกิจการมีผลกำไร ส่วนกิจการไม่หวังผลกำไรนั้นจะมุ่งผลประโยชน์ต่อสังคม มักจะรู้จักในรูปแบบขององค์กรการกุศลและการบริจาค 

ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE)

ภาพจาก: https://innovation.ox.ac.uk/wp-content/uploads/2018/11/Social-Enterprise-Brochure-v4s.pdf

อย่างไรก็ดีทั้งสองรูปแบบนี้ไม่มีความยั่งยืนในการดำเนินกิจการ หากกิจการขาดทุนก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และการไม่ได้รับเงินบริจาคก็ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการคนและทรัพยากรได้ SE จึงมีความยั่งยืนมากกว่าเพราะมีจุดแข็งด้านการเงินและการตอบโจทย์สังคม

ตัวอย่าง SE ในต่างประเทศและในไทย

ในต่างประเทศโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมมีมานานเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปัญหาระดับโลก เช่น ความยากจน ความอดอยากอาหารและน้ำ การได้รับการศึกษา สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงปัญหาภายในท้องถิ่นสังคมนั้น ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ที่สหราชอาณาจักร ช่วยเหลือผู้ไร้บ้านโดยไม่ได้ให้เงินช่วยเหลือโดยตรง แต่ให้ลงทุนและขายนิตยาสาร Big Issue เพื่อเป็นรายได้และหลุดพ้นจากการเป็นคนไร้บ้านด้วยกำลังของตน ซึ่งนิตยาสารนี้เฉพาะผู้ไร้บ้านเท่านั้นที่สามารถรับและนำไปขายต่อได้ และแนวคิดนี้ขยายต่อไปยังต่างประเทศอื่น ๆ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เคนย่า เป็นต้น  
  • ที่บังกลาเทศ นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์มูฮัมหมัด ยูนุส สร้างธนาคารช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถกู้เงินต่อยอดธุรกิจขนาดเล็ก
  • ที่ฟิลิปปินส์ Rags2Riches การนำขยะแปลงเป็นสินค้าสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนรอบกองขยะ

ส่วนในไทยธุรกิจเพื่อสังคมได้รับความนิยมโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งมี passion ต้องการตอบโจทย์ปัญหาสังคม โดยผสมผสานโมเดลธุรกิจบริหารการเงินและสร้างผลตอบแทนสู่สังคม นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสร้างธุรกิจรูปแบบสตาร์ทอัพ (Start up) เช่น Local Alike ธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน Locall บริการส่งอาหารคาวและหวานจากร้านในชุมชนสู่มือผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และ ยังแฮปปี้ (YoungHappy) สร้างชุมชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อผู้สูงวัย เป็นต้น

SE กับโจทย์สังคมสูงวัย กรณีตัวอย่างจากยังแฮปปี้ 

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในขณะที่ยังไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังจากเกษียณอายุการทำงาน รายงานปี 2019 ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติสำรวจพบว่าผู้สูงอายุไทยไม่มีรายได้ร้อยละ 21.1 และรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีร้อยละ 84.2 มีเงินออมน้อย และยังเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดในอนาคต

ความเป็นห่วงและต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยเฉพาะฐานะทางเศรษฐกิจและสุขภาพ ทำให้ยังแฮปปี้ตั้งเป้าหมายทางสังคม คือต้องการสร้างพื้นที่กิจกรรมเพื่อยืดเวลาช่วงสุขภาพแข็งแรงของผู้สูงวัยให้ยาวนานขึ้น นอกจากจะทำให้ตัวผู้สูงวัยมีสุขภาพกายและจิตดีแล้ว ในด้านสังคมยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และลดภาระด้านงบประมาณและกำลังแรงงานผู้ดูแลให้กับสังคม 

คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ต้องการเข้ามาช่วยแต่เจอกับปัญหาการปรับตัวด้านเทคโนโลยีของผู้สูงวัย เช่นการไม่สามารถใช้ smart phone และระบบออนไลน์ต่าง ๆ ปัญหานี้ทำให้ผู้สูงวัยบางคนรู้สึกแปลกแยกจากลูกหลานและสังคมยุคดิจิทัล การเข้าถึงกลุ่มผู้สูงวัยจึงทำได้ยาก ยังแฮปปี้จึงได้สร้างชุมชนออนไลน์เพื่อสอนวิธีการใช้ smart phone และ application ต่าง ๆ ให้กับผู้สูงวัย ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เช่น การใช้ LINE และ Facebook ซึ่งได้รับผลตอบรับดี ผู้สูงวัยสามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในระดับกลาง เช่น การขายของออนไลน์ การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ก็สามารถช่วยส่งเสริมการสร้าง active aging และระดับสูง เช่น การสร้าง active aging ระดับสูงโดยการสร้างจิตอาสา เป็นการสร้างผู้สูงวัยระดับแนวหน้าเพื่อการดูแลผู้สูงวัยด้วยกันเอง ขณะเดียวกัน ยังแฮปปี้ต้องบริหารเงินเพื่อให้มีเงินหมุนในการทำกิจการต่าง ๆ โดยมีแหล่งที่มาจากเงินสนับสนุน CSR ของบริษัท จากองค์กรของรัฐ การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เนื่องจากรายได้หลักของยังแฮปปี้ไม่ได้มาจากการบริจาค ทำให้ยังแฮปปี้มีอิสระในการบริหารเงิน สามารถสร้างผลตอบแทนสู่สังคมไทยยุคสูงวัยได้อย่างยั่งยืน นี่คือหนึ่งในตัวอย่างธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสังคมที่ยั่งยืนของไทย...
    


แหล่งข้อมูล

  1. The standard team. (2020). Social Enterprise โมเดลธุรกิจอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ที่จะนำไปสู่ ‘ทางรอดที่ยั่งยืน’ ของสังคมไทยในยุคโควิด-19. https://thestandard.co/social-enterprise-2/
  2. สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (2019). ธุรกิจเพื่อสังคม (SOCIAL ENTERPRISE: SE) คืออะไร.https://www.sethailand.org/
  3. ชัยทวี เสนะวงศ์. (2019). มีเงินเท่าไร่จึงจะพอใช้เมื่อเกษียณอายุ. https://www.ftpi.or.th/wp-content/uploads/2019/06/มีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้เมื่อเกษียณอายุ.pdf
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
HAPPY FAMILY TALK

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

Long Stay สุขใจในต่างถิ่น

ณัฐณิชา ลอยฟ้า

ใครจะเป็นคนดูแลเรา

ปราโมทย์ ประสาทกุล

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th