ในที่สุดปี 2563 ได้ผ่านพ้นไปและล่วงเลยเข้าสู่ปี 2564 เป็นที่เรียบร้อย แต่วิกฤตการณ์โควิด-19 ยังคงปกคลุมและสร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างไม่มีละเว้น วิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่สร้างความตึงเครียดในเรื่องสุขภาพกับความเป็นความตายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องฝ่าฟัน
ในแง่ผลกระทบด้านการศึกษาก็เช่นกัน มหาวิทยาลัยและสถานศึกษาเกือบทั้งหมดจำเป็นต้องปิดทำการชั่วคราวและใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลเข้ามาแทนที่ พิธีมอบปริญญาบัตรของหลายมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องใช้วิธีการรับปริญญาแบบเสมือนจริง (virtual graduation) ผ่านทางระบบออนไลน์ หรือบางมหาวิทยาลัยประกาศเลื่อนพิธีออกไปอย่างไม่มีกำหนด หรือถ้าโชคร้ายหน่อยก็คือยกเลิกไปเลย
ดูเหมือนว่า ประเทศไทยเราจะโชคดีกว่าหลายๆ ประเทศอยู่บ้างตรงที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ค่อนข้างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ช่วงการเปิดเมือง (ตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา) กลายเป็นสถานการณ์ที่เป็นใจเพื่อต้อนรับพิธีรับปริญญาบัตรของหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ปรกติแล้วมักจัดให้มีขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปของทุกปี และถือเป็นกิจกรรมการรวมกลุ่มรวมตัวครั้งสำคัญที่ช่วยทดสอบความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทยไปในอีกทางหนึ่ง แม้ว่าการระบาดระลอกที่สองจะเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 แต่เทศกาลงานรับปริญญาในประเทศไทยส่วนมากกลับโชคดีที่สามารถจัดขึ้นได้และผ่านพ้นไปได้ดีทีเดียว
บรรยากาศภายในงานรับปริญญาที่นอกเหนือไปจากความภาคภูมิใจของผู้สำเร็จการศึกษา ความชื่นมื่นของครอบครัว และความยินดีของมิตรสหาย รวมถึงการได้มีส่วนร่วมในการสัมผัสมนตร์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีการแล้ว ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพิธีรับปริญญาบัตร คือการได้เห็น “ชุดครุย” ที่ต่างรูปแบบและหลากสีสันของบรรดาคณาจารย์ ผู้ที่แต่งกายอย่างเต็มยศตามวิทยฐานะที่ตนได้ไปศึกษาร่ำเรียนมา เพื่อเข้าไปร่วมเป็นเกียรติให้แก่พิธีการ และยังถือเป็นการให้เกียรติแก่ผู้สำเร็จการศึกษาป้ายแดงจบใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นไปสู่บันไดแห่งการทำงาน
ดังนั้น การสวมชุดครุยจากหลากรูปแบบ หลายสีสัน และนานับแหล่งที่มา จึงถือว่าเป็น “เครื่องบ่งชี้เชิงสัญลักษณ์” ว่านักศึกษาที่กำลังจะจบออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย ต่างได้รับความรู้และผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์จากคณาจารย์ที่มีคุณภาพจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ โดยมี “ชุดครุยที่แสดงถึงวิทยฐานะเป็นเครื่องการันตี”
จริง ๆ แล้ว รูปแบบ สีสัน และความหลากหลายของชุดครุยต่างมีที่มาที่น่าสนใจยิ่ง ในบริบทของยุโรป เดิมทีการใส่ชุดครุยอาจย้อนกลับไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 12-13 เป็นช่วงเวลาที่คริสต์ศาสนาและบทบาทของนักบวชมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อทิศทางสังคมในยุโรป โดยเฉพาะนักบวชในอังกฤษ สเปน และโปรตุเกส เนื่องจากนักบวชเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้ทรงภูมิ เป็นหมอ นักกฎหมาย หรือแม้แต่ที่ปรึกษาทางการเมือง จึงไม่แปลกที่จะเป็นแบบอย่างให้กับสังคม บทบาทนักบวชที่เราพูดถึงกันนี้ กล่าวสรุปสั้นๆ ได้ว่าเป็นเสมือน “ผู้ถ่ายทอดความรู้” และเป็น “ผู้นำทางการศึกษา” ให้แก่ผู้เรียนของตนที่มาจากทุกชนชั้น
จากความคิดและความเชื่อเช่นนี้ ทำให้อาภรณ์ของนักบวช (clerical attires) ซึ่งประกอบด้วยเสื้อคลุมยาวทรงสามเหลี่ยม (long robe) ผ้าคลุมไหล่ทรงปลายแหลม (cape) ที่มาพร้อมหมวก (hood or bonnet) กลายเป็นสัญลักษณ์ของความปราดเปรื่องและสถานะการอยู่เหนือผู้อื่น หรือหากมองในเชิงของตรรกะและเหตุผล การสวมชุดที่ค่อนข้างยาวพร้อมกับหมวกที่ค่อนข้างหนา ยังจะช่วยบรรเทาความหนาวเย็นของอุณหภูมิในโลกตะวันตกได้เป็นอย่างดี ต่อมาการแต่งกายเชิงสัญลักษณ์นี้จึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องแบบสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (The University of Oxford) เป็นแห่งแรกงตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เพื่อสร้างเอกภาพและเอกลักษณ์บางอย่างร่วมกันของสำนักวิชานั้น ๆ
ภาพของ John Wycliffe ศาสตราจารย์สาขาวิชาเทววิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด และลูกศิษย์ ในช่วงประมาณกลางศตวรรษที่ 142
วัฒนธรรมการสวมชุดครุยในรั้วมหาวิทยาลัยนี้ ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังหลากหลายพื้นที่ทั่วทุกมุมโลก อาจช้าเร็วบ้างแตกต่างกันตามเส้นทางประวัติศาสตร์ ระบอบอาณานิคม และร่องรอยจากผู้ปกครองชาวตะวันตก
ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของชุดครุยทั่วโลก เท่ากับว่าเรากำลังกล่าวถึง “ประวัติศาสตร์ของการศึกษาในยุโรป” หรือประโยคในภาษาอังกฤษที่ระบุว่า “The history of academical dress is the history of education in Europe”.3 จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เราสามารถพบเห็นความสำคัญของการสวมใส่ชุดครุยในวันสำเร็จการศึกษาได้ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้4 รวมถึงในประเทศไทยด้วย
ชุดครุยของ School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London สหราชอาณาจักร
ชุดครุยของ University of North Carolina at Chapel Hill สหรัฐอเมริกา
ชุดครุยของมหาวิทยาลัย King’s College London สหราชอาณาจักร
ชุดครุยของ Victoria University, Melbourne ออสเตรเลีย
สำหรับบทบาทชุดครุยกับสังคมไทย พบว่า ความหมายของ “ชุดครุย” มี 2 รูปแบบด้วยกัน แบบแรก คือ “ชุดครุยแบบดั้งเดิม” หรืออาจเรียกว่า “ครุยเทวดา” ที่ใช้สวมใส่ระหว่างประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ ที่ส่วนมากมักจะดำเนินการในพิธีที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก หมู่ชนชั้นนำ และผู้ปกครองระดับบนของสังคมในอดีต ขณะที่แบบที่สอง คือ “ชุดครุยตามคติแบบสมัยใหม่” หรือ “ครุยแสดงวิทยฐานะทางการศึกษา” ซึ่งถือเป็นผลผลิตจากการรับอิทธิพลทางความคิดแบบสมัยใหม่จากชาติตะวันตก การยอมรับเอาค่านิยมการสวมใส่ชุดครุยในวันสำเร็จการศึกษาตามความหมายของชุดครุยแบบหลัง ถือเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการเรียนรู้และยึดตามขนบของระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม รูปแบบ สีสัน และรูปทรงชุดครุยตามคติแบบสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอาจแตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ บทบาทของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย และอุดมการณ์ทางความคิดของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ว่าสถาบันการศึกษานั้นมุ่งที่จะสื่อความหมายโดยตรงและโดยอ้อมผ่านเส้นใยผ้าและเฉดสีอย่างไร เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นให้มากที่สุด
แน่นอนว่าชุดครุยพระราชทานของรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกับรากวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีกลิ่นอายของชุดครุยตามความเชื่อของพราหมณ์ สื่อถึงการเป็นเจ้าแห่งต้นตำรับ (แห่งแรก) และความเป็นชนชั้นนำทางการศึกษา เนื่องจากก่อตั้งโดยผู้ปกครองสยามที่เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาแบบสมัยใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 20
ขณะที่สถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งตามมาเป็นลำดับที่สองของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับชื่นชอบการออกแบบชุดครุยที่ได้แรงบันดาลใจจากตะวันตกอย่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่แปลกแต่อย่างใดเนื่องจากผู้ประศาสน์การหรือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย (นายปรีดี พนมยงค์) ได้รับประสบการณ์และดื่มด่ำกับบรรยากาศทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสมาอย่างเต็มเปี่ยม
ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดลเองก็รับเอาแบบฝรั่งมาใช้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปี 2486) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี 25125 โดยมีคำอธิบายลักษณะชุดระบุไว้ว่า “ครุยวิทยฐานะเป็นครุยฝรั่งสีดำ ด้านหน้าของตัวเสื้อมีแถบสีตามคณะ...มีผ้าคลุมไหล่คล้องคอ ด้านบนผ้าคลุมไหล่เป็นสีคณะ...”6
บรรยากาศการแสดงความยินดีแก่ดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2562
ไม่ว่าชุดจะถูกออกแบบให้แตกต่างกันมากเพียงใดก็ตาม จุดสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางของชุดครุยผ่านกาลเวลา คือ ฐานความคิดที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต และยังทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของวิชาชีพอาจารย์ และผู้คนทั้งในและนอกวงการการศึกษา คือ ชุดครุยที่แสดงถึงความ “ทรงภูมิ” (เหมือนกับการแต่งกายของนักบวชผู้ทรงภูมิ) ยังคงทรงอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างแรงบันดาลใจและการโน้มน้าวให้ผู้เรียนกระตือรือร้น คิดอยากเจริญรอยตาม และวาดหวังต่ออนาคตของพวกเขาในทางที่ถูกและควร โดยมีการศึกษาเป็นใบเบิกทาง
อ้างอิง
ภาพประกอบ Designed by rawpixel.com / Freepik
ณัฐนี อมรประดับกุล,ณปภัช สัจนวกุล
ธีรนันท์ ธีรเสนี